30 ม.ค. 2021 เวลา 07:43 • ดนตรี เพลง
[รีวิวอัลบั้ม] evermore - Taylor Swift
มุ่งสู่ความยืนยาว
[รีวิวอัลบั้ม] evermore - Taylor Swift
-อีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า เธอไม่ใช่ซุปตาร์ที่แต่งเพลงรัก เพลงบอกเลิกแฟนจนเป็นที่ฮือฮาได้อย่างเดียว ความชาญฉลาดในการช่วงชิงโอกาสในช่วงเวลาที่หยุดการทัวร์ ฝึกปรือสกิลตัวเองแบบคนมันส์มือที่ไม่รู้จักพอ จบจาก folklore ก็ว่าท็อปฟอร์มและช่างประดิษฐ์ประดอยแล้ว evermore ยังคงประดิษฐ์ประดอยแบบคนกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มอีกเช่นเคย เพิ่มเติมด้วยความรู้สึกที่ปลอดโปร่งสบายแบบที่ไม่ต้องไปเกร็งต่อโลกภายนอกอีกต่อไป สังเกตได้อย่างนึงตามที่เธอเคยบอกว่า folklore นอกจากโทนเพลงจะหม่นเทาแล้ว เธอใส่ความกลัวบางอย่างลงบนบทเพลง ผมคิดว่าลึกๆเธอใส่ความกลัวต่ออนาคตเบื้องหน้าของตัวเธอเองหลายสิ่งจากโลกภายนอก กลัวความสัมพันธ์ที่ไม่การันตีถึงความมั่นคง การก้าวออกจากจุดเดิมย่อมมีความเสี่ยง การเปลี่ยนสไตล์แมสแบบตัวเองไปสู่จุดอินดี้ที่เธออาจจะไม่ฮิตเหมือนเก่า สูญเสียแฟนเพลงบางส่วนไป ต่อให้เธออาจจะไม่พูดเรื่องนี้โดยตรงก็ตาม ผมก็ยังมองว่า folklore คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออยู่ดี อย่างไรก็ดีผลลัพธ์ที่ได้กลับสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่าเดิม อย่างน้อยก็ได้รับจากคนที่เคยมองข้ามเธอมาโดยตลอด เริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไปในแง่ของการเริ่มเห็นแววศิลปินตัวจริง
-อย่างที่เธอนิยามแหละว่า evermore คืองานน้องสาวของ folklore ที่สำคัญยังถอดแบบดีเอ็นเอชนิดที่มองตาก็รู้เลยว่าพวกเธอคือพี่น้องท้องเดียวกันเป็นแน่นแท้ ทีมโปรดิวซ์เซอร์หลังบ้านก็ยังคงเป็นชุดเดิมอย่าง Aaron Dessner แห่ง The National บุคคลสำคัญที่มาช่วยคราฟต์งานของเทย์เลอร์มาตั้งแต่ชุดที่แล้ว ถ้าใช้ศัพท์ทางธุรกิจตาคนนี้คือผู้ที่รีแบรนด์ดิ่งศิลปินสายแมสให้เป็นสายอินดี้ไปเลยทีเดียว ซึ่ง Aaron เองยังคงครองสัดส่วนการโปรดิวซ์กว่า 80% Jack Antonoff ยังคงโผล่มาเป็นมือปืนสั้นๆมีส่วนร่วมได้มากเท่าแต่ก่อนอีกเช่นเคย แขกรับเชิญก็มาจากชุดที่แล้วทั้ง Bon Iver, The National วงของตาแอรอนแหละ ที่เพิ่มเติมแต่เหมือนไม่มีก็คือ HAIM ซึ่งก็เป็นวงเพื่อนสาวของตัวเองนั่นแหละ ฟังดูแทบจะไม่มีความแปลกใหม่เมื่อเทียบกับสไตล์เพลงที่เคยได้นำเสนอไปแล้วใน folklore ยังดีหน่อยที่ยังมีความต่างในด้านของรสชาติและโทนเพลงที่ไปทาง light กว่า ประหนึ่งถ้าเอาอัลบั้มนี้มาเรียงไทม์ไลน์ก่อนที่จะมาเจอ folklore ก็คงทำให้ Swifties ไม่ปรับตัวลำบากเท่ากับตอนที่เจอ folklore กันซึ่งๆหน้าเลย เผอิญว่าเทย์เลอร์อยู่ในจุดสูงสุดแบบที่ไม่กลัวเสีย เลยยัดของยากก่อนอย่างที่เห็น
