31 ม.ค. 2021 เวลา 00:57 • การศึกษา
ต้นแบบเศรษฐี
เศรษฐีตามที่เราเข้าใจคือเป็นผู้มีเงินทองและทรัพย์สินมากมาย แต่ความหมายที่แท้คืออะไร?
เศรษฐี แปลว่า ผู้ให้,ผู้ประเสริฐ ดังมีเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาลดังนี้
มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ สุทัตตะเศรษฐี เป็นบุตรของเศรษฐีสุมนะ อยู่เมืองสาวัตถี เขาเป็นเศรษฐีใจบุญ เมื่อสิ้นบิดาแล้ว เขาได้ตั้งโรงทานหน้าบ้าน แจกข้าวให้คนยากจนทุกวัน จนได้ชื่อว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ผู้ให้ทานก้อนข้าวแก่คนยากจน) เป็นชื่อที่คนเรียกติดปาก
เขาค้าขายไปยังกรุงราชคฤห์และสนิทสนมกับเศรษฐีที่นั่นชื่อ ราชคหกะเศรษฐี จนได้เกี่ยวดองกัน เขาแต่งงานกับน้องสาวของ ราชคหกะเศรษฐี และราชคหกเศรษฐีแต่งงานกับน้องสาวเขา
ได้ฟังธรรมจนบรรลุโสดาบัน
บางครั้งเมื่อเขามาค้าขายที่กรุงราชคฤห์
เขาก็มาพักบ้านพี่ภรรยา ครานั้นเขาได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธองค์ที่ราชคห์เศรษฐี ได้อาราธนามาฉันภัตตราหารและแสดงธรรมที่บ้านเป็นประจำ เขาฟังธรรมจนบรรลุโสดาบัน
สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า
ระยะทางจากกรุงสาวัตถี ถึง กรุงราชคฤห์ห่างกัน 54 โยชน์ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเมื่อบรรลุโสดาบันแล้วก็ได้ทูลขออาราธนา พระบรมศาสดา เพื่อเสด็จไปประกาศพระศาสนายังเมืองสาวัตถี พระพุทธองค์รับคำอาราธนา
เขารู้สึกยินดีรีบกลับไปเมืองสาวัตถี ระหว่างทางเขาได้บริจากเงินเป็นจำนวนมาก และได้สร้างที่พักทุกๆ 1โยชน์ เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระศาสดา เมื่อถึงเมืองสาวัตถีเขาก็ได้ซื้อที่ดินของเจ้าชายเชตกุมาร เพื่อสร้างวิหารโดยนำเงินไปปูเต็มพื้นที่ดินที่จะซื้อนั้น เป็นเงิน 27 โกฎิ
ก่อสร้างพระอารามถวาย เสนาสนะ สร้างพระคันธกุฎีอีกรวม 27 โกฎิ รวมเป็นเงิน 54 โกฎิ จนเงินหมด ไม่พอจะทำซุ้มประ เจ้าเชตกุมารจึงขอสร้างถวาย แต่ขอให้จารึกชื่อตัวเองไว้ที่ซุ้มประตู วัดนั้นจึงเป็น "วัดเชตวนาราม"
ทำบุญจนหมดตัว
เมื่อสร้างเสร็จก็ฉลองด้วยการนำอาหารอันปราณีตถวายแด่พระภิกษุสงฑ์ทุกวัน เป็นเวลา 5 เดือน จากนั้นก็นิมนต์พระ 200 รูปมาฉันภัตตราหารที่บ้านของตนทุกวัน จนทรัพย์สมบัติลดน้อยลงเรื่อยๆ ในที่สุดก็ต้องใช้ปลายข้าวและน้ำส้มผักเสี้ยนในการถวายภัตตราหาร จนพระสงฆ์ปุถุชนต้องพากันไปรับอาหารบิณบาตรบ้านอื่น
เศรษฐีขับไล่เทวดาหนี
มีเทวดามิจฉาทิฏฐิ สถิตอยู่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี ไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา และมีความเบื่อระอากับการต้องออกจากซุ้มประตู เวลาพระภิกษุรอดเข้าออกซุ้มประตูทุกวัน มันทำให้เทวดาไม่พอใจมาก เมื่อเห็นเศรษฐียากจนลง
จึงปรากฏตัวต่อหน้าท่านเศรษฐี กล่าวห้ามเศรษฐีเลิกทำบุญเสียเถิด ทรัพย์สินเงินทองก็จะได้เพิ่มพูนเหมือนเดิม "ท่านเป็นใคร?" เศรษฐีถาม
"ข้าเป็นเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของท่าน" เทวดาตอบ
"ดูก่อนเทวดาอันธพาล เราไม่ต้องการเห็นไม่ต้องการฟังคำพูดของท่าน ขอท่านจงออกไปจากเรือนของเรา อย่ามาให้ข้าพเจ้าเห็นอีกเป็นอันขาด"
เทวดาตนนั้นตกใจมาก ทำยังไงไม่มีที่สิงสถิตแล้วก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากเทวดาที่มีศักดิ์เหนือกว่า เทวดาองค์นั้นจึงแนะอุบายให้ว่า " ทรัพย์เก่าเศรษฐี 80 โกฎิ โดนน้ำเซาะตลิ่งพังจมหายไปในน้ำ ท่านจงไปนำทรัพย์นั้นมาคืนท่านเศรษฐีก็จะหายโกรธ ยกโทษและให้ท่านกลับมาอยู่เหมือนเดิม เทวดาทำตามนั้นและได้กลับมาดังเดิม
ต้นแบบการอุทิศกุศลให้ผู้ตาย
วันหนึ่งหลานเศรษฐีทำตุ๊กตาแป้งหล่นแตก ก็เสียใจร้องไห้ เศรษฐีปลอบโยนแล้วบอกว่า
ไม่เป็นไรเราทำบุญอุทิศกุศลให้ตุ๊กตากันเถิด รุ่งขึ้นก็พาหลานช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระอุทิศส่วนกุศลให้คนที่รักญาติๆที่ตายไป
ข่าวการทำบุญอุทิศส่วนกุศลนี้แพร่ออกไปผู้คนเห็นว่าดีก็ยึดถือทำตามๆกันมา
มอบภารกิจให้ลูกหลาน
ด้วยว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา เป็นผู้ทำทาน และได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ทำให้ เมื่อใครจะนิมนต์พระหรือ พระพุทธเจ้าไปฉันภัตตราที่บ้าน เป็นต้องไปเชิญ 2 ท่านนี้มาเป็นที่ปรึกษา และแนะนำ วิธีถวายของต่างๆ ทำให้ไม่มีเวลากลับไปดูแลที่บ้านของตน อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้มอบให้ลูกสาวเป็นผู้ทำแทน นางวิสาขาให้หลานสาวทำแทน
ลูกสาวบรรลุโสดาบัน
ลูกสาวคนโตเศรษฐีถวายภัตตราหารและฟังธรรมทุกวันไม่นานนางก็บรรลุโสดาบัน และได้แต่งงานออกเรือนไป ก็เป็นหน้าที่ลูกสาวคนที่ 2 ก็ทำเหมือนกันและได้บรรลุโสดาบัน แล้วก็ได้แต่งงานออกไป จนมาเป็นหน้าที่ลูกสาวคนเล็ก ชื่อสุมนาเทวี
ลูกสาวป่วยเรียกบิดาว่าน้องชาย
นางสุมมาเทวี ทำหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง สำเร็จด้วยความเรียบร้อยทุกวัน ทั้งๆที่อายุยังน้อย จากการที่นางได้ทำบุญถวายอาหารและได้ฟังธรรมเป็นประจำ ทำให้นางบรรลุเป็นพระสกทาคามี
แต่ต่อมานางได้ล้มป่วยลง มีอาการหนักจึงให้คนตามบิดามา ท่านเศรษฐีรีบมาเยี่ยมโดยเร็ว พอมาถึงได้ถามลูกสาวว่า " แม่สุมนาเจ้าเป็นอะไร?"
"อะไรเล่าน้องชาย" ลูกสาวตอบ
"เจ้าเพ้อหรือแม่สุมนา?" บิดาถาม
" ไม่เพ้อหรอกน้องชาย " ลูกสาวตอบ
"แม่สุมนาถ้าอย่างนั้นเจ้ากลัวหรือ?"บิดาถาม "ไม่กลัวหรอกน้องชาย "นางสุมนาพูดโต้ตอบได้แค่นั้นก็ถึงแก่กรรม
เมื่องานศพลูกสาวเสร็จจึงไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ถึงแม้ท่านจะเป็นพระโสดาบันแล้วแต่ก็ไม่อาจกลั้นความโศกเศร้าได้จึงร้องไห้ไปกราบทูลไป
พระพุทธองค์ตรัสว่า "อนาถบิณฑิกะ ก็ความตายเป็นสิ่งเที่ยงแท้ของสรรพสัตว์มิใช่หรือ เหตุไฉนท่านจึงร้องไห้อย่างนี้? "
" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นข้าพเจ้าทราบดี แต่นางสุมนาเทวี ธิดาของข้าพระองค์ เมื่อใกล้เวลาจวนจะตาย นางไม่สามารถคุมสติได้เลย นางบ่นเพ้อจนกระทั่งตาย ข้าพระองค์โทมนัสร้องไห้ด้วยเหตุนี้พระเจ้าข้า" พร้อมทั้งกราบทูลคำที่นางสุมนาเทวี เรียกตนเองว่าน้องชาย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับแล้วตรัสว่า "ดูก่อนท่านมหาเศรษฐี บุตรของท่านไม่ได้เพ้อหลงสติอย่างที่ท่านเข้าใจ แต่ที่นางเรียกท่านว่าน้องชายนั้น ก็เพราะท่านเป็นน้องของนางจริงๆ นางเป็นใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและผล เพราะท่านเป็นเพียงโสดาบัน แต่ธิดาท่านเป็นพระสกทาคามี เป็นอริยบุคคลสูงกว่าท่าน แล้วบัดนี้นางได้ไปเกิดเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว นี่แหล่ะไม่ว่าจะเป็นคฤหัสห์หรือบรรพชิตก็ตาม ถ้าอยู่ด้วยความไม่ประมาทประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ก็ย่อมเสวยสุขเพลินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"
เศรษฐีได้ฟังก็หายเศร้าโศก กลับรู้สึกอิ่มเอิบใจขึ้นมาแทน แล้วกราบทูลลากลับบ้านไป
เพราะการยึดมั่นในการให้ทาน ทำบุญมิได้ขาด ไม่มีผู้ใดเปรียบเทียบได้ พระพุทธองค์จึงยกย่องท่านในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศยิ่งกว่าอุบาสกทั้งหลายในฝ่ายทายก
ความหมายของเศรษฐีที่แท้จริง ก็คือเป็นผู้ให้ ผู้ประเสริฐ ถ้าหากว่ามีเงินมากมีทรัพย์มาก แต่ไม่รู้จักแบ่งปัน ก็เป็นได้แค่คนร่ำรวยแต่ไม่ใช่เศรษฐีค่ะ
โฆษณา