แฉความลับกำไรสุทธิของ TESLA ที่ไม่ได้มาจากการขายรถ
เชื่อว่าผู้ถือหุ้นของ TESLA คงอิ่มเอมกันไปกับการปรับขึ้นของราคาหุ้นถึง 734% ในปี 2563 และปีนี้ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาอีกตั้งแต่ต้นปีถึงสัปดาห์ที่แล้ว 22% ทำให้ TESLA กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก โดยมีมูลค่ามากกว่าผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุด 12 รายในโลกนี้รวมกัน และยังเป็นหนึ่งในบริษัทอเมริกันที่มีมูลค่ามากที่สุดอีกด้วย
ผลประกอบการของ TESLA ที่ออกมาล่าสุด ซึ่งเป็นผลประกอบการทั้งปี 2563 นั้น รายได้ของบริษัทปรับเพิ่มขึ้น 31% และรายได้หลังการปรับปรุง (Adjusted Income) เพิ่มขึ้นมากกว่า 6,700% จากปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่ TESLA ทำกำไรได้ โดยรายได้หลังการปรับปรุง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ ได้ตัดการจ่ายค่าตอบแทนเป็นหุ้น (Stock-Based Compensation) มูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รายได้สุทธิ (Net Income) สำหรับปี 2563 นั้นอยู่ที่ 721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับรายได้สุทธิที่ขาดทุน 862 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม รายได้สุทธิของบริษัทในปี 2563 นั้น ไม่ได้มากจากการขายให้แก่ลูกค้า ซึ่งปีที่แล้วขายรถได้ 499,550
คัน จากเป้าที่ตั้งไว้ 500,000 คัน พลาดเป้าไปเล็กน้อยเท่านั้น แต่ยอดขายรถของทุกค่ายทั่วโลกมีมากกว่า 70 ล้านคันเลยทีเดียว สัดส่วนจำนวนรถของบริษัทยังน้อยนัก
สิ่งที่น่าจับตาคือ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังมุ่งหน้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ตรงตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดทั่วโลก รวมถึงเป็นการเติมเต็มความต้องการในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากใช้จำนวนแรงงานน้อยลง ใช้ชิ้นส่วนน้อยลง และต้นทุนในการผลิตต่ำ เมื่อเทียบกับรถที่ใช้น้ำมันแบบดั้งเดิม
และนี่ก็เป็นที่มาของกำไรของ TESLA จากกฎระเบียบที่กำหนดโดย 11 รัฐในสหรัฐฯที่ผู้ผลิตยานยนต์จะต้องขายยานยนต์ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ให้ได้ปริมาณเป็นสัดส่วนยอดขาย15% มาจากยานยนต์ประเภทดังกล่าวตามที่กำหนดภายในปี 2568 หากไม่สามารถทำได้ บริษัทผู้ผลิตยานยนต์จะต้องซื้อเครดิตยานยนต์ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซ (Zero-Emissions Vehicle – ZEV) จากผู้ผลิตรายอื่นซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนด อย่างเช่น TESLA ซึ่งขายแต่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น
โดย 11 รัฐดังกล่าว ประกอบด้วย California, Colorado, Connecticut, Maine, Maryland, Massachusetts, New York, New Jersey, Oregon, Rhode Island และ Vermont
แน่นอน การขายเครดิต เป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับ TESLA และในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้ทำเงินได้ถึง 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งที่ทำได้ในปี 2563 โดยในปีที่แล้วรายได้จากการขายเครดิตนี้มีมากถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่ารายได้สุทธิที TESLA ทำได้ 721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่าหากไม่มีรายได้จากส่วนนี้ บริษัทก็อาจจะรายงานขาดทุนสุทธิในปี 2563
Gordon Johnson นักวิเคราะห์จาก GLJ Research และเป็นหนึ่งในผู้ที่มีมุมมองเชิงลบกับหุ้น TESLA มากที่สุด กล่าวว่า TESLA กำลังขาดทุนจากการขายรถ แต่ทำเงินจากการขายเครดิต
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้บริหารของ TESLA มองว่า การขายเครดิตให้กับบริษัทผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นนี้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต และมองว่าในระยะยาวจะไม่ใช่ส่วนที่สำคัญของธุรกิจ TESLA และจะไม่มีการวางแผนธุรกิจใดๆสำหรับการขายเครดิตนี้ และเป็นไปได้ว่ารายได้จากส่วนนี้อาจจะเติบโตอีกในไตรมาสข้างหน้า และก็เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่เติบโตด้วย
