1 ก.พ. 2021 เวลา 03:28 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
หนังสารคดี ไม่ต้องบรรยายก็ได้เหรอ?
ที่ว่าไม่ต้องบรรยาย ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องมีบทหนังนะ!
พูดถึงหนังสารคดีอีกสักเรื่องที่เราทำ คราวนี้เป็นหนังทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่าถ้าเราทำหนังสารคดีที่เล่าเรื่องด้วยภาพ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีบทพูด เสียงบรรยาย หรือคำพรรณนาในตัวหนัง ถ้าไม่มี จะรู้เรื่องหรือเปล่า ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าภาพมันเล่าเรื่องได้ในตัวมันเองแล้ว มันต้องรู้เรื่อง!
จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่งานสร้างสรรค์เพื่อหาคำตอบเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เราใช้ส่งประกวดอีกแล้ว ในโครงการ ประกวดภาพยนตร์สั้นโคกุเรบิโตะและตกรอบเช่นเคย แต่อย่ากลัวการตกรอบ ขอแค่ลงมือทำ ผลรางวัลคือผลพลอยได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือ ประสบการณ์
แนวคิดการประกวดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความผูกพันระหว่างคนกับต้นไม้ ดูจะไม่ยากนะ แต่มันยากตรงที่ส่งไปญี่ปุ่นแล้วต้องแปลบทเป็นภาษาอังกฤษด้วยนี่สิ ใครจะมานั่งแปลให้ ฉะนั้นวิธีเลี่ยงการแปลที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องแปล หมายความว่า ไม่มีบทพูดหรือบรรยายเลยนั่นเอง
แต่ทำอย่างไรให้คนดูดูหนังรู้เรื่องล่ะ นั่นล่ะปัญหาสำคัญที่ต้องคำนึง และคำตอบของคำถามนี้ ก็คือ การเล่าเรื่องด้วยภาพนั่นเอง อาจจะสงสัยกันใช่ไหมว่า ถ้าไม่เล่าเรื่องด้วยภาพ แล้วจะเล่าด้วยอะไร มีไม่น้อยที่เราไม่สามารถถ่ายทอดด้วยภาพได้ทั้งหมด เช่น ความรู้สึกข้างในใจ แต่เรื่องนี้เราจะต้องทำให้ความรู้สึกที่อยู่ข้างในใจอย่างความสุข ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพจนคนดูเข้าใจตรงกับผู้สร้างให้ได้
เริ่มจากการคิดพล็อตเรื่องก่อนดีกว่า เราเลือกประเด็นบ้านต้นไม้กับชายคนหนึ่งซึ่งมีตัวตนจริง และมีบ้านต้นไม้จริงๆ เรากับช่างภาพอีกคนไปพูดคุยเจรจากับเขาถึงการขอถ่ายทำ และให้เขาเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้เราฟังก่อน เพื่อที่เราจะเอากลับมาคิดเป็นบท และภาพ จากนั้นจึงกลายเป็นบทหนังเรื่อง “HISTREE” ของเรา เป็นเพียงข้อความสั้นๆ ไม่กี่ประโยค เพื่อที่จะใส่เป็นอักษรลอย (super) ในหนัง ชนิดที่ไม่อ่านก็ได้ แต่อ่านหน่อยก็ดี
ในการทำงานจริง เราถ่ายทำตามลำดับเรื่องในบท โดยวางคิวตั้งแต่เช้าจรดเย็น และเราปล่อยให้ช่างภาพทำหน้าที่แตกช็อตเองอย่างเต็มที่เผื่อไว้ตัด เพราะหนังมีความยาวเพียง 4 นาที หากถ่ายมาน้อยเกินไป จะเป็นปัญหาว่าภาพไม่พอ หนังสารคดีมันต้องจริง จะมาเซ็ตถ่ายใหม่คงยาก นอกจากนี้เรายังให้ช่างภาพยังช่วยกำกับด้วย เขาสื่อสารภาษาอีสานได้ สามารถสร้างอารมณ์ให้แก่ตัวละครในสารคดีซึ่งเป็นคนอีสานได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตัวละครค่อนข้างเขินกล้อง ต้องพยายามทำให้เขาแสดงออกมาเป็นธรรมชาติที่สุด
