23 มี.ค. 2021 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
NBA 104 - ประวัติย่อของทีม NBA ตอนที่ 14 - Los Angeles Lakers
1
ประวัติทีม Los Angeles Lakers
ฝั่งที่สังกัด - ฝั่งตะวันตก Pacific Division
ปีที่ก่อตั้ง - 1947
ชื่อเดิม -
Minneapolis Lakers (1947-1960)
Los Angeles Lakers (1960-ปัจจุบัน)
สถานที่ตั้ง - เมือง Los Angeles รัฐ California
ชื่อสนามเหย้า - Staples Center
เจ้าของทีม - Buss Family Trusts
CEO - Jeanie Buss
GM (General Manager) - Rob Pelinka
HC (Head Coach) - Frank Vogel
ทีมสังกัดใน G-League - South Bay Lakers
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ลีก - 17 (1949, 1950, 1952-1954, 1972, 1980, 1982, 1985, 1987, 1988, 2000-2002, 2009, 2010, 2020)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ฝั่งทวีป - 19 (1972, 1973, 1980, 1982-1985, 1987-1989, 1991, 2000-2002, 2004, 2008-2010, 2020)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ Division - 33 (1950, 1951, 1953, 1954, 1962, 1963, 1965, 1966, 1969, 1971-1974, 1977, 1980, 1982-1990, 2000, 2001, 2004, 2008-2012, 2020)
จำนวนเบอร์เสื้อที่ทำการ Retired - 11 (8, 13, 22, 24, 25, 32, 33, 34, 42, 44, 52)
ประวัติทีมโดยสังเขป
ทีมได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1947 ภายใต้สังกัดของลีก National Basketball League (NBL) โดยได้ทำการซื้อสิทธิ์ต่อจาก Detroit Gems ที่ตัดสินใจยุติบทบาทลงและเข้ามาแทนที่ ภายใต้ชื่อทีมว่า Minneapolis Lakers
Minneapolis Lakers 1947 Logo
เนื่องจากทีมใช้สิทธิ์ต่อจาก Gems ที่รั้งอันดับบ๊วยของลีกมาอย่างยาวนาน ทีมจึงได้สิทธิ์การ Draft อันดับ 1 ตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งมาเลย และทีมก็ได้ใช้สิทธิ์นั้นในการเลือก George Mikan เข้าสู่ทีม
George Mikan
ผลงานของ Mikan นั้นแสดงให้เห็นได้ในทันที ทีมสามารถคว้าแชมป์ลีกได้ตั้งแต่ฤดูกาลแรกภายใต้การนำทีมของเขา ถือเป็นผลงานที่พิสูจน์ถึงความเก่งในตัวของเขาได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
หลังจากนั้นทีมก็ได้ทำการย้ายลีกเข้าสู่ลีก Basketball Association of America (BAA) ในปีถัดมา และก็สามารถคว้าแชมป์ลีกได้ตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ย้ายมาเช่นกัน น่าเสียดายที่ NBA นับแค่ BAA เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของทีมและของลีก ทำให้การได้แชมป์ลีกใน NBL ไม่ถูกนับรวมเข้าไปด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ดี ถือว่าทีมได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากตั้งแต่ช่วงก่อตั้งทีม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น้อยทีมนักที่จะทำได้เช่นเดียวกัน
น่าเสียดายที่ปี 1951 ทีมได้แพ้ให้กับ Rochester Royals (Kings ในปัจจุบัน) ในรอบชิงแชมป์สายไปอย่างน่าเสียดาย แต่นั่นก็ไปจุดประกายปลุกแรงฮึดให้ทีมสามารถคว้าแชมป์ลีกไปได้อีก 3 ครั้งซ้อนต่อจากนั้นเป็นต้นมา ซึ่งการได้แชมป์ถึง 5 ครั้งในรอบ 6 ปี ถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าทึ่งมากในขณะนั้น
นอกจากนี้ยังมีเกมในประวัติศาสตร์ในการเจอกับ Fort Wayne Pistons ที่เกมจบลงด้วยการทำแต้มในการแข่งขันที่น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของลีก กับการจบเกมด้วยแต้ม 19-18 เท่านั้น และนี่ได้นำไปสู่ที่มาของการใช้ระบบ Shot-Clock ในอนาคตอีกด้วย
