2 ก.พ. 2021 เวลา 07:45 • อาหาร
ทำไมเราถึงเกลียดอาหารบางชนิด
2
ผมกำลังคลุกเส้นบะหมี่แห้งให้เข้ากับเครื่องปรุงที่อยู่ในชามก๋วยเตี๋ยวใบเล็กตรงหน้าผม ผมใช้ตะเกียบพยายามคลุกถั่วงอกให้กระจายเข้ากับเส้นบะหมี่เหลือง ก่อนที่จะคีบสูดทานอย่างเอร็ดอร่อย เพียงไม่กี่นาที บะหมี่ชามนี้ก็หมดเกลี้ยงเหมือนชามสะอาด
4
ถ้าคุณไม่รู้จักผม คุณคงไม่คิดว่าในบะหมี่ชามที่ผมทานไป มีสิ่งที่ผมเกลียดมากอยู่อย่างหนึ่ง มันคือถั่วงอก แล้วทำไมผมไม่เขี่ยออก ทำไมผมถึงทานหมดอย่างเอร็ดอร่อย บะหมี่แห้งชามนี้ที่ผมทานมาหลายปีทำให้ผมอยากจะเข้าใจความเกลียดชังถั่วงอกของผมมากขึ้น
4
ผมเชื่อว่าเราทุกคนมีอาหารที่เราชอบมาก และก็มีอาหารที่เราเกลียดมาก ถ้าเราถามคนอื่นว่าทำไมเค้าถึงชอบหรือไม่ชอบอาหารอะไรสักอย่าง เค้าอาจจะตอบแค่ว่ามัน “อร่อย” หรือ “ไม่อร่อย” แต่ผมว่ามันต้องมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่รสชาติ ในฐานะที่ผมทำงานกับอาหารมาเป็นสิบปี ผมรู้ว่านอกจากรสชาติ “ความรู้สึก” ของเรามีผลกับมุมมองที่เรามีกับอาหารชนิดนั้น จึงทำให้เกิดคำถามในหัว ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราชอบหรือเกลียดอาหาร?
1
Image by PublicDomainPictures from Pixabay
ก่อนที่เราจะมาถามว่าทำไมเราถึง “เกลียด” อาหารบางชนิด เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เรา “ชอบ” อาหารนั้น
1
สถาบันวิจัย Monell Chemical Senses Center ซึ่งเป็นแหล่งวิจัยเกี่ยวกับประสาทการรับรู้กลิ่นและรสชาติ แยกปัจจัยเหตุผลที่ทำให้เกิดความชอบในรสชาติ ออกเป็น 3 ชนิดหลัก:
2
1. การตอบสนองความต้องการของร่างกาย – เช่นถ้าเราทานขนมหวานรสส้มทุกครั้งที่ร่างกายเราต้องการน้ำตาล เราก็จะมีความชอบรสส้มเพราะสมองจะเกี่ยวข้องความรู้สึกดีของการได้รับน้ำตาลกับรสส้ม
2. รสชาตินั้นไปคู่กับรสชาติที่เราชอบ – เช่นถ้าเราไม่เคยทานขนมปังมาก่อน แล้วเราทานคู่กับอาหารรสชาติที่เราชอบ เราก็จะชอบขนมปังมากขึ้นด้วยเช่นกัน
3. การเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว – เราเรียนรู้จากคนที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ รวมถึงอาหารที่แม่ทานระหว่างตั้งท้องก็มีผลกับความชอบรสชาตินั้นๆ เมื่อเราโตขึ้น
5
Image by LuidmilaKot from Pixabay
โอเคพอเราเริ่มจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงชอบรสชาติบางชนิดมากกว่าชนิดอื่น คราวนี้เรามาลองกลับมุมมอง ว่าอะไรคือจุดกำเนิดของความเกลียดชังในรสชาติบางชนิด
ถ้าเรามาลองหมุน 3 ข้อที่ทำให้เราเกิดความชอบ ก็น่าจะพอเห็นได้ว่ามันก็ทำให้เกิดความเกลียดได้เช่นกัน
ข้อที่ 1 ในทางกลับกันถ้าร่างกายตอบสนองกับอาหารนั้นๆ ในทางลบ เช่น ทำให้เราไม่สบาย สมองก็จะจดจำมันไว้และพยายามหลีกเลี่ยงมัน ซึ่งก็เป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ต้องทำเพื่อการอยู่รอด ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่ทานอะไรไปแล้วท้องเสียอย่างหนัก แล้วมันก็ทำให้เราไม่ทานอาหารนั้นๆ อีกเลย
ข้อที่ 2 รสชาติสามารถอยู่คู่กับอาหารที่เราชอบและมันก็สามารถอยู่กับอาหารที่เราไม่ชอบได้เช่นกัน เช่นถ้าเราไม่เคยทานขนมปังมาก่อน แล้วตอนที่ทานครั้งแรกมันทานคู่กับอาหารที่มีกลิ่นเหม็นหรือรสชาติที่เราไม่ชอบอยู่แล้ว เราก็จะเกี่ยวข้องขนมปังกับรสชาติที่แสนแย่ในครั้งนั้น ความทรงจำนี้สามารถทำให้เราเกลียดอาหารชนิดหนึ่งไปได้ทั้งชีวิต
