2 ก.พ. 2021 เวลา 11:00 • การเมือง
พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ถูกจับตาจากประชาคมโลกอีกครั้ง หลังเป็นผู้นำกองทัพเมียนมาที่ก่อรัฐประหาร และจับกุมนางอองซาน ซูจี พร้อมสมาชิกระดับสูงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) หลายคน ซึ่งจนถึงเวลานี้ยังไม่ทราบชะตากรรมผู้ถูกจับกุม
1
กองทัพเมียนมาให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องทำการรัฐประหาร มาจากการโกงเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบก็เพิกเฉยกับข้อกล่าวหาดังกล่าว กองทัพเมียนมาจึงต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อความมั่นคงของชาติ โดยบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี แต่งตั้งประธานาธิบดีรักษาการ พร้อมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ยังถูกหลายฝ่ายจับตาว่า อาจเกี่ยวข้องกับคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายทหารที่ลดน้อยลงสวนทางกับความนิยมพรรคเอ็นแอลดีที่เพิ่มสูงขึ้นมากในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จนทำให้อาจเกิดความกังวลใจว่า พรรคเอ็นแอลดีอาจใช้ความนิยมของประชาชนเป็นเหตุผลในการเข้าไปจัดการกองทัพเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาถูกเปิดเผยว่า มีกลไกผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ซับซ้อนและมีมูลค่ามหาศาล โดยศูนย์กลางของผลประโยชน์ภายในกองทัพเมียนมา หนีไม่พ้นพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
5
วันนี้ workpointTODAY จึงรวบรวมธุรกิจที่อาจเกี่ยวข้องกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา และธุรกิจของครอบครัวผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตามการเปิดเผยของสื่อมวลชนและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เชื่อว่า เครือข่ายธุรกิจเหล่านี้อาจมีบางส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองทัพเมียนมาด้วย
⚫️ เครือข่ายธุรกิจกองทัพ รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของเมียนมา
กองทัพเมียนมาดูแลรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่างน้อย 2 แห่ง ซึ่งทั้งสองแห่งถูกขนานนามว่า เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ ของเมียนมา โดยรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ภายใต้กองทัพเมียนมา ได้แก่
1.) Myanma Economic Holdings Limited (MEHL)
2.) Myanmar Economic Corporation (MEC)
โดยทั้งสองแห่งทำธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ท่าเรือ เหมืองแร่ ธนาคาร ประกันภัย ขนส่ง เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เบียร์ที่เป็นพันธมิตรของแบรนด์เบียร์รายใหญ่ระดับโลกหลายยี่ห้อ
ข้อมูลจากการสอบสวนของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) พบว่ารัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งในความดูแลของกองทัพเมียนมา มีความเกี่ยวข้องกับอย่างน้อย 106 บริษัทในหลากหลายธุรกิจของเมียนมา โดยรายได้จากรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งทำให้กองทัพเมียนมามีอิสระทางการเงินจากรัฐบาล ซึ่งกองทัพเมียนมาอาจนำรายได้ดังกล่าวไปใช้กับนโยบายที่อาจละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล
1
โดยเฉพาะบริษัท Myanma Economic Holdings Limited (MEHL) ที่ถูกจับตาเป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่าอาจเป็นธุรกิจที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพเมียนมา
รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อปีที่แล้วเปิดเผยว่า บริษัท MEHL จ่ายเงินให้กับบุคลากรของกองทัพเมียนมาไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 540,000 ล้านบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผ่านการเข้าไปบริหารและถือหุ้นบริษัทของผู้นำกองทัพเมียนมา
ข้อมูลจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า เมื่อปี 2553-2554 พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ถือหุ้นในบริษัท MEHL จำนวน 5,000 หุ้น และได้รับเงินปันผลราว 250,000 ดอลลาร์ หรือราว 7.5 ล้านบาท
นอกจากนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบข้อมูลว่า บริษัท MEHL เคยโอนเงินมากถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 480,000 ล้านบาท ให้กับหน่วยทหารหลายหน่วย รวมทั้งหน่วยทหารที่ดูแลรัฐยะไข่ พื้นที่ที่มีรายงานว่า กองทัพเมียนมาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา
ความเชื่อมโยงระหว่างบริษัท MEHL กับกองทัพเมียนมาในทิศทางที่อาจเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทนี้ เช่น บริษัทคิริน (Kirin) ผู้ผลิตเครื่องดื่มชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น กำลังทบทวนที่จะร่วมมือกับบริษัท MEHL
1
⚫️ 'มิน อ่อง หล่าย' ถูกวิจารณ์เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว
ครอบครัวของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ประกอบธุรกิจที่หลากหลายเช่นกัน และถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่า ใช้อำนาจบารมีของพ่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับลูกๆ หรือไม่
1
โดยลูกชายของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย คือ อ่อง แพ โซน (Aung Pyae Sone) เป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้าอาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะเดียวกันยังถูกจับตาจากการทำธุรกิจร้านอาหารใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้ง จนถูกวิจารณ์อย่างมากว่า ลูกชายของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้สิทธิ์เช่าอาคารในทำเลที่ดีที่สุดในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
2
นอกจากนี้ลูกชายผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมายังเป็นเจ้าของรีสอร์ทขนาดใหญ่ที่ถูกสังคมวิจารณ์ว่า ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากพรรคพวกใกล้ชิดกับกองทัพ รวมทั้งยังได้สัมปทานจากกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวในการสร้างโรงแรมที่เมืองมรัค-อู อีกด้วย
1
ขณะที่ภรรยาของอ่อง แพ โซน ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกสะใภ้ของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก็มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้างและการพัฒนาที่ดินเช่นกัน
ส่วนบุตรสาวของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย คือ ขิ่น ทีรี เต็ด มอญ (Khin Thiri Thet Mon) มีรายงานว่าเธอเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อ ที่เซ็นสัญญาจัดการด้านการตลาดให้กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 'Mytel' ซึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจในกองทัพเมียนมา
1
ลูกสาวของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายคนนี้ยังประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในเมียนมาหลายเรื่อง จนสื่อท้องถิ่นของเมียนมารายงานว่า เธอคิดนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์ ทั้งๆ ที่พ่อของเธอมีนโยบายเข้มงวดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในประเทศ
โฆษณา