5 ก.พ. 2021 เวลา 01:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“ปั้นลมเป็นน้ำ” ไม่ใช่เรื่อง ปั้นน้ำเป็นตัว!!!
เปรู เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง น้ำตามแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อาจจะมีปริมาณมากบ้างหรือน้อยบ้างขึ้นอยู่กับฤดูกาล แต่ยังคงเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคนทั้งประเทศ มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตจนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำตามฤดูกาลในประเทศเปรู ทำให้ประชากรในประเทศได้รับผลกระทบจากทั้งน้ำท่วมและความแห้งแล้ง เพราะฉะนั้นนอกจากการบริหารจัดการน้ำ เทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยให้เปรูสามารถผลิตน้ำได้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก
นายแม็กซ์ ฮิลดาโก นักประดิษฐ์และนักชีววิทยาชาวเปรู ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติประจำปี 2020 โดยการนำกังหันลมมาดูดอากาศให้ผ่านพื้นผิวในสภาวะที่เหมาะสมต่อการควบแน่นของไอน้ำจากอากาศ จนทำให้เกิดเป็นหยดน้ำและสามารถผลิตน้ำบริสุทธิ์ได้ ผลงานประดิษฐ์ชิ้นนี้ได้รับการส่งเสริมให้นำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกลและแห้งแล้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศเปรู
เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพัฒนาด้วยต้นทุนต่อเครื่องประมาณ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 ล้านบาท โดยสามารถผลิตน้ำได้เพียงพอต่อการใช้น้ำของคนประมาณ 100 คน หรือ 1 หมู่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดหาระบบสาธารณูปโภคหรือท่อส่งน้ำไปยังหมู่บ้านเดียวกัน ที่มีราคาสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30 ล้านบาท
ประเทศไทยเองแม้ว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็คงต้องยอมรับว่าเราก็ได้รับผลกระทบจากการที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลเช่นกัน นั่นก็คงจะดีไม่น้อยถ้ามีเทคโนโลยีทางเลือกเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงหน้าแล้ง
#ClimateChangeTalk #ThailandClimateChange #Mitigation #ClimateTechnology #WindTurbine #CondensedVapour
.
บทความโดย CC Talk team
.
ที่มา
โฆษณา