Tesla ยังได้รายงานมาตรการต่างๆในการทำกำไร เหมือนกับที่บริษัทอื่นๆมีการรายงาน และมาตรการต่างๆเหล่านั้น ทำให้เกิดกำไรมหาศาลโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการขายเครดิต
กำไรขึ้นต้นจากการขายยานยนต์ของบริษัทนั้น หากเทียบกับรายได้ทั้งหมดจากธุรกิจรถกับรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตรถ อยู่ที่ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะไม่รวมรายได้จากการขายเครดิตก็ตาม นอกจากนี้ กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) จำนวน 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังเพิ่มขึ้น 158% จากปีก่อน และเป็นการพลิกฟื้นจากปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทถลุงเงินสด และเสี่ยงที่เงินจะหมดไปกับการดำเนินธุรกิจ
ผู้ที่สนับสนุน TESLA กล่าวว่า มาตรการเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถทำเงินได้ในที่สุดหลังจากที่ขาดทุนมาหลายปีจากมาตรการเหล่านั้น นอกจากนี้ การทำกำไร ยังเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นบริษัทมีการเติบโตได้ดีมากกว่าหนึ่งปี
แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในเรื่องการทำกำไรของ TESLA ซึ่งแบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งให้ความสำคัญเรื่องการขายเครดิตที่มีรายได้มากกว่ารายได้สุทธิ อีกฝั่งก็มองว่า อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจยานยนต์ ซึ่งไม่รวมการขายเครดิต เป็นตัววัดที่ดีที่สุดสำหรับความสำเร็จทางการเงินของบริษัท โดยมองว่า ไม่มีทางที่เจเนอร์รัล มอร์เตอรส์ (GM) และ โฟล์คสวาเกน (VW) จะทำเงินได้จากการขายรถยนต์ไฟฟ้า
แล้วอนาคตของ TESLA จะเป็นอย่างไร หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งกระฉูด และหุ้นของบริษัทมีค่ามากกว่าผู้ผลิตยานยนต์ยักษ์ใหญ่ 12รายที่ขายรถมากกว่า 90% ในโลกนี้รวมกัน
สิ่งที่ TESLA มีและผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นในโลกนี้ไม่มีคือ การเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทได้มีการคาดการณ์การเติบโต 50% ของยอดขายรายปีในปีต่อๆไป และยังคาดว่าในปี 2564 จะทำได้ดีกว่านั้นอีกค่ะ ท่ามกลางการต่อสู้ดิ้นรนของผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นๆ เพื่อให้ยอดขายฟื้นกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด
ขณะที่ TESLA เป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะผู้ผลิตรายอื่นก็กำลังเผยรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง หรือมีแผนที่จะผลิต ยกตัวอย่าง โฟล์คสวาเกน ก็เอาชนะTESLA ในเรื่องยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป ส่วน GM ก็เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะเปลี่ยนการผลิตยานยนต์ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2578
นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ราคาหุ้นของ TESLA นั้น เหมาะสมแล้วกับการที่บริษัทได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยมองว่า ส่วนแบ่งการตลาดที่ 80-90% นั้น แม้จะอยู่ไม่นาน แต่บริษัทยังสามารถมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้แม้ส่วนแบ่งการตลาดจะต่ำลง และยังมองว่าบริษัทจะสามารถผลิตได้ปีละ 3-4 ล้านคันในปี 2568 – 2569 และสัดส่วน 40% ของการเติบโตนั้นจะมาจากจีน และที่สำคัญการเติบโตนี้ ไม่ได้มากจากการขายเครดิต แม้ไม่มีการขายเครดิต TESLA ยังสามารถทำกำไรได้
มาถึงตรงนี้ มองว่าอย่างไรกันบ้างคะ หากไม่มีการขายเครดิต TESLA จะยังทำกำไรได้หรือไม่ หรือยังมองว่า TESLA ยังทำกำไรได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการขายเครดิต แสดงความคิดเห็นกันเข้ามาได้นะคะ
ที่มาและภาพ: