30 ม.ค. 2021 เวลา 10:04 • การศึกษา
“ขอบิณฑบาตความรู้..สู่ประชาชน” repost
เมื่อวานเย็น คณะของศาลได้มีโอกาสเข้าเฝ้ากราบขอพรเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ฯ ณ วัดราชบพิธฯ ท่านเป็นพระที่น่าเคารพยิ่ง ..
ผมได้ยินมาว่า ท่านมักหลบหลีกผู้คน แอบไปปลีกวิเวก ปฎิบัติธรรมที่จ. สกลนครเสมอๆ..
หลังจากนั้น คณะฯได้แวะกราบพระเดชพระคุณพระราชมงคลดิลก (ท่านเจ้าคุณกอบ)....
เมื่อท่านเจ้าคุณฯทราบว่า พวกเรามาจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง..
ท่านจึงกล่าวว่า..
“อาตมามีเรื่องที่เข้าไปเกี่ยวกับโรงศาล จะเล่าให้ฟัง..”
ผมเห็นว่า สิ่งที่ท่านกล่าว เป็นข้อคิดที่มีประโยชน์ต่อองค์กรศาล และประชาชน .. จึงจะนำมาเล่าให้ฟังอีกทอดหนึ่ง..
ขอโอกาสและอนุญาตพระคุณเจ้าไว้ ณ ที่นี้ด้วย..
อาจจะถ่ายทอดได้ไม่ตรงคำพูดทั้งหมดเพราะมิได้อัดเทปไว้.. จะผิดถูกประการใด หรือเป็นการจาบจ้วงล่วงเกินพระคุณเจ้า..
ข้าฯกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย..
ท่านเจ้าคุณเล่าว่า..
“มีครั้งหนึ่ง.. อาตมาไปศาลแห่งหนึ่งที่ภาคอีสาน เพราะโยมแม่อาตมาเป็นคนใจดี ชอบช่วยเหลือคน . แต่แกอ่านหนังสือไม่ออก. .
โยมแม่ถูกฟ้องเป็นจำเลยเพราะมีคนรู้จักมาขอให้เซ็นต์ค้ำประกัน.. แต่เขาให้เซ็นต์ในช่องลูกหนี้.. ไม่ใช่ในช่องผู้ค้ำฯ..
โยมแม่ไม่รู้กฎหมาย ก็เซ็นต์ให้ไป..
ต่อมา มีหนังสือจากศาลมาหาโยมแม่.. ซึ่งท่านไม่รู้กฎหมาย ก็ไม่รู้จะทำยังไง ..แต่ก็ไปศาล..
สุดท้าย ศาลตัดสินแพ้คดี ให้ยึดทรัพย์..บ้านถูกยึดขายทอดตลาด..
อาตมาขอเข้าพบผู้ใหญ่ของศาลท่านหนึ่ง เพื่อขอรื้อฟื้นคดี..เพราะโยมแม่ ไม่ใช่ลูกหนี้ และไม่รู้กฎหมาย..
คำตอบที่ได้รับคือ.. อย่าเลย เพราะจะทำให้เรื่องยุ่งยาก...
อาตมาไม่ได้ว่ากล่าวอะไร.. แต่เรื่องนั้น คาใจอยู่ตลอดมา..”
“... ท่านผู้พิพากษารู้มั้ยว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ เขาไม่รู้กฎหมาย.. ไม่มีใครไปบอกเขา ไม่มีใครไปเล่าให้เขาฟัง..
พอเกิดปัญหาขึ้น เขาเดือดร้อนมาก.. ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน..
. .แม้โยมแม่ของอาตมาที่ไปศาลวันนั้น.. ไปถึงที่ศาลแล้ว ก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ.. ก็ไปนั่งรออยู่ที่มุมตึกตรงนั้น..ไม่ได้เข้าห้องพิจารณา.. “
ทุกคนเงียบ ฟังพระคุณเจ้า.. ท่านสบสายตากับทุกคน..
ผมไม่หลบสายตา..เพื่อให้ท่านรับรู้ว่า .. กระผมอยากฟังต่อ..
ท่านกล่าวต่อด้วยสีหน้าสงบนิ่ง แต่น้ำเสียงจริงจัง แต่นุ่มนวลว่า..
“ถ้าอาตมากล่าวแล้ว เกิดความไม่พอใจ ก็ขออภัย.. แต่นี่คือความจริง..
.. อาตมาขอได้มั้ย.. อาตมาขอบิณฑบาตความรู้ของท่านผู้พิพากษาทั้งหลาย..
เอาไปให้ชาวบ้านเขาได้มั้ย.. ให้เขาได้รู้ เขาจะได้ไม่เสียหายเดือดร้อน..
ที่ผ่านมา ก็มีการให้ความรู้อยู่บ้าง.. แต่มาๆแล้วก็ไป ไม่ได้จริงจังอะไร..
อาตมาขอนะ..”
ผมนึกในใจว่า.. คำกล่าวท่านเจ้าคุณ สอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระเจ้าอยู่หัว ร. 9 ว่า.. (ถ้าจำผิด ต้องกราบขออภัย.. เพราะไม่ได้จดไว้)
“ศาลมีหน้าที่ให้ความยุติธรรม ที่สำคัญกว่าตัวกฎหมาย.. อย่ายึดติดกับตัวบทกฎหมายเกินไป..
..และต้องเอาความรู้ไปให้แก่ชาวบ้านที่ยังไม่รู้ด้วย..
ศาล ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินคดีบนบัลลังก์เพียงอย่างเดียว..”
กำลังคิดอยู่ในใจเพลินๆ ก็ได้ยินเสียง..
“เออ.. แล้วที่บอกว่าพวกท่านมาจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาเนี่ยนะ..”
ท่านเจ้าคุณเอ่ยขึ้น ปลุกผมออกจากภวังค์ความคิด
“..อาตมาก็ยังไม่รู้เลย.. ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ..มันอยู่ตรงไหน ตรงส่วนใดของประเทศ...”
5555 ทุกคนในห้อง . ฮากันตรึม..
จริงครับ.. แค่นี้คนทั่วไปยังไม่รู้เลย.. แล้วตัวบทกฎหมายนี่..ชาวบ้านจะไปรู้ได้อย่างไร..
 
“.. อึ่ม.. แล้วศาลต่างๆเนี่ยนะ.. “
ท่านกล่าวตอกย้ำความจริง อีกรอบ
“..ก็มีเยอะมาก.. ตั้งหลายชื่อ.. หลายแห่ง.. มีมากมายจนจะเหมือน..ศาลพระภูมิแล้วนะท่าน..”
555 เรียกเสียงฮา กับความจริงที่ท่านพูดได้อีกรอบ..
ขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาท่านเจ้าคุณฯด้วยขอรับ..
ตั้งใจว่า หากมีโอกาสจะต้องมากราบขอความเมตตาใหม่อีกหลายครั้ง.. สาธุ..
ระหว่างทางนั่งรถตู้กลับ.. ผมครุ่นคิดในใจ..
“เรื่องศาลมีจำนวนมากนั้น.. บางทีก็เป็นความจำเป็นต้องขยายไปยังประชาชนให้ทั่วถึง..
การเดินทางมาศาลจะได้ไม่ยุ่งยาก สิ้นเปลือง และจำแนกศาลเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการคดี..
แต่บางครั้ง ก็เป็นเรื่องนโยบายของฝ่ายบริหารกำหนดมา เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด เป็นต้น
ในต่างประเทศที่เคยเห็น เขาใช้อาคารเดียว และห้องพิจารณาซ้ำกันได้ แต่มีหลายศาล เช่น ตอนเช้าพิจารณาคดีเด็ก ตอนบ่ายพิจารณาคดีศาลจังหวัด..”
ส่วนเรื่องความไม่รู้กฎหมาย.. ก็เป็นความจริง..และก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมมาเล่นเฟสบุ๊ค..
 
ทั้งที่บางคนมองว่า ผมทำเรื่องไร้สาระ.. ไม่มีประโยชน์ต่อตัวเองเลย..
แต่ผมใช้เฟสบุ๊คเพื่อช่วยเผยแพร่ความรู้กฎหมาย..
ทำให้คนรู้ได้ในวงกว้าง.. ไม่เสียเวลา ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ..
เป็นประโยชน์มากกว่าการไปบรรยายในสถานที่ต่างๆ แม้อาจจะไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายนัก..
การให้ความรู้แก่ประชาชน.. ศาลทั่วประเทศ เขาทำอยู่แล้วครับ .. แต่ยังไม่มากเพียงพอ .. และไม่ต่อเนื่อง
ผมว่า มันเป็นหน้าที่ของนักกฎหมายทุกคนนะครับ ที่ต้องช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม แก่ชาวบ้าน อย่างต่อเนื่อง..
ถ้าท่านใช้ social media ได้.. ก็ใช้เถิด..
ถ้าท่านไปบรรยายในที่ต่างๆได้ ..ก็ไปเถิด.. จะเป็นกุศลอย่างยิ่งครับ..
ผมเองก็จะทำต่อไป .. ทั้งการสอน.. การบรรยาย.. เฉพาะที่เขาติดต่อมา..และการให้ความรู้ผ่านช่องทางนี้..เท่าที่จะทำได้..
โฆษณา