หลังจากผลิตหนังสารคดีสั้นเรื่องนี้เสร็จสิ้นแล้วในความยาว 4 นาที เราได้นำไปทดลองฉายให้แก่นิสิตเอกวิทยุโทรทัศน์จำนวน 51 คน รับชมกัน และให้ตีความตามความเข้าใจ พบว่ามีผู้ที่เข้าใจเนื้อหาตรงตามแก่นเรื่อง (theme) ของเราเพียง 5 คนจาก 51 คน โดยอธิบายความเข้าใจเนื้อเรื่องว่าเป็นการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเรียบง่ายและพอเพียงบนบ้านต้นไม้ ส่วนอีก 46 คน เข้าใจเนื้อหาว่าเป็นแต่การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงกับธรรมชาติ แต่ไม่ได้สนใจว่ามีบ้านต้นไม้หรือไม่ ทั้งที่เป็นฉากที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรื่องที่เราต้องการสื่อสารกับผู้ชม
นั่นหมายความว่า ผู้ชมไม่ได้ตีความตรงกับเจตนาของเราซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังเท่าใดนัก สะท้อนให้เห็นว่า การเล่าเรื่องด้วยภาพอาจจะยังไม่ชัดเจนในแก่นเรื่อง (Theme) ที่ต้องการสื่อ แม้จะสื่อสารผิดพลาดไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริงไปจากเดิม นี่จึงถือเป็นจุดอ่อนของหนังที่เล่าเรื่องด้วยภาพเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการบรรยายหรือเสียงสนทนาอื่นๆ หากต้องการย้ำแก่นเรื่องอาจจะต้องเพิ่มฉากหรือภาพที่เล่าเรื่องนั้นย้ำๆ ยิ่งเป็นหนังสั้นที่เวลาน้อยด้วยแล้ว อาจต้องให้ความสำคัญกับจุดนี้เป็นพิเศษ
 
แต่อย่างไรก็ตามด้วยองค์ประกอบอื่นๆ ในหนัง อาทิ ดนตรีและเสียงประกอบก็ยังสามารถช่วยให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าอารมณ์ของเรื่องเป็นอย่างไร และเพิ่มความสนุกสนาน เพลิดเพลินในการรับชมได้ ส่วนการที่ไม่มีคำบรรยายในหนังไม่ใช่อุปสรรคในการรับชม เพราะการลำดับภาพมีความต่อเนื่องและภาพที่ถ่ายทอดมามีเนื้อหาที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น หากจะเล่าเรื่องด้วยภาพเพียงอย่างเดียวในหนังสั้นโดยเฉพาะหนังสารคดี ภาพและเสียงจะต้องดึงดูดสายตาผู้ชมตลอด ไม่เช่นนั้นอาจพลาดตอนสำคัญของเรื่องไปเลยก็ได้
เรามักเห็นหนังประเภทนี้ที่ผลิตจากต่างประเทศ ส่วนหนังสารคดีไทยน้อยนักที่จะใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพโดยไม่มีบทบรรยาย หรือบทพูด โดยส่วนใหญ่จะเน้นข้อมูลเนื้อหาแน่นๆ ถ้าไม่มีเสียงบรรยายเลย คนดูอาจจะไม่เข้าใจ หรืออาจจะน่าเบื่อเกินไป แต่จากการผลิตหนังเรื่องนี้และนำไปทดลองกับผู้ชม ทำให้เราสรุปได้ว่าวิธีการนำเสนอหนังสารคดีอาจไม่จำเป็นต้องมีบทพูดหรือบรรยายเสมอไป ลองเลือกเนื้อหาสารคดีที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกมากนัก เช่น บุคคลที่ยังมีตัวตน อาหารการกิน สถานที่ที่แปลกใหม่ หรือเหตุการณ์ชวนตื่นเต้น เป็นต้น จากนั้นคิดบทให้เป็นภาพที่สนุกๆ เห็นความจริงเห็นรายละเอียดชัดเจน ตัดต่อลำดับภาพเรียบง่าย ใส่เสียงประกอบที่ชวนติดตาม และดนตรีประกอบที่เข้ากับเรื่องนั้นๆ เชื่อว่า หนังสารคดีไทยก็สามารถผลิตโดยไม่มีบทพูดหรือเสียงบรรยายได้ ซึ่งการเล่าเรื่องด้วยภาพ และคนดูดูเข้าใจ จะเป็นประโยชน์มาก เมื่อภาพนั้นๆ มีความเป็นสากล ใครดูก็รู้เรื่องเช่นเดียวกัน ภาษาพูดหรือตัวอักษรจึงไม่จำเป็น และไม่เป็นอุปสรรคในการรับชมด้วย
โฆษณา