-อย่างไรก็ดี evermore ไม่ได้ให้อารมณ์เพลงเหลือหรือเพลงแถมจากอัลบั้มก่อน สามารถตัดความกังวลไปได้อย่างที่เรามักจะมองเสมอว่า การที่ศิลปินปล่อยเพลงถี่ไม่ถึงปี อาจจะปล่อยเพลงเพื่อฆ่าเวลา แต่วัตถุประสงค์ของเทย์เลอร์คงไม่ได้มาเพื่อการค้า เธออยาก represent ผลงานเอาจริงเอาจัง ถึงขั้นแยก character เป็นน้องสาวอีกร่างนึงไปเลย
-เปิดอัลบั้มด้วยซิงเกิ้ลแรก willow ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการเลือกตัดเป็นซิงเกิ้ล บ่งบอกทิศทางอัลบั้มได้พอสังเขปในแง่ของคาแรคเตอร์สาวช่างฝัน โลกสวย ประหนึ่งได้ร่างเดิมที่เคยเป็นกลับมา เทียบกับตอนนั้น cardigan ที่ทุกคนต่างงุนงงกับความอึมครึมที่เปลี่ยนไป และถ้าไม่ใช่คนที่ชื่อเทย์เลอร์มันก็ไม่มีทางฮิตแน่ๆ แต่สำหรับ willow จัดเป็นความดั้งเดิมที่ Swifties ต่างรู้กัน chamber pop easy listening ที่สุดในอัลบั้ม เนื้อหายังคงแสนหวานชวนมองบนกับการเปรียบเปรยความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่ม Joe Alwyn (หนึ่งในผู้แต่งเพลงร่วมกับเธอในนาม William Bowery) ที่ต่อให้กิ่งก้านสาขาพัดพาไปทางไหนก็ไม่อาจทำให้สั่นคลอน กลับมายืนต้นได้เหมือนเดิม เปรียบเปรยได้เข้าทีเหมือนกันครับ ตรงที่ความสัมพันธ์กับแฟนคนปัจจุบันค่อนข้างยาวนานกว่าคนที่แล้วมาของเธอ อันนี้ผมก็ไม่ได้ตามกอสซิปถึงขั้นจำขวบปีความสัมพันธ์กับแฟนเก่าของเธอเหมือนกัน เลยไม่ริอาจเปรียบเทียบ ถึงจะเป็นเทย์เลอร์ฉบับดั้งเดิม แต่เมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆ ส่วนตัวผมยังชอบน้อยกว่าอยู่ดี
3
-ยังคงมีเพลงลักษณะ daydreaming โทนบวกที่ชวนนึกถึงยุค Lover อย่าง gold rush ที่ว่าด้วยเรื่องการพร่ำเพ้อแอบชอบคนที่มีเสน่ห์แรง ทั้งที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสมหวังกันจริงจัง เลยพาลรู้สึกอิจฉาคนที่ได้เค้าไปครอง บีทเปล่งประกาย ฝีมือการเหยาะจาก Jack Antonoff มาแปลกด้วยลูกเล่นการร้องแบบปกติตัดสลับกับการร้องขึ้นคีย์แบบมิวสิคคัลที่ทำให้รู้สึกเหมือนเพลงการ์ตูน Walt Disney ในบางเวลา ตอนแรกผมรู้สึกบอกไม่ถูกกับเพลงนี้เหมือนกัน ไปๆมาๆดันเป็นแทร็คป็อปที่ลูกเล่นไม่เหมือนใคร เป็นความน่าฉงนสนเท่ห์ไปอีกแบบ
