1 ก.พ. 2021 เวลา 03:02 • ประวัติศาสตร์
Infographics
กว่าจะมาเป็น 'มัมมี่อียิปต์'
https://www.gypzyworld.com/photo/view/1633
มัมมี่ (Mummy) หมายถึงศพมนุษย์หรือสัตว์ที่ไม่เน่าเสีย
แม้เวลาจะผ่านมานาน มัมมี่มักมีผิวหนังปกคลุม ทำให้ศพมีสภาพสมบูรณ์ระดับหนึ่ง มัมมี่คือสิ่งมหัศจรรย์ทางชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ เพราะศพสิ่งมีชีวิตจะเริ่มเน่าสลายทันทีตามธรรมชาติ แต่ศพที่ไม่เน่าสลาย ก็เนื่องจากการเก็บรักษาโดยมนุษย์หรือโดยธรรมชาติเสียเอง นี่คือปรากฎการณ์ที่หาได้ยาก
1.ชาวอียิปต์กลัวร่างกายเน่าเปื่อย
ชาวอียิปต์เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย พวกเขาแสดงความเชื่อผ่านศาสนพิธีและศาสนสถานอย่างเห็นได้ชัด ชาวอียิปต์เชื่อว่ามนุษย์ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ร่างกายและวิญญาณ วิญญาณจะแยกจากร่างกายเมื่อสิ้นลม แต่มนุษย์สามารถฟื้นคืนชีพได้วิญญาณสามารถกลับมารวมกับร่างกายได้สำเร็จ
การเก็บรักษาร่างกายไม่ให้เน่าเปื่อยคือกุญแจสู่การฟื้นคืนชีพ ชาวอียิปต์เริ่มเก็บรักษาศพอย่างจริงจังช่วง 2800-2600 ก่อนคริสต์กาล
2.ขั้นตอนสยองแต่แฝงด้วยประโยชน์
คนมากมายรู้จักกระบวนการทำมัมมี่ว่าสยดสยองเพียงใด ทั้งการใช้ตะขอโลหะหรือแท่งกวนสมองให้เหลวก่อน การเทสมองมนุษย์ออกมาทางจมูก และการผ่าตัดเอาอวัยวะแกนกลางมาบรรจุโหลแยกต่างหาก
แต่ในความเป็นจริง กระบวนการเหล่านี้มีประโยชน์ซ่อนอยู่ สมองและอวัยวะแกนกลางจะเริ่มเน่าก่อนร่างกายส่วนอื่น อีกทั้งอวัยวะอย่างกระเพาะและลำไส้มีเอนไซม์และแบคทีเรียตามธรรมชาติ ซึ่งพร้อมย่อยสลายอวัยวะที่มันอาศัยและลุกลามไปยังร่างกายส่วนอื่น นอกจากนี้กระโหลกและแกนกลางที่กลวงโบ๋ช่วยให้นักบวชยัดเกลือสำหรับฆ่าเชื้อและดูดความชื้นออกจากศพได้ดียิ่งขึ้น
3. การจัดแสดงมัมมี่ต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรก
ในปี 1901 พิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียมของอังกฤษได้จัดแสดงมัมมี่ตัวหนึ่งต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก พร้อมตั้งชื่อเล่นให้มันว่า 'จิงเจอร์' (Ginger) เพราะมัมมี่เพศชายนี้ผมสีแดงเหมือนขิง ผู้เชี่ยวชาญพบจิงเจอร์และเพื่อน ๆ รวม 6 ตัว บริเวณ Gebelein เมืองโบราณติดแม่น้ำไนล์ บริเวณอียิปต์ตอนบน ร่างกายจิงเจอร์คุดคู้อยู่ในหลุมศพ ไม่เหยียดตรงเหมือนมันมี่ที่พบในพีระมิด แต่จิงเจอร์กลับไม่เน่าเปื่อยเนื่องจากร่างกายของเขาสัมผัสกับทรายแห้งอุ่นๆ โดยตรง ศพจิงเจอร์จึงแห้งโดยธรรมชาติ จิงเจอร์น่าจะเสียชีวิตประมาณ 3400 ปีก่อนคริสต์กาล ซึ่งเป็นยุคที่การทำมัมมี่อย่างพิถีพิถันยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
4. มัมมี่อายุน้อยที่สุด
ในปี 1907 นักโบราณคดีขุดพบโลงศพมัมมี่ยาวเพียง 44 เซนติเมตร ที่กีซา (Giza) ซึ่งพวกเขาสันนิษฐานว่าบรรจุอวัยวะของมัมมี่ผู้ใหญ่ แต่ในปี 2016 พิพิธภัณฑ์ Fitzwilliam Museum ในเมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ใช้เครื่องซีทีสแกนตรวจสอบพบว่า ภายในโลงคือร่างทารกอายุเพียง
