2 ก.พ. 2021 เวลา 03:07 • ความคิดเห็น
ว่าด้วยเรื่องของ “มรรยาท” EP.1
คนที่มีมรรยาทดีทุกคนก็ชื่นชอบ คำว่า “มรรยาท หรือ มารยาท” (ใช้ได้ทั้งสองคำ แต่ในที่นี้จะใช้ “มรรยาท”)เป็นคุณสมบัติประจำตัวที่เห็นชัดที่สุดสำหรับแต่ละคนในทุกรุ่น การมีมรรยาททำให้ มนุษย์ เป็นมนุษย์ ทำให้คนเป็นคน และทำให้ คนทั่วไปสรรเสริญ และส่งเสริมเฉพาะตัว สามารถสมัครงาน เข้าวัฒนธรรมการทำงานกับผู้อื่นได้ดี มีความเป็นมืออาชีพ และทำธุรกิจค้าขายได้อย่างเป็นที่ชื่นชอบของชนทุกรุ่น การมีมรรยาทเป็นคุณสมบัติระดับโลกที่จะเป็นกุญแจไขไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพการงานระดับสากล
มรรยาท เป็นภาษาสันสกฤต “มรยาทะ” ภาษาละติน manuarius และอังกฤษ Manners น่าจะมาจากรากศัพท์ ภาษาอินโดอารยัน หรือ อินโดยูโรเปียน เดียวกันแปลว่าสลักเสลาด้วยมือ ไม่ทราบว่าเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร หรือใครเป็นคนกำหนด แต่มีความหมายถึงจิตใจหนึ่ง กิริยาวาจาหนึ่ง ความประพฤติอีกหนึ่ง อันเป็นปกติวิสัยที่สรรค์สร้างมา ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้คบหาเป็นมิตรในสังคมนั้นและสามารถสืบทอดหรือเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่นด้วย ถือเป็นเรื่องที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งคนในสังคมนั้น ๆ ยอมรับและประพฤติปฏิบัติต่อกันจนกลายเป็นวัฒนธรรม และประเพณีประจำถิ่น อันประกอบด้วยความคิด จิตใจที่อบรมขัดเกลาเป็นอย่างดี ภาษาวาจาที่สุภาพไม่หยาบโลนหยาบคาย ภาษากาย ท่าทางและบุคคลิกที่สุภาพ นุ่มนวล นอบน้อม ถ่อมตน
ส่วนกรรมที่ตามมา คือ การกระทำต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ ได้แก่ พฤติกรรมหรือกมลสันดาน หรือ DNA ที่สลักเสลาจนประกอบเป็นอัตลักษณ์ของสังคมหรือประเทศนั้น ๆ
เริ่มด้วยความคิดจิตใจเบื้องต้น (เอาขั้นหยาบ ๆ ไม่ต้องถึงพระอภิธรรม) ได้แก่ ความสำนึกและสำเหนียกรับผิดชอบ ชั่วดี ความสำนึกและสำเหนียกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ส่วนกิริยาวาจาที่เรียบร้อย สุภาพ อ่อนโยน จะต้องถูกสอนโดยพ่อแม่ซึ่งจะให้ความรู้สึกที่ถูกต้อง ถูกกาละเทศะ จนความประพฤติเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และเคร่งครัดในวัฎฐากปฏิบัติต่อบุคคลที่ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอยู่เสมอ อันเป็นค่านิยมที่ดี เป็นที่ชื่นชมชื่นชอบต่อผู้ที่อยู่ในสังคมนั้น ๆ ที่ตนเองดำรงชีวิตอยู่ ทำให้อยู่ร่วมกันโดยผาสุก
การมีมรรยาทในครอบครัวถือเป็นความคิดตัวแรก คือ ความคิดในการสร้าง Proto DNA หรือมรรยาทตัวแรก ในการอยู่ร่วมกันเบื้องต้นในสังคม และ DNA นี้อาจแตกต่างออกไปตามค่านิยมของครอบครัวนั้น ๆ ขึ้นกับว่ามีความแตกต่างกันทางโครงสร้างฐานะ การศึกษา และการคบหาสมาคมเป็นหมู่เหล่า การแบ่งทางชนชั้นวรรณะ และการที่คนในสังคมนั้นในยุคนั้นมองโลกในขณะนั้นในแง่ใด ร้ายหรือดี มีตัวอย่างที่ร้ายมากกว่าดี หรือดีมากกว่าร้าย เป็นต้น อีกทั้งต่อมาถ้าคนในสังคมพบว่าสังคมร้ายมาก ๆ ก็จะมีความคิดสร้างตัว DNA ใหม่ เรียกว่า ศาสนาใหม่ ค่านิยมใหม่ การปฏิรูปใหม่ หรือ The Age of Reformation สมัยมาร์ติน ลูเธอร์ หรือ The Age of Enlightenment สมัยกาลิเลโอ นิวตัน และวอลแตร์ เป็นต้น
เมื่อความคิดทางศาสนาเดิมเสื่อมลงหรือถูกแปรเปลี่ยนเป็นหลักศาสนาใหม่ ก็จะต้องมีกฎกติกามรรยาทเช่นกัน เช่น ศาสนาพุทธ ก็จะมีศีล (ข้อห้าม 5 ประการแรก) หรือมีธรรม (ข้อควรปฏิบัติ 5 ประการแรก) ความยุติธรรมหรืออยุติธรรมต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือต่อรัฐ หรือเป็นธรรมะ (ใฝ่ดี หมกมุ่นในสิ่งที่ดีงาม) หรืออธรรมมะ (ใฝ่ร้ายหมกมุ่นในอบายมุข กิเลศต่าง ๆ เป็นต้น) และในขั้นต่อไปครอบครัวและสังคมได้นำ Proto DNA นี้ไปใช้กับการประพฤติปฏิบัติแสดงออกทางกายและวาจาในสังคมนั้น ๆ อย่างไร
พ่อแม่ซึ่งเป็นยูนิตแรกของครอบครัวจะต้องปลูกฝังตัวมรรยาท ตัวแรก หรือ Proto DNA Coding นี้ก่อนคนอื่น ถ้าพ่อแม่ละเลยไม่ปลูกฝัง Proto DNA นี้ในยูนิตแรก การอยู่ร่วมในสังคมย่อมเปลี่ยนไปในที่สุด ดีหรือเลว ช้าหรือเร็ว ย่อมขึ้นอยู่กับว่าได้มีการปลูกฝังมรรยาทอย่างไรในยูนิตแรก
ตอนต่อไป ว่าด้วยเรื่องของ “มรรยาท” EP.2 ผู้ใหญ่อย่างเราควรปลูกฝังเรื่องมรรยาทแก่เด็ก ให้สามารถอาศัยอยู่ในสังคมยุค 4.0 อย่างมีความสุขได้อย่างไร?
โฆษณา