-ความมันส์มือที่สังเกตได้อีกอย่างคือ การสร้าง storytelling ย่อยๆที่ไม่ได้มีแค่ปมรักสามเส้าที่ทำออกมาเป็นเพลงไตรภาคแบบอัลบั้มที่แล้ว เธอยังมีหนังสั้นอีกมากมายมานำเสนอเป็นรายแทร็คอีกด้วย แค่ Easter egg ในจักรวาลเพลงของเธอ กูแทบจะตามรอยกันอุตลุดแล้ว อย่างไรก็ดี storytelling ในแต่ละเพลงดันนำเสนอได้แข็งแรงเสียจน ไม่จำเป็นต้องโฟกัสไปที่เนื้อหา แค่ฟังเอาความละเลียดเป็นเพลงๆก็อินได้เช่นกัน เริ่มกันเนิ่นๆตั้งแต่แทร็คที่ 2 อย่าง champagne problems บัลลาดเปียโนสูตรประจำของสาวคนนี้ ฟังดูไม่ใช่สิ่งใหม่ ที่ผ่านมาเพลงของเธอก็แทบขับเคลื่อนด้วยเปียโนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เพลงนี้กลับหนักแน่นและค่อยเป็นค่อยไปอย่างไม่เสียกระบวนความ จนสามารถเป็นโมเมนต์ที่หยุดเวลาได้เลย ถ่ายทอดเรื่องราวสุดขมขื่นของเจ้าสาวกลัวฝนที่ตัดสินใจเทงานแต่งงานที่ฝ่ายชายเคยอุตส่าห์ขอเธอเป็นเรื่องเป็นราว และได้ตระเตรียมพิธีมาอย่างดิบดี จบลงที่ฝ่ายชายจ๋อยอย่างน่าเวทนา โดยที่ฝ่ายหญิงก็ได้แต่หวังว่า เขาคนนั้นจะเจอคนที่เหมาะสมและดีกว่าเธอได้ การเปลี่ยนมู้ดการร้องให้คล้อยตามเรื่องราวที่เพิ่มระดับความพังของความสัมพันธ์ขึ้นไปเรื่อยๆ ถือเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่ตอกย้ำความเก่งกาจเสมอมา
-no body, no crime หนึ่งเพลงเด่นอย่างเป็นเอกฉันท์สำหรับทุกคนตั้งแต่แรกฟัง เธอพัฒนาสกิลการแต่งเพลงด้วยการสร้างซีนฆาตกรรมอำพรางสนุกๆปนตลกร้ายขึ้นมาด้วยท่วงทำนองคันทรี่โรงเรียนเก่าที่ลดโทนความทริลเลอร์ที่ควรจะดาร์ค มาเป็นโทนสว่างแลดูเก๋า เสียดายที่สามสาวพี่น้อง HAIM โผล่มาแบบกรุ้มกริ่มมากๆ มีแค่ชื่อแซ่ของพี่สาวคนโต การคอรัสเสริมที่เบาบางเท่านั้น แต่ก็ไม่ทำให้เพลงกร่อยขาดความน่าสนใจไปเลย ไม่จำเป็นต้อง tag ฟีทเจอร์ห้อยท้ายก็ยังได้
-ยังคงมีตัวละครสมมติให้มาโลดแล่นในจักรวาล evermore มีให้ได้เห็นชัดแจ้ง 2 ตัวละครด้วยกัน ซึ่งแยกต่างหากจากจักรวาล folklore รายแรกเธอน่าจะสมมติขึ้นมานามว่า Dorothea ที่มีคาแรคเตอร์เด็กสาวจากบ้านนอกเข้ากรุงเพื่อไปแสวงโชคในดินแดน Hollywood แล้วกลับมาคืนถิ่นอีกครั้งในเมืองเล็กๆของตัวเองตอนวันหยุดฤดูหนาวปลายปี ‘tis the damn season คือจุดเริ่มต้นอันแสนเหงาหงอยที่นอกจากจะมาพร้อมกับหิมะอันหนาวเหน็บแล้ว ยังเจอกับแฟนเก่าที่มาพร้อมกับอดีตเก่าๆชวนให้นึกถึง ดูแล้วเป็นความรู้สึกเหงามากกว่าหอมหวาน ในเพลงมีการสาดเวฟกีตาร์พอเป็นพิธีด้วยอารมณ์ที่ล่องลอย ส่วนไตเติ้ลแทร็ค dorothea เปลี่ยนมุมมองมาเป็นแฟนเก่าที่มองแม่นางโดโรเธียด้วยความถวิลหาว่า เธอยังเหมือนเดิมมั้ยหนอ ให้ความรู้สึกโทนบวก แลดูอบอุ่น เล่นคำในท่อนฮุกสุดติดหูน่ารักน่าเอ็นดูมากๆ แต่ก็ไม่มีบทสรุปที่แน่นอนว่า แม่นางดาราคนนี้จะกลับมาปันใจให้ไอ้หนุ่มบ้านนอกคนเดิมมั้ยหนอ ที่แน่ๆไม่มีอะไรเหมือนเดิมนอกจากใจของเขา