16-18 สัปดาห์ และมีอายุประมาณ 664-525 ปีก่อนคริสต์กาล พวกเขาสันนิษฐานว่ามารดาของทารกแท้งลูก แต่บิดามารดาให้คุณค่าชีวิตของทารกมากถึงขั้นเก็บรักษาร่างทารกที่ยังไม่ได้ลืมตาดูโลกไม่ตากจากผู้ใหญ่คนหนึ่ง
5. หุบเขาแห่งมัมมี่อียิปต์
บาฮายิราโอเอซิส (Bahariya Oasis) ที่ลุ่มต่ำในอียิปต์ตะวันตก เป็นเมืองเกษตรกรรมสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ มีแหล่งขุดค้นโบราณคดีหลายแห่ง เช่น วิหารกรีกแด่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ต่อมาในปี 1996 ขณะเจ้าหน้าที่คุ้มกันโบราณวัตถุกำลังขี่ลาตรวจตราพื้นที่ ลาของเขาสะดุดหลุมล้มลง เผยให้เห็นหลุมฝังมัมมี่จำนวนมาก กลุ่มนักโบราณคดีจึงเริ่มขุดค้นบริเวณดังกล่าว นำโดย Dr. Zahi Hawass พวกเขาตั้งชื่อแหล่งขุดค้นนี้ว่า 'หุบเขามัมมี่สีทอง' (Valley of the Golden Mummies) มัมมี่ชุดแรกที่ค้นพบมีจำนวนหลายร้อยตัว และถูกทำในสมัยกรีก-โรมัน (332 ปีก่อนค.ศ. ถึงปีค.ศ. 642)
แหล่งขุดค้น 'หุบเขามัมมี่สีทอง' ยังมีเรื่องน่าสนใจ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ จำนวนมัมมี่ ซึ่งประมาณการว่าอาจมีถึง 10,000 ตัว เรื่องที่สองคือความหลากหลายของชนชั้น เพราะศพเหล่านี้มีเครื่องประดับและการตกแต่งโลงแตกต่างกันตามฐานะผู้ตาย
6.'ผงมัมมี่' รักษาสารพัดโรค
ระหว่างศตวรรษที่ 12-17 แพทย์ยุโรปเชื่อว่ามัมมี่บดเป็นผงมีสรรพคุณรักษาโรคได้สารพัด ความเชื่อนี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด เนื่องจากคำทับศัพท์คำว่า 'ยางมะตอย' หรือ 'บิทูเมน' ในภาษาละตินเผอิญเหมือนกับคำว่า 'มัมมี่' (ยางมะตอยหรือบิทูเมนในภาษาอาหรับคือ 'mumiya' คำทับศัพท์ภาษาละตินคือ 'mumia' ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับคำว่ามัมมี่) แพทย์ยุโรปจึงเชื่อว่าผงมัมมี่มีฤทธิ์แบบเดียวกับยางมะตอย เช่น
แก้ฟกช้ำ ห้ามเลือด แม้กระทั่งเป็นยาปลุกเซ็กส์
การซื้อขายมันมี่อียิปต์เริ่มเป็นที่นิยมเมื่อยางมะตอยขาดแคลน ต่อมาเมื่อมัมมี่อียิปต์แท้ ๆ ขาดแคลน พ่อค้าหัวใสจึงนำศพที่แห้งตายกลางแดดมาบดเป็นผงเพื่อหลอกขาย
7. มัมมี่หมาแมว
ชาวอียิปต์ไม่ได้ทำมัมมี่คนเท่านั้น พวกเขายังทำมัมมี่สัตว์เพื่อเหตุผลต่างๆ เช่น ห่วงชีวิตหลังความตายของสัตว์เลี้ยง เป็นอาหารสำหรับโลกหน้า เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้า หรือเป็นแค่รูปเคารพ
สัตว์ที่ชาวอียิปต์ทำเป็นมัมมี่ ได้แก่ แมว นกช้อนหอย ลิงบาบูน จระเข้ พังพอน สุนัข เป็นต้น ในปี 1888 ชาวนาอียิปต์คนหนึ่งขุดพบหลุมศพมัมมี่แมวขนาดใหญ่ ใกล้หมู่บ้าน Istabl Antar มีมัมมี่แมวอย่างน้อย 180,000 ตัวอยู่ในหลุมนั้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า มีมัมมี่สัตว์ประมาณ 70 ล้านตัวถูกฝังในหลุมฝังศพโบราณ 30 กว่าแห่งทั่วอียิปต์.
อ้างอิง :
โฆษณา