30 ม.ค. 2021 เวลา 10:17 • สุขภาพ
หรือว่า .........จะลอง ใบกระท่อมดี
#ปลดล็อกพืชกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติด
ความคืบหน้าร่างกฎหมายปรับสถานะพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด
ข่าวดี ของผู้ชื่นชมสมุนไพรไทย ล่าสุด 27 ม.ค.64 สภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...)พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งหมายเพื่อยกเลิกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยประชาชนบริโภคพืชกระท่อมได้โดยไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย เว้นแต่จะนำไปผสมสารเสพติดชนิดอื่น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการยอมรับจากสังคมว่าไม่ใช่ผู้ติดยาเสพติด โดยร่างพระราชบัญญัตินี้จะบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
#ข้อดี
เชื่อว่าการยกเลิกโทษพืชกระท่อมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้ในชีวิตประจำวันตามวิถีดั้งเดิม รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมพืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ เพราะพืชกระท่อมคือสมุนไพรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีศักยภาพที่ควรนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดกับประเทศโดยเฉพาะเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมด้านการแปรรูปให้เกิดประโยชน์ ผลิตยาสมุนไพรแก้โรคต่าง ๆ ให้เป็นธุรกิจที่ส่งออกได้ทั่วโลกเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ
เหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายปรับสถานะ #พืชกระท่อม จากบัญชียาเสพติด เนื่องจากประเทศไทย มีการศึกษาวิเคราะห์แนวทางการใช้ประโยชน์จากพืช #กระท่อม มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าพืชกระท่อมเป็นพืชสมุนไพรไทยที่ใช้ในวิถีชาวบ้านมาอย่างยาวนาน จากการศึกษาวิจัยพบว่าแม้พืชกระท่อมจะมีผลกระทบต่อร่างกายแต่ก็ไม่มาก ในทางกลับกันก็มีประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยเฉพาะสารสำคัญในกระท่อมที่เรียกว่า “#ไมตราเจนีน” ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวด และสามารถนำมาใช้เชิงเศรษฐกิจได้
อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบการค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นหากถอดพืชกระท่อมออกจากความเป็นยาเสพติดให้โทษ จะสามารถส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น
#คำเตือน
อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีการนำพืชกระท่อมไปผสมกับยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอื่น ก็อาจมีความผิดฐานผลิตยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ และเมื่อเสพสารผสมนั้นเข้าสู่ร่างกายก็มีความผิดฐานเสพยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์เช่นกัน รวมทั้งการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายก็ยังคงถูกควบคุม โดยต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 เป็นต้น
เด๋วเภจะมาเล่ารายละเอียดต่อไปว่า ปลูก ใช้ แบบไหน ไม่เสี่ยงติดคุก
แหล่งข้อมูล:
โฆษณา