-อีกหนึ่งตัวละครที่อ้างอิงมาจากชื่อยายผู้ล่วงลับของเธอในเพลง majorie เป็นตัวละครที่ไม่ใช่เรื่องแต่งแบบโดโรเธีย แต่เปรียบเหมือนบุคคลต้นแบบแรงบันดาลใจให้เทย์เลอร์เลือกเดินสายอาชีพในวงการเพลงราวกับสืบทอดกันมา เพราะคุณยายมาเจอร์รี่ก็เคยเป็นนักร้องประสานเสียงโอเปร่า เพลงลักษณะการสืบทอด legacy แบบนี้ยิ่งพลางนึกถึง the last american dynasty จากชุดที่แล้วเหมือนกัน ถ้าพูดในภาษาพิธีกรรม เปลี่ยนจากการไหว้เจ้าที่ มาเป็นไหว้บรรพบุรุษแทน ให้ความรู้สึกซาบซึ้ง รำลึกถึงคนบนฟ้า อีกทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้กับชีวิตซุปตาร์ของเธอ ไม่ให้ลืมกำพืดไปมากกว่านี้
3
-ถึงแม้ว่าโทนเพลงจะ light กว่าชุดที่แล้วก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะย่อยง่ายสะดวกโยธินเสมอไป ความพยายามยกระดับทางภาษาของเธอมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้พรรณนาความรักมุมมองแบบหนุ่มๆสาวๆ อีกต่อไป เป็นเวอร์ชั่นน้องสาวที่ดันมีความคิดความอ่านผู้ใหญ่เลยฮะ โดยเฉพาะ tolerate it และ happiness โดยเพลงแรกพูดถึงความสัมพันธ์ที่มีแนวโน้ม one side relationship ฝ่ายนึงปรนนิบัติให้ทุกอย่าง อีกฝ่ายเพิกเฉยแทบจะหมด passion ที่จะโต้ตอบอะไรกลับไป จนคนที่ให้ไปดันรู้สึกกังวลว่า สิ่งที่ให้ไปแม่งมากเกินไปรึเปล่า อีกเพลงนึง happiness ก็โคตรขมเลยฮะ สวนทางกับชื่อเพลงมากๆ ไอ้ตอนแรกนึกว่ากูกำลังฟังเจ้าของเพลงค้นพบทางสว่างรึเปล่าหว่า เปล่าเลยโคตร Blue Valentine ประหนึ่ง flashback ไปวันวานอันแสนหวาน ตัดภาพมาที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยความรู้สึกเสียดายสุดแสนที่ภาพฝันในอนาคตกลับไม่ได้มีเราสองอยู่เคียงข้างกันอีกแล้ว แต่ลึกๆก็ยอมรับโดยนัยว่า มีพบก็ต้องมีจาก แล้วความสุขจะเข้ามาหาซักวัน ผมชอบการใส่ซาวนด์คล้ายๆเกมส์ arcade หรือพลุไฟอะไรซักอย่างเป็นแบ็คกราวด์เพลงที่ไม่รุมร่ามมาก แต่โคตร nostalgia เลย
-ยังคงมีเพลงที่เล่นความย้อนแย้งกับชื่อเพลงอีก เฉกเช่น coney island ที่เดินท่วงทำนองอคลูสติคให้ฟีลล่องเรือมากๆ ซึ่งสถานที่จริงเป็นสวนสนุกติดทะเลในเมือง Brooklyn, New York เมื่อวกสู่เนื้อหาของเพลงที่ควรจะเอ็นจอยกับการพักผ่อนหย่อนใจ เอาเข้าจริงบรยยากาศเพลงมันเต็มไปด้วยหมอกหนาๆที่พาเราหม่นเหงาได้ทุกเมื่อ นั่งม้านั่งอยู่ดีๆก็เกิดความรู้สึกเสียดายรักครั้งเก่าที่ได้แต่ตั้งคำถามว่า