ข้อที่ 3 ผมมองว่าเรียนรู้การสิ่งรอบตัว เป็นเหมือนความทรงจำที่เราซึมซับโดยไม่รู้ตัวเมื่อเปรียบเทียบกับข้อ 1 และ 2 ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรง เนื่องจากเราเรียนรู้และได้รับผลกระทบจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ทำให้หลายครั้งเราได้รับอิทธิพลมาโดยที่เราไม่ได้มีความทรงจำที่ชัดเจน เหมือนกับผมเองที่ก็จำไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่ชอบถั่วงอก นักวิจัยได้อธิบายว่าเราซึมซับเข้าไปในสมองถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ที่ไม่ดีโดยตรง เช่น ในตอนเด็กถ้าเราเห็นคนในครอบครัว ทานอาหารชนิดหนึ่งแล้วไม่สบายอย่างหนัก เราก็จะจดจำไปว่าอาหารนั้นคือสิ่งที่ไม่ดี ผมคิดว่ามันคงเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของการเอาตัวรอด เหมือนสัตว์ป่าที่เรียนรู้ว่าอาหารอะไรที่มีประโยชน์ และอาหารอะไรที่เป็นพิษ
2
Image by Alexas_Fotos from Pixabay
คำถามที่ตามมาในหัวผมคือ แล้วเราสามารถเปลี่ยนอาหารที่เกลียดเป็นอาหารที่ชอบได้หรือไม่?
จากที่ลองหาข้อมูล คำตอบที่หลายคนตอบตรงกันก็เปรียบเสมือนสุภาษิตไทยที่ว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ในที่นี้ วิธีที่จะทำให้เราหายเกลียดอาหารบางชนิดก็คือต้องให้ทานอาหารชนิดนั้นบ่อยๆ นั่นเอง แต่เพื่อให้เรายอมรับมันง่ายขึ้น อาจจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณ หรือปรุงอาหารนั้นๆ กับรสชาติที่เราชอบ เพื่อที่เราจะได้ปรับทัศนคติกับมันใหม่
Image by ZakiAlewadi from Pixabay
ยังไงก็ตาม เราก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ความเกลียด” อาหาร ของแต่ละคนนั้นต่างกัน เหมือนกับเหตุผลสามข้อที่ให้ไปก่อนหน้านี้ แต่ละเหตุผลก็มี “ระดับ” ที่มีผลกับจิตใจต่างกัน ปัจจัยหลักทั้งสามข้อ อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันในอาหารที่คุณทาน ซึ่งทำให้มันฝังลึกกับจิตใจและเปลี่ยนแปลงได้ยาก เช่นถ้าคุณทานส้มตำปูโดยที่คุณไม่ชอบรสชาติปูอยู่แล้ว (ปัจจัยข้อ 2) และพอทานไปแล้วก็ท้องเสีย (ปัจจัยข้อ 1) บวกกับพี่คุณก็ท้องเสียถึงขนาดต้องพาไปโรงบาล (ปัจจัยข้อ 3) เมื่อรวมสถานการณ์ทั้งหมด มันอาจจะทำให้ส้มตำปูกลายเป็นอาหารที่คุณเกลียดแบบที่ฝังลึกในจิตใจ
Image by 41330 from Pixabay
สำหรับคนที่ทำงานกับอาหารอย่างผม หลายครั้งผมต้องชิมอาหารโดยที่ไม่ใช้ความชอบส่วนตัว การชิมอาหารอย่าง ”เป็นกลาง” มันทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าสุดท้ายผมจะชอบรสชาตินั้นหรือไม่ แต่มันก็ทำให้ผมได้เข้าใจถึงบริบทของอาหารจานนั้นได้ดีขึ้น และถึงแม้ว่าเราจะไม่ชอบบางสิ่งในวันนี้ วันเวลาก็มีผลที่จะทำให้ความชอบของเราเปลี่ยนไป เพราะร่างกายเรามีการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น
ชีวิตเราต่างกัน ความชอบเราก็ต่างกันเช่นกัน ความชอบอาหารเป็นอะไรที่มีหลายปัจจัย แล้วแต่ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ผมว่ามันไม่ผิดที่ใครจะไม่ชอบอาหารอะไรสักอย่าง แต่ถ้าเราทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น เราอาจจะเริ่มเห็นว่าหลายครั้งความเกลียดนั้นมันก็เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด การขาดความรู้ หรือความเชื่อที่ผิดๆ จากคนรอบตัว ถ้าเราเริ่มจากตั้งคำถาม และทำความเข้าใจกับตัวเราเองก่อน มันอาจจะทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น และนำมุมมองนั้นมาทำให้เรามีความสุขมากขึ้นกับชีวิต
2
ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนจบครับ
นายครัว
ติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่:
Youtube: Cook's Journal โดยนายครัว
โฆษณา