ทำไมตอนนั้นถึงไม่ให้ความสำคัญดีพอ รู้อีกทีก็สายเสียแล้ว การได้ดูเอทกับเฮีย Matt แห่งวง The National ก็เริ่มเข้าถึงแก่นของซุ้มเสียงเฉพาะของวงอินดี้ร็อควงนี้เสียที หลังจากที่ Aaron มาคิดสูตรให้เธอแยกต่างหากมาตั้งเยอะ เป็นความสุขุมลุ่มลึก เพลิดเพลินเสียจนมองข้ามความขมของการยึดติดในอดีตไปเลย เป็นเพลงดูเอ็ทที่โคตรดีรองลงมาจาก exile เลยครับ
-cowboy like me เพลงนิยายสั้นโรแมนติกว่าด้วยความรักแบบผีเห็นผีของ 18 มงกุฏชายหญิงที่พบเจอกันระหว่างทาง ด้วยความที่มีเล่ห์เหลี่ยมทั้งคู่ ความรักเลยก่อเกิดด้วยความไม่แน่ใจ แยกแยะจริงเท็จไม่ถูก เนื้อเรื่องไม่หวือหวาเท่ากับเพลงซีนฆาตกรรม แต่ก็ทำให้เราเห็นถึงความมีอายุขั้นสุดด้วยกลิ่นอายคันทรี่ลูกกรุงสุดแช่มช้า เหมาะเหม็งพอจะเป็นเพลงประจำบาร์เบียร์ หารู้ไม่ว่าเสียงผู้ชายที่เคล้าคลอแบ็คอัพอยู่ห่างๆ คนนั้นคือ Marcus Mumford นักร้องนำแห่ง Mumford & Sons นั่นเอง
-นอกจาก willow ที่เป็นมุมโรแมนติกขั้นต้นอันคุ้นเคย ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์กับแฟนคนปัจจุบันเริ่มมีความมั่นคงมากกว่าก่อน จนมั่นใจไปยาวล้อมรอบดาวเสาร์ได้เลยว่า คนนี้ใช่แน่ ในเพลง ivy เธอเปรียบเปรยไปไกลถึงขั้นสร้างนิยายสั้นแฟนตาซีของหญิงสาวที่มีสามีอยู่แล้ว ดันไปหลงรักกับชายหนุ่มลึกลับในป่าใหญ่ ท่วงทำนอง invisible string ที่เพิ่มเลเยอร์ของเครื่องสีนอกเหนือจากอคลูสติคกีตาร์โปร่ง เนื้อหาอิงแอบ illicit affairs ที่มาในลักษณะแอบคบชู้นั่นแหละ แต่ด้วยความที่คนมันคลั่งรัก มันก็จะไม่ค่อยเทาหรอกฮะ
-จุดที่เซอร์ไพรส์ที่อยากจะพูดถึงคือ มีการทดลองซาวน์ดใหม่ๆนอกเหนือจากเครื่องดนตรีพื้นฐานกีตาร์ เปียโน หรือแบนโจด้วย ให้ความรู้สึกว่านี่คือวิถีศิลปินอินดี้ชัดๆ ดูได้จาก long story short ที่มาแนว กึ่ง bedroom pop ไปเลย ท่วงทำนองค่อนข้างเปี่ยมสุข พอๆกับเนื้อหาที่เจ้าตัวมีความคิดความอ่านแบบปล่อยวางเรื่องแก้แค้นในอดีต เลือกที่จะไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักกับแฟนนั่นแหละ โจทก์เก่าก็ไม่ใช่ใครที่ไหน Kanye West เนี่ยแหละ closure ก็มีจุดให้เซอร์ไพร์สชนิดที่ผิดแผกจากเพลงอื่นๆด้วยสไตล์เพลง industrial-folk ที่เคาะซาวนด์กลองอิเล็กทรอนิกส์แบบขยุกขยัก ไม่ได้เห็นลูกเล่นแบบนี้ในงานเพลงของเทย์เทย์เหมือนกัน ธีมของเพลงก็ไปทางนิ่งเงียบแบบ night mode ไม่อยากจะรื้อฟื้นอะไรอีกกับสิ่งที่เธอเคย mentioned แฟนเก่าของเธอไว้ การกล่าวอำลาอีกฝ่ายเป็นสิ่งที่ไม่อยากฟัง แล้วจะพูดส่งท้ายทำเพื่อ?
-ปิดท้ายด้วยไตเติ้ลแทร็คที่สมควรแก่เวลาอย่าง evermore แปลเป็นไทยว่า “ตลอดกาล” ฟังดู happy ending แต่ก็ไม่ใช่เสมอไปเช่นกัน มันคือการดีลความป่วยจิตส่วนตัวของเธอ เป็นค่างวดที่เธอได้มาเมื่อเธอก้าวมาสู่ชีวิตที่ห่อหุ้มด้วยชื่อเสียง ไม่ต่างกับการออกไปเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวหรือร้อนจัด คลื่นน้ำที่เชียวกราด ลมกรรโชกแรง มันเป็นความเจ็บปวดที่ยังคงอยู่ตลอดกาล ยังคงจบอัลบั้มได้อย่างสมศักดิ์ศรี บัลลาดเปียโนสตรองหนักแน่น การโผล่มาของ Justin Vernon แห่ง Bon Iver ในเวอร์ชั่นปัจจุบัน เล่น falseto autotune ก็โผล่ซีนได้ถูกเวลา เพลงที่แล้วนี่พี่ Justin ถ่ายทอดความเศร้าออกมาแล้ว เพลงนี้ขอเป็นฝ่ายปลอบประโลมบ้าง โคตรเท่ห์เลยเว้ย
-ผมรีวิวอัลบั้มนี้ประจวบกับช่วงแทรก bonus tracks มาให้พอดี พูดถึงซะหน่อยล่ะกันครับ จริงๆเพลงที่ผ่านมาแทบปล่อยของหมดแล้ว กลายเป็นว่าสองแทร็คที่แถมมาดันมีดนตรีที่ฟังง่ายกว่า โดยเฉพาะ right where you left me แทบจะกดสูตรเพลงคันทรี่เดิมๆของเธอเลย บางคนก็คิดว่าเพลงนี้เป็นกึ่งภาคต่อของเพลง champagne problems ที่สามารถพลิกมุมมองได้สองทาง ฝ่ายชายที่ขอแต่งงานแต่ยังไม่มูฟออน อีกด้านอาจเป็นฝ่ายหญิงที่ยังจมอยู่กับความรู้สึกผิดหลบมุมอยู่ในร้านอาหารตามลำพัง
-อีกเพลง it’s time to go เป็นสาสน์ตัดพ้อต่อค่ายเก่า Big Machine Records อันแสนคุ้นเคยของ Scott Borchetta ที่นอกจากจะขายมาสเตอร์เพลง 6 อัลบั้มให้กับคู่อริ Scooter Braun อย่างหน้าตาเฉย นั่นเป็นการหักหาญน้ำใจที่เธอเคยสร้างกำไรไว้กับค่ายนี้เยอะเสียจนเธอได้เป็นศิลปินแห่งยุคเสียเองอย่างที่ทราบกันดี อีกทั้งการตีตัวออกจากอดีตเพื่อนรัก Karlie Kloss ที่ยอมให้ขาดสะบั้น ว่ากันว่าอดีตเพื่อนรักคนนี้ดันไปขายความลับให้กับ Scooter Braun สังเกตได้จากภาพหลุดปาปารัสซี่ที่ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมสังสรรค์อาหาร จนอาจกล่าวได้ว่าอดีตเพื่อนรักที่ตัวเองเคยไว้เนื้อเชื่อใจจนเรียกพี่เรียกน้องได้ กลับกลายเป็นเพื่อนกับคู่อริตัวเองไปซะงั้น การเดินออกมาจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการหักหลังคือคำตอบที่ดีที่สุด
-ยังคงอึ้งกับการเติบโตใน folklore ไม่จางหาย จนเรียกได้ว่านี่คืองานท็อปฟอร์มไปแล้ว สำหรับ evermore อาจไม่หวือหวาในทางเปลี่ยนแปลงอะไรมากเท่ากับอัลบั้มชุดก่อน อาจเป็นเพราะการเว้นช่วงอันน้อยนิด ความรู้สึกยังไม่จางทันให้ฟังชุดนี้ด้วยซ้ำ แต่เริ่มเข้าที่เข้าทางในแง่ของการเป็นศิลปินผู้มีความคิดในการคราฟท์งานได้ดีพอ ไม่ใช่การไหลไปตามกระแสนิยม หรือการพยายามทำให้เพลงฮิตด้วยการอิงแอบแนวเพลงที่เป็นกระแสนิยมที่เข้ามาแล้วก็จากไปโดยเร็ว ผมพอการันตีได้เลยว่าทั้ง folklore และ evermore มีแนวโน้มฟังได้เรื่อยๆในระยะยาวมากกว่างานเพลงในยุค reputations และ Lover เสียอีก เมื่อลองชั่งน้ำหนักจริงๆยังคงชอบ folklore มากกว่า ด้วยมู้ดหม่นๆนัวร์ๆที่ตรงจริตส่วนตัวของข้าพเจ้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า evermore จะมีคุณภาพลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด
-การมีทีมงานที่ดีอย่าง Aaron ก็มีส่วนช่วยเยอะในการลับคมให้เธอได้รับสไตล์ใหม่ที่ไม่ละทิ้งซึ่งรากเหง้าของเพลงคันทรี่ที่เธอได้โตไปกับมัน และเพิ่มความร่วมสมัยด้วยสำเนียงของอินดี้ร็อค เป็นตัวช่วยเสริมความแข็งแรงเข้าไป ให้ความรู้สึกบ้านๆแต่ไม่บ้านแบบดิบๆสากๆ อนุรักษ์นิยมแบบรู้จักปรับตัวไปพร้อมๆกันแหละ ผมฟังสองงานหลังผมไม่ได้มีความคิดว่าเธอติดดินเลยซักนิดเลยฮะ อาจเป็นเพราะผมติดภาพลักษณ์การเป็นเศรษฐีนีไปแล้วก็ได้ มีข้อสังเกตอย่างนึงคือ พอเธอเริ่มก้าวสู่เลข 3 ทันพอดีกับที่เธอปล่อย folklore เส้นแบ่งทางอายุดันเป็นการเปลี่ยนผ่านผลงานเพลงไปสู่อีกยุคนึงที่ขรึมกว่าจริงๆ อย่างไรก็ดีด้วยเหตุผลข้างต้นก็พอทำให้เธอได้ไปต่อในระยะยาวด้วยความมั่นคงที่มากกว่าเดิม โดยที่ไม่เรื่องข่าวกอสซิปหวือหวามาแทรกให้ลืมผลงานเพลงของเธอเสียก่อน ความเจ็บปวดในด้านชื่อเสียงอาจเข้ามาจนทำให้เวลาผ่านไปได้ช้ากว่าการเฉลิมฉลองความสำเร็จ
แก่นแท้ต่างหากคือสิ่งที่ต้องรักษาไปตลอดกาล
Top Tracks: ​champagne problems, gold rush, tolerate it, no body, no crime, happiness, dorothea, coney island, ivy, marjorie, evermore
Give 8/10
Thx For Readin’
See Y’all
โฆษณา