อาการบาดเจ็บส่งผลให้ Mikan ต้องประกาศเลิกเล่นไปในปี 1954 ท่ามกลางความเสียดายเป็นอย่างมากของทุกฝ่าย ถึงแม้ว่าจะกลับมาเล่นอีกครั้งในปี 1956 แต่อาการบาดเจ็บเรื้อรังทำให้เขาไม่สามารถลงเล่นในเกมระดับสูงได้อีกต่อไป ก่อนจะเลิกเล่นจริงๆ ไม่นานหลังจากนั้น
การเลิกเล่นของ Mikan ส่งผลกระทบต่อยอดรายได้และยอดคนดูในสนามอย่างรุนแรง จนทำให้ทีมเกิดปัญหาทางการเงินขึ้น และต้องทำการขายทีมให้กับ Bob Short ในปี 1957
ในปีนั้น Mikan ได้กลับมาอีกครั้งในบทบาทของ Head Coach แต่ก็ไม่สามารถทำผลงานได้ใกล้เคียงกับช่วงที่เล่นอยู่แม้แต่น้อย เขาได้ลาออกกลางฤดูกาลหลังจากคุมทีมได้ไม่ดี และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมจบฤดูกาลด้วยชัยชนะเพียง 19 นัดเท่านั้น
การย้ายเมือง และกำเนิดคู่หู Baylor-West
ในปี 1958 ทีมใช้สิทธิ์การ Draft อันดับ 1 ที่มีในการเลือกสุดยอดดาวรุ่งอย่าง Elgin Baylor เข้าสู่ทีม
Elgin Baylor
Baylor และ Vern Mikkelsen ได้ผนึกกำลังจนสามารถพาทีมไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้ ก่อนที่จะถูก Celtics กำราบไป 4-0 ซึ่งถือเป็นการโดนกวาดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ลีกที่เกิดขึ้นในรอบชิงแชมป์ลีก และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเป็นคู่ปรับอย่างยาวนานของทั้งสองทีมในอนาคตอีกด้วย
จนกระทั่งในปี 1961 เจ้าของทีมจึงได้ตัดสินใจย้ายเมืองไปที่ Los Angeles หลังจากที่เห็นทีมในลีกเบสบอล (MLB) ย้ายไปแล้วได้กำไรทางด้านการเงินอย่างมาก จึงพิจารณาย้ายทีมตามไปเช่นกัน ทำให้เมือง Minneapolis ไม่มีทีมประจำลีกอีกเลย จนกระทั่งการก่อตั้งทีม Minnesota Timberwolves ในปี 1989
นอกจากที่ทีมจะเปลี่ยนเมืองแล้ว ทีมยังได้สุดยอดผู้เล่นอีกคนอย่าง Jerry West เข้าสู่ทีมเพิ่มอีกคน และทำให้ผลงานของทีมกลับมาผงาดได้อีกครั้ง ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Hawks ในรอบชิงแชมป์สายไปอย่างน่าเสียดาย
Jerry West
ในฤดูกาล 1961/62 เป็นอีกปีที่คู่หู Baylor-West โชว์ผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทีมได้พบกับ Celtics ในรอบชิงแชมป์ลีกอีกครั้ง แต่ก็โดนย้ำแค้นพ่ายแพ้ไปเช่นเดิม แถมหลังจากนั้น Lakers ก็ยังโดน Celtics ปราบไปได้ในการเจอกันอีก 2 ครั้งในรอบสามปีถัดมา ถือเป็นคู่แข่งที่ขัดขวางการเป็นแชมป์ลีกของทีมอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี Baylor ได้ทำสถิติใหม่ในรอบชิงแชมป์ นั่นคือการทำแต้มได้ถึง 61 แต้มในเกมเดียว (นับเฉพาะช่วงเวลาปกติ ไม่รวมต่อเวลาพิเศษ) และสถิตินี้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 1965 ทีมได้มีการเปลี่ยนเจ้าของเป็น Jack Kent Cooke พร้อมกับการได้สุดยอดดาวรุ่งอีกคนอย่าง Gail Goodrich เข้าสู่ทีม
Gail Goodrich
ทำให้ทีมยังสามารถรักษาผลงานที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเพียงการที่ไม่สามารถคว้าแชมป์ลีกเพิ่มได้เสียที หลังจากที่ไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้อีกในปี 1966 และ 1968 แต่ก็ต้องแพ้ให้กับคู่ปรับตลอดกาลอย่าง Celtics ไปทั้งสองครั้ง
Baylor-West-Chamberlain Big 3 ยุคแรก
ในฤดูกาล 1968/69 ทีมได้ควานหา Center ตัวสำคัญที่จะทำให้มีส่วนในการล้างแค้น Celtics ลงให้ได้ ทำให้ทีมทุมทุนคว้า Wilt Chamberlain ที่ทำผลงานได้อย่างสุดยอดกับ Sixers เข้าสู่ทีม
Wilt Chamberlain
แต่จนแล้วจนรอดทีมก็ยังล้างแค้นไม่สำเร็จ ทีมได้แพ้ให้กับ Celtics ไปอีกครั้งอย่างเจ็บปวด เพียงแต่ในรอบนี้ก็ยังมีเรื่องดีอยู่บ้าง ในคือการที่ West ได้รับรางวัล Finals MVP ที่กลายเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวที่ผู้เล่นที่ได้รางวัลนี้มาจากทีมที่แพ้ในรอบชิงแชมป์ลีก
ฤดูกาล 1969/70 ทีมกลับเข้ามาสู่รอบชิงแชมป์ได้อีกครั้ง แต่กลับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ย้ายเมืองมาที่คู่ต่อสู้ในรอบนี้ไม่ใช่ Celtics หากแต่เป็น Knicks ที่มาแทนที่ ทำให้ทีมดูมีความหวังที่จะคว้าแชมป์ลีกเพิ่มได้เสียที
แต่สุดท้ายทีมก็ยังไม่สมหวัง ถึงแม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะมีผู้เล่นที่มีอาการบาดเจ็บอยู่ด้วยก็ตาม แต่ทีมก็ทำได้ดีที่สุดเพียงแค่ยื้อไปถึงเกมตัดสินหรือเกมที่ 7 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ไปอีกครั้ง จากการแพ้ครั้งนี้ทำให้ทีมนั้นไม่สามารถคว้าแชมป์จากการเข้ารอบ Finals ไปถึง 7 ครั้งจาก 9 ปีหลังสุดเลยทีเดียว
เหตุการณ์สำคัญต่อมากลับเกิดขึ้นในต้นฤดูกาล 1971/72 หลังเกมผ่านไปได้เพียง 9 นัดเท่านั้น Baylor ก็ถึงคราต้องประกาศเลิกเล่นแบบกะทันหัน เพราะอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นส่งผลให้ตัวเขาไม่สามารถลงเล่นในเกมระดับสูงได้อีกต่อไป ทีมจึงตอบแทนด้วยการทำสถิติชนะต่อเนื่องได้ถึง 33 นัด ก่อนที่จะถูกหยุดโดย Bucks ในช่วงต้นปี 1972 ซึ่งสถิตินี้ก็ยังไม่สามารถมีทีมไหนทำลายได้จนถึงปัจจุบัน
จนกระทั่งความฝันก็กลายเป็นจริง ทีมสามารถเอาชนะ Knicks ในรอบชิงแชมป์ได้สำเร็จ และสามารถคว้าแชมป์ได้นับตั้งแต่ปี 1954 และครั้งแรกนับตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่เมือง Los Angeles อีกด้วย
น่าเสียดายที่ในปีถัดมา ทีมกลับถูก Knicks ล้างแค้น พลาดการป้องกันแชมป์ไปในที่สุด และหลังจากฤดูกาลได้จบลง Chamberlain ก็ประกาศเลิกเล่นไปอีกคน เท่ากับได้สิ้นสุดยุค Big 3 ยุคนี้ลงอย่างเป็นทางการตามไปด้วยนั่นเอง
การมาของ Kareem Abdul-Jabbar
ในปี 1975 ทีมสามารถ Trade ตัวในการคว้าสุดยอดผู้เล่นอย่าง Kareem Abdul-Jabbar มาจาก Bucks ได้สำเร็จ และเขาก็ทำผลงานได่เป็นอย่างดีตลอดช่วงเวลาที่อยู่กับทีม
Kareem Abdul-Jabbar
เจ้าตัวกลายเป็น MVP ในฤดูกาล 1975/76 กับผลงานเฉลี่ย 27.7 แต้ม 16.9 Rebounds และ 4.12 Blocks ต่อเกม แต่กลับไม่สามารถพาทีมเข้ารอบ Playoffs ได้หลังจากที่จบฤดูกาลด้วยสถิติเพียง 40-42 เท่านั้น ก่อนที่จะกลับมาได้ในปีถัดไปด้วยสถิติ 53-29 แต่ก็ตกรอบชิงแชมป์สายให้กับ Blazers ไปเสียก่อน
อย่างไรก็ดี ในปี 1977 เหตุการณ์สุดอื้อฉาวของทีมก็ได้เกิดขึ้น ในเกมระหว่าง Lakers กับ Rockets ได้มีการทะเลาะจนถึงขั้นลงไม้ลงมือกันระหว่าง Kermit Washington ของ Lakers และ Kevin Kunnert จาก Rockets
Rudy Tomjanovich เพื่อนร่วมทีมของทางฝั่ง Rockets เห็นเหตุการณ์ท่าจะบานปลาย จึงรีบวิ่งเข้าไปหวังที่จะแยกทั้งคู่ออกจากกัน แต่กลับกลายเป็นว่า Washington กลับเข้าใจผิดว่าจะมาช่วยรุมตนเอง จึงทำการสาวหมัดไปที่แก้มของ Tomjanovich แบบสุดแรง ส่งผลให้กะโหลกศีรษะในส่วนที่ถูกต่อยเกิดรอยร้าวในทันที หากเข้ารับการรักษาช้ากว่านี้อีกสักหน่อยอาจส่งผลจนถึงแก่ชีวิตได้
ผลจากการกระทำดังกล่าว ส่งผลให้ Tomjanovich เกือบจะต้องจบอาชีพในการเล่น เขาต้องพักรักษาตัวนานกว่าหนึ่งปี แถมถึงกลับมาได้ก็ไม่สามารถรักษาฟอร์มการเล่นเหมือนเดิมได้อีก ส่วนทางด้าน Washington ถูกทางลีกสั่งแบนไปทั้งสิ้น 60 เกมด้วยกัน พร้อมกับต้องจ่ายค่าปรับก้อนโตอีกต่างหาก
ส่วนผลงานของทีมนั้น ทีมจบด้วยสถิติ 45-37 ในฤดูกาลดังกล่าว และ 47-35 ในฤดูกาล 1978/79 ก่อนที่จะโดน Sonics (Thunder ในปัจจุบัน) เขี่ยตกรอบ Playoffs ไปทั้งสองปี
การมาของ Magic Johnson และยุคแห่ง Showtime
ก่อนที่ฤดูกาล 1979/80 จะเริ่มขึ้น ทีมได้มีการเปลี่ยนเจ้าของทีมเป็น Jerry Buss พร้อมกับการที่ทีมได้สิทธิ์การ Draft รอบแรกดีๆ ในมือจากการจากไปของ Goodrich ทีมจึงได้ใช้สิทธิ์การ Draft อันดับ 1 ที่ได้มาในการเลือกอนาคตสุดยอดตำนานอย่าง Earvin "Magic" Johnson เข้าสู่ทีมได้ในที่สุด
Magic Johnson
โชคร้ายที่หลังจากฤดูกาลเริ่มขึ้นได้แปปเดียว HC อย่าง Jack McKinney กลับต้องได้รับบาดเจ็บอย่างหนักจากอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถคุมทีมต่อไปได้ ทีมจึงต้องใช้บริการของ Paul Westhead ที่เป็นผู้ช่วยในขณะนั้น ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น HC อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา
น่าสนใจที่ผลงานในการคุมทีมของเขาก็ทำได้ดีเสียด้วย ทีมที่นำโดย Johnson และ Abdul-Jabbar ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม มีสถิติ 60-22 พร้อมกับการที่ Abdul-Jabbar คว้ารางวัล MVP ไปครองได้อีกครั้ง แถมรอบนี้ทีมจบฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ลีกเหนือ Sixers ในรอบชิงไปได้อย่างสวยงาม
อย่างไรก็ดี ผลงานในปีถัดไปกลับไม่สามารถรักษาฟอร์มแชมป์ได้ ทีมต้องแพ้ให้กับ Rockets ไปเพียงแค่รอบแรกของ Playoffs เท่านั้น ก่อนที่จะพบว่าปัญหาของทีมที่เกิดขึ้นมาจากแนวทางการทำเกมบุกของ Westhead และ Johnson นั้นแตกต่างกัน ทำให้ทีมไม่สามารถแสดงผลงานได้อย่างเต็มศักยภาพ
สุดท้ายทีมจึงตัดสินใจไล่ Westhead ออกหลังจากที่ฤดูกาล 1981/82 ดำเนินการไปได้เพียง 11 นัดเท่านั้น การที่ผู้เล่นสามารถกดดันให้ทีมไล่ HC ออกได้นั้นถือเป็นเรื่องที่แปลกมากในยุคดังกล่าว ส่งผลให้ Johnson โดนแฟนทีมตัวเองโห่ใส่อย่างหนักไปสักพักหนึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว
HC คนใหม่อย่าง Pat Riley ที่ขึ้นมาจากการเป็นผู้ช่วยก็ทำผลงานได้ดีไม่แพ้คนก่อนหน้าเลย ทีมจบฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ลีกได้อีกครั้ง โดยที่คู่ต่อสู้ในรอบชิงแชมป์ลีกก็เป็น Sixers เหมือนครั้งก่อน
นอกจากนั้นแล้ว จากการ Trade ที่ผ่านมา ทำให้ในการ Draft ปี 1982 ทีมยังได้ถือสิทธิ์การ Draft อันดับ 1 อยู่ในมืออีกด้วย เรื่องนี้จึงกลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ลีกที่ทีมแชมป์นั้นมีสิทธิ์ Draft อันดับ 1 อยู่ในมือแบบนี้ ก่อนที่ทีมจะตัดสินใจเลือก James Worthy เข้าสู่ทีม
James Worthy
น่าเสียดายที่ทีมยังคงไม่สามารถป้องกันแชมป์ลีกได้สำเร็จ รอบนี้ทีมกลับต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับ Sixers ชวดป้องกันแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย
ในฤดูกาล 1983/84 ทีมกลับมาเจอกับ Celtics คู่ปรับตลอดกาลในรอบชิงแชมป์ลีกอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานานหลายฤดูกาล แต่ก็ยังคงเป็น Celtics ที่เฉือนชนะไปได้ในเกมสุดท้าย ทำให้ทีมชวดแชมป์ไปอีกครั้ง
พอมาถึงในฤดูกาล 1984/85 ฉายาทีมที่ต่างก็เรียกกันว่า Showtime Era ก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ เนื่องมาจากรูปแบบในการเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจเหมือนดูการแสดงนั่นเอง มีการโชว์ลีลาลูกเล่นแปลกๆ มากมายในระหว่างการแข่งขันเพื่อเรียกเสียงฮือฮากับผู้ชมได้อย่างล้นหลามอีกด้วย
และฤดูกาลนี้ก็กลายเป็นครั้งแรกที่ทีมสามารถล้างแค้นคู่ปรับอย่าง Celtics ในรอบชิงแชมป์ลีกได้สำเร็จในเกมที่ 6 คว้าแชมป์ลีกไปได้แบบสุดยิ่งใหญ่ นำโดย Abdul-Jabbar ที่ยังโชว์ฟอร์มได้สุดยอดจนได้รับการโหวตให้เป็น Finals MVP ทั้งที่มีอายุ 38 ปีเข้าไปแล้ว
แต่ในฤดูกาลถัดมาทีมกลับไม่สามารถเข้าไปเจอ Celtics ตามนัดได้ เนื่องจากโดน Rockets ที่อยู่ในช่วงที่สุดยอดเช่นกันหวดตกรอบไปเสียก่อน ทำให้ Riley ตัดสินใจเปลี่ยนระบบการขึ้นเกมบุกมาเป็น Johnson แทน Abdul-Jabbar ที่อายุเยอะมากแล้ว
ระบบการเล่นแบบใหม่นี้ส่งผลที่ดีได้ทันที ในฤดูกาล 1986/87 ทีมจบด้วยสถิติสูงถึง 65-17 และทีมมีสถิติที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านเกมบุกและเกมรับที่แข็งแกร่ง Johnson เองยังสามารถคว้ารางวัล MVP ได้เป็นครั้งแรกในอาชีพการเล่น และพาทีมคว้าแชมป์ลีกไปได้อีกครั้งในตอนท้าย
และในปีถัดมา ทีมก็สามารถป้องกันแชมป์ลีกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกหลังจากย้ายเมืองมา จากการที่ทีมสามารถคว้าแชมป์ไปได้อย่างต่อเนื่องในฤดูกาล 1987/88 โดยรอบนี้เป็น James Worthy คว้ารางวัล Finals MVP ไปครองได้สำเร็จ
น่าเสียดายที่ในฤดูกาล 1988/89 ทีมต้องเสียทั้ง Johnson และ Byron Scott สองผู้เล่นสำคัญไปในรอบชิงแชมป์ลีกกับ Pistons ทำให้ภาระหนักกลับต้องมาตกอยู่ที่ Abdul-Jabbar และตัวเขาก็ไม่สามารถทำให้ทีมสมหวังได้ ทีมแพ้ Pistons พร้อมกับการที่ Abdul-Jabbar ประกาศเลิกเล่นหลังจบฤดูกาล
หลังจากที่ทีมได้เตรียมตัวการหาผู้เล่นมาแทนที่ Abdul-Jabbar ได้สักพัก ทีมจึงตัดสินใจคว้า Vlade Divac เข้าสู่ทีม และเขาก็กลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมเก็บชัยชนะได้ 63 นัดในฤดูกาล 1989/90 แต่ทีมกลับมีผลงานใน Playoffs ที่น่าผิดหวัง ทีมได้แพ้ให้กับ Suns ในรอบที่สองเท่านั้นท่ามกลางความแปลกใจของทุกฝ่าย จากผลงานในฤดูกาลนี้ทำให้ RIley ที่เป็น HC มาอย่างยาวนานตัดสินใจลาออกในที่สุด
Vlade Divac
จากนั้นในฤดูกาล 1990/91 Johnson ได้ก้าวข้ามผ่าน Oscar Robertson ขึ้นทำเนียบผู้เล่นที่ทำ Assists ได้สูงสุดตลอดกาลของลีกลงได้สำเร็จ ส่วนผลงานของทีมนั้น ถึงแม้ว่า HC คนใหม่อย่าง Mike Dunleavy จะทำการเปลี่ยนระบบทีมจากยุค Showtime ที่เน้นหวือหวารวดเร็ว กลายเป็นสไตล์เล่นช้าแต่เน้นชัวร์ แต่ทีมก็ยังทำผลงานได้ดี จบฤดูกาลด้วยสถิติ 58-24 พร้อมกับเข้ารอบชิงแชมป์ลีกไปได้อีกครั้ง แต่ก็แพ้ให้กับ Bulls ในยุคของ Michael Jordan ไปในท้ายที่สุด
และหลังจากจบฤดูกาล Johnson ก็ได้ประกาศต่อสาธารณะว่าตัวเขานั้นติดเชื้อ HIV และประกาศเลิกเล่นอย่างเป็นทางการในทันที เป็นอันสิ้นสุดยุค Showtime ลงโดยปริยาย
ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน
หลังจากที่ Johnson ประกาศเลิกเล่นอย่างกะทันหัน ทำให้ผลงานของทีมในฤดูกาล 1991/92 ย่ำแย่ลงกว่าฤดูกาลก่อนหน้าเป็นอย่างมาก ทีมเอาชนะได้เพียงแค่ 43 นัดเท่านั้น และจากอาการบาดเจ็บของแกนหลักคนอื่นๆ ทำให้ทีมไม่สามารถผ่านรอบแรกของ Playoffs ไปได้ ทำให้หลังจบฤดูกาล Dunleavy จึงตัดสินใจลาออกจากทีม
ในฤดูกาล 1992/93 ทีมตัดสินใจตั้งผู้ช่วยโค้ชอย่าง Randy Pfund ทำหน้าที่เป็น HC แทนคนเก่าที่ลาออกไป แต่ผลงานของทีมก็ยังไม่ดีขึ้นนัก ทีมแพ้ให้กับ Suns ตก Playoffs รอบแรกไปอีกครา
ซ้ำร้ายหลังจบฤดูกาล ทีมต้องเสียแกนหลักไปหลายคน ทั้ง Scott และ Worthy ถึงแม้ว่าทีมจะได้ Nick Van Exel มาช่วยทำแต้มให้กับทีม แต่ทั้งเขาและ Divac ก็ไม่สามารถพาทีมเข้ารอบ Playoffs ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังจากที่ทีมจบฤดูกาล 1993/94 ด้วยสถิติเพียงแค่ 33-49 เท่านั้น
Nick Van Exel
ถึงแม้ว่าทีมจะตัดสินใจปลด Pfund ออกชวงท้ายฤดูกาล และลองมอบหน้าที่ให้กับ Johnson มาคุมทีมแทน แต่ผลงานเขากลับแย่กว่าคนก่อนหน้าเสียอีก ทีมแพ้ต่อเนื่อง 10 นัดรวดในช่วงท้ายฤดูกาล 1993/94 นอกจากจะทำให้ทีมไม่ได้ผ่านเข้ารอบ Playoffs แล้ว สถิตินี้ยังเป็นสถิติที่แย่ที่สุดของทีมอีกด้วย หลังจากจบฤดูกาลจึงมีการเปลี่ยน HC อีกครั้งเป็น Del Harris ในที่สุด
ซึ่งโค้ชคนใหม่ก็ไม่ทำให้ทีมผิดหวัง ทีมจบฤดูกาล 1994/95 ด้วยสถิติ 48-34 พร้อมกลับเข้ามาสู่ Playoffs ได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะพาทีมไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Spurs ไปอย่างน่าเสียดาย
ในฤดูกาลถัดมา Johnson ทำเซอร์ไพรส์ให้กับทีมด้วยการกลับมาลงเล่นเป็นผู้เล่นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม เขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่พาทีมเข้ารอบ Playoffs ได้ แต่ก็ไม่สามารถพาทีมไปได้ไกลนัก หลังจากแพ้ให้กับ Rockets ไปใน Playoffs รอบแรก Johnson ก็ได้ประกาศเลิกเล่นไปอีกรอบหลังรู้ตัวว่าสังขารเริ่มไม่ไหวแล้วนั่นเอง
ยุคของคู่หู O'Neal และ Bryant
ก่อนที่ฤดูกาล 1996/97 จะเริ่มขึ้น ภายใต้คำแนะนำของ West ในบทบาทของหนึ่งในผู้บริหารทีม ทีมได้ตัดสินใจทำการคว้าตัว Shaquille O'Neal มาจาก Magic พร้อมกับ Trade Divac ไปให้กับ Hornets เพื่อแลกสิทธิ์ในการ Draft ดาวรุ่งอย่าง Kobe Bryant เข้าสู่ทีม รวมไปถึงการได้ Derek Fisher ที่เป็นดาวรุ่งอีกคนมาด้วย
Shaquille O'Neal และ Kobe Bryant
O'Neal พาทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 56-26 พร้อมกับทำสถิติจัดไปถึง 46 แต้มในการพบกับ Blazers ใน Playoffs รอบแรก ซึ่งถือเป็นสถิติทำแต้มที่สูงรองจาก West ในปี 1969 นู่นเลยทีเดียว ก่อนที่จะแพ้ให้กับ Jazz ไปในรอบถัดมา
ต่อมาในฤดูกาล 1997/98 ทีมได้ผู้เล่นอย่าง Rick Fox มาเสริมทีมอีกคน และดูเหมือนทีมจะเริ่มเล่นกันได้อย่างลงตัวมากขึ้น หลังจากเปิดฤดูกาลด้วยสถิติที่ดูดีที่สุดของทีมคือ 11-0 และจบฤดูกาลด้วยสถิติ 61-21 แถมเข้ารอบ Playoffs ไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Jazz เจ้าเดิม
ฤดูกาล 1998/99 ทีมก็ทำผลงานได้ไม่ดีนัก ตกรอบ Playoffs เพียงแค่รอบสอง แต่นั่นกลับเป็นสัญญาณที่ดูดีขึ้นของทีม เมื่อหลังจบฤดูกาล ทีมได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง เริ่มจากสนามเหย้าใหม่ที่กลายเป็น Staples Center และการเข้ามาของสุดยอดโค้ชอย่าง Phil Jackson ที่มาพร้อมกับระบบ Triangle Offense อันสร้างชื่อของเขาที่ทำให้ Bulls กลายเป็นทีมไร้เทียมทานมาแล้วนั่นเอง
Phil Jackson
ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 67-15 และก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ได้ทันทีตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ Jackson ได้เข้ามาคุมทีม ซึ่ง O'Neal โชว์ฟอร์มได้อย่างสุดยอด คว้ารางวัลได้ทั้ง MVP ฤดูกาลปกติและ Finals MVP ไปครอบครอง ในขณะที่ Bryant ก็มีชื่อติดทีมเกมรับยอดเยี่ยมของลีกประจำฤดูกาล ถือเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ติดทีมนี้ได้อีกด้วย
และเมื่อส่วนผสมของทีมลงตัว ก็ไม่มีทีมไหนในลีกที่จะสามารถหยุด Lakers ได้อีกต่อไป ทีมคว้าแชมป์ลีกได้อย่างต่อเนื่องในฤดูกาล 2000/01 พร้อมกับสถิติพลาดท่าแพ้เพียงแค่เกมเดียวจากทั้งหมด 16 เกมที่ลงเล่นใน Playoffs (แพ้ให้กับ Sixers ในรอบชิงแชมป์) ถือเป็นสถิติที่ดีที่สุดของลีกในเวลานั้นเลยทีเดียว
ทีมยังมีผลงานที่ยอดเยี่ยมในช่วงต้นฤดูกาล 2001/02 ด้วยการเปิดฤดูกาลด้วยสถิติ 16-1 ก่อนที่อาการบาดเจ็บจะเล่นงาน O'Neal จนต้องพักยาวจนถึงช่วงท้ายฤดูกาล แต่ทีมก็ยังสามารถประคองตัวในช่วงฤดูกาลปกติ จนมาระเบิดฟอร์มและสามารถคว้าแชมป์ได้ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3 ในท้ายที่สุด
ในฤดูกาลถัดมา O'Neal กลับต้องพักฟื้นจากอาการผ่าตัดตั้งแต่ช่วงปิดฤดูกาล ทำให้ทีมมีผลงานในช่วงแรกดูไม่ดีนัก แต่โชคดีที่ Bryant สามารถเค้นฟอร์มสุดยอดจนพัฒนาให้กลายเป็นแกนหลักอีกคนได้อย่างแท้จริง
เขาได้ทำสถิติต่างๆ มากมายให้กับเจ้าตัวและกับทีม จนเขาได้กลายเป็นแกนหลักแทน O'Neal ช่วงที่บาดเจ็บ และพาทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 50-32 แต่ยังไม่เก๋าพอที่จะประคองทีมไปได้ตลอดรอดฝั่ง จนแพ้ให้กับ Spurs ไปใน Playoffs รอบที่สอง อดทำสถิติครองแชมป์ต่อเนื่อง 4 สมัยซ้อนไปอย่างน่าเสียดาย
ปีถัดมาทีมจึงมุ่งมั่นที่จะไล่ล่าคว้าแชมป์คืนมาให้ได้ ทีมได้สุดยอดผู้เล่นทั้ง Karl Malone จาก Jazz และ Gary Payton มาจาก Sonics (Thunder ในปัจจุบัน) ทำให้ทีมแทบจะมีชุดตัวจริงที่ดูดีที่สุดในลีกฤดูกาล 2003/04 ถึงแม้ว่าอายุเฉลี่ยจะค่อนข้างสูงก็ตามที
อย่างไรก็ดี ผลงานในช่วงฤดูกาลปกติกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวังสักเท่าไหร่ ช่วงแรกทีมมีสถิติ 20-5 แต่ทั้ง Malone, O'Neal และ Bryant ต่างก็ถูกอาการบาดเจ็บเล่นงาน ทำให้ Payton ต้องกลายเป็นแกนหลักในการเล่นในระบบ Triangle ที่ตัวเองยังไม่คุ้นเคยนัก ผลงานของทีมจึงออกมาดูไม่ดีตามไปด้วยในช่วงกลางฤดูกาล
ยังดีที่ผู้เล่นแกนหลักสามารถทยอยกลับมาช่วยทีมได้ทันในช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาล ทำให้ทีมยังสามารถจบด้วยสถิติ 56-26 และเข้ารอบเป็นอันดับ 2 ของฝั่งตะวันตกได้สำเร็จ เสียดายที่ทีมชุดนี้ก็ยังไม่สามารถคว้าแชมป์ลีกได้ ทีมได้พ่ายแพ้ให้กับ Pistons ในรอบชิงแชมป์ลีกไปในที่สุด
ยุคทองของ Kobe Bryant
หลังจากจบฤดูกาล 2003/04 ทีมก็แทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ จากปัญหาภายในทีมที่เกิดขึ้ันเป็นระยะ ทำให้สุดท้ายแล้ว Jackson ก็ไม่ได้อยู่คุมทีมต่อไปหลังจากที่เรียกร้องค่าเหนื่อยที่สูงขึ้นในสัญญาฉบับใหม่
รวมไปถึงหนึ่งในสองตัวหลักอย่าง O'Neal ก็ได้ย้ายออกไป Heat สมใจเจ้าตัวที่อยากย้ายออกด้วย ส่วนตัว Bryant เองก็เกือบจะได้ย้ายทีมอยู่แล้ว แต่ตอนท้ายก็ตัดสินใจอยู่กับ Lakers ต่อไป พร้อมกับ HC คนใหม่อย่าง Rudy Tomjanovich
ในขณะที่ผู้เล่นคนอื่นอย่าง Payton ก็ย้ายไป Celtics และ Malone ก็ได้ประกาศเลิกเล่นหลังพบว่าต้องผ่าตัดเข่าเพิ่มเติม แกนหลักของทีมจึงเหลือแค่ Bryant และ Lamar Odom ที่ย้ายเข้ามาใหม่ แต่ผลงานในฤดูกาลนี้ถือว่าย่ำแย่กว่ามาตรฐานที่เคยทำได้ไว้มาก ทีมจบฤดูกาล 2004/05 ด้วยสถิติเพียง 34-48 และไม่ได้ผ่านเข้ารอบ Playoffs เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี
ปีถัดมา ทีมยังทำการเจรจากับ Jackson ได้สำเร็จ ทำให้เขากลับมาเป็น HC ของทีมและกลับมาผนึกกำลังกับ Bryant อีกครั้ง พร้อมกับการ Draft Andrew Bynum เข้าสู่ทีม
Andrew Bynum
ทีมโชคดีที่ Odom ได้พัฒนาฝีมือยิ่งขึ้นไปอีก จนสามารถกลายเป็นเหมือนผู้ช่วยให้กับ Bryant ได้ในที่สุด ทำให้ทีมจบด้วยสถิติ 45-37 และกลับเข้ารอบ Playoffs อีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่แพ้ Knicks จนตกรอบแรกไปอย่างไวเช่นกัน เช่นเดียวกันกับฤดูกาล 2006/07 ที่ตกรอบแรกเหมือนเดิม
ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นอีกครั้งถึงผลงานที่เกิดขึ้นของทีม ทำให้ Bryant เป็นหนึ่งในแกนนำของฝั่งผู้เล่นที่ได้ทำการปรึกษาเรื่องนี้กับเจ้าของทีมและ GM อย่าง Mitch Kupchak เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทีมต่อไป
ทีมเริ่มฤดูกาล 2007/08 ด้วยผลงานที่ดีเกินคาด โดยเฉพาะผลงานส่วนตัวของ Bynum ที่กลายเป็น Center หลักให้กับทีม ทรงรวมของทีมเหมือนจะดีขึ้น แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลก Bynum ได้รับบาดเจ็บเข่าอย่างรุนแรงจนไม่สามารถลงเล่นในฤดูกาลนี้ได้อีก
ทำให้ในช่วงต้นปี 2008 ก่อนที่จะถึง Trade Deadline ทีมตัดสินใจเดิมพันก้อนใหญ่ ส่งผู้เล่นหลายคนและสิทธิ์การ Draft ในอนาคตอีกหลายปีให้กับ Grizzlies เพื่อแลกกับสุดยอดผู้เล่นวงในของลีกในขณะนั้นอย่าง Pau Gasol เข้าสู่ทีม
Pau Gasol (Cr. Gettyimages)
การเดิมพันครั้งนี้ถือว่าทีมประสบความสำเร็จ Gasol สามารถเข้ามาช่วยยกระดับทีมให้บินขึ้นสูงอีกครั้งได้ในทันที ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 57-25 พร้อมกับการที่ Bryant คว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำปีไปครอง ส่วนผลงานในรอบ Playoffs ก็สามารถเข้าไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้อีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปนาน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถผ่านคู่ปรับอย่าง Celtics จนชวดแชมป์ก็ตามที
แต่ทีมก็ไม่ต้องร้องเพลงรอนานแต่อย่างใด เมื่อปีถัดมาผลงานของทีมก็ดีขึ้นกว่าเดิมอีก แถมทีมยังได้ Bynum กลับมาช่วยทีมได้ในช่วงท้ายฤดูกาล ทำให้ทีมจบด้วยสถิติ 65-17 พร้อมกับการหวนกลับมาคว้าแชมป์ลีกได้อีกครั้งในรอบหลายปีของทีม สิ้นสุดฤดูกาล 2009/10 ไปแบบยิ่งใหญ่สุดๆ
เท่านั้นยังไม่พอ ฤดูกาล 2010/11 ทีมก็สามารถกลับมาป้องกันแชมป์ลีกได้สำเร็จอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการหวนเจอกับ Celtics เหมือนกับที่เจอเมื่อปี 2008/09 แต่หนนี้ Lakers ล้างแค้นเอาชนะไปได้สำเร็จ โดย Bryant ก็ได้คว้ารางวัล Finals MVP ไปตามความคาดหมายนั่นเอง
แต่ดูเหมือนความสำเร็จของทีมชุดนี้จะจบลงอยู่แค่ตรงนั้น จากฤดูกาล 2011/12 ที่ทีมตกรอบเพียงแค่ Playoffs รอบที่สองให้กับ Mavericks พร้อมกับการแยกทางกับ Jackson อีกครั้งหลังจบฤดูกาล
หลังจากนั้นทีมจึงมีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นอีกครั้ง ทีมได้สุดยอดผู้เล่นทั้ง Steve Nash และ Dwight Howard เข้าสู่ทีม ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้อยู่ในช่วงพีคของอาชีพการเล่นแล้วก็ตาม แต่ก็ทำให้ทีมได้รับความสนใจอีกครั้งจากชื่อชั้นของผู้เล่นที่มีอยู่ในทีม
แต่จนแล้วจนรอดผลงานของทีมชุดใหม่นี้ก็ทำได้ไม่ใกล้เคียงกับของเดิมแม้แต่น้อย ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 45-37 และตกรอบเพียงแค่ Playoffs รอบแรกเท่านั้น ทำให้ผู้เล่นบางคนต้องออกจากทีมไปหลังจบฤดูกาล ซึ่งผลจากการ Trade ผู้เล่นหลายคนออก ส่งผลให้ฤดูกาล 2013/14 ทีมจบด้วยสถิติเพียง 27-55 ถือเป็นผลงานที่ย่ำแย่เอาเรื่อง ที่แทบไม่เห็นเลยตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุคไล่ล่าแชมป์เป็นต้นมา
สิ้นสุดยุคของ Bryant และเข้าสู่การสร้างทีมใหม่
หลังจากจบฤดูกาล 2013/14 ที่ทีมยังทำผลงานได้ไม่ดีนัก หนึ่งในแกนหลักอย่าง Gasol ก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่กับ Bulls แทน ทำให้แกนหลักในตอนนี้เหลือเพียง Btyant ที่สภาพร่างกายและฟอร์มการเล่นไม่เพียงพอที่จะแบกทีมด้วยตัวคนเดียวอีกต่อไป
ทำให้ในฤดูกาล 2015/16 เจ้าตัวตัดสินใจที่จะประกาศเลิกเล่นหลังจากจบฤดูกาล ถึงแม้ว่าผลงานของทีมจะดูไม่ดีเช่นเดิม แต่นัดสุดท้ายในการเล่นของเขานั้น กลับทำไปถึง 60 แต้มในเกมที่เจอกับ Jazz ทำให้กลายเป็นหนึ่งในเกมที่น่าจดจำประจำฤดูกาลดังกล่าวไปเลยทีเดียว
ทีมได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารทีมอีกครั้งหลังจากการจากไปของ Bryant ทั้งการเปลี่ยนแปลง HC อย่าง Byron Scott เป็น Luke Walton, การเปลี่ยนแปลง GM อย่าง Kupchak เป็น Rob Pelinka และการที่ Magic Johnson กลับมาเป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการให้กับทีม
อย่างไรก็ดี ผลงานในปี 2017 และ 2018 ทีมก็ยังไม่ดีพอที่จะทำผลงานกลับเข้ารอบ Playoffs ได้ หรือจะเรียกว่าทีมยังไม่สามารถหาผู้เล่นมาอุดช่องว่างที่หายไปจาก Bryant ได้นั่นเอง
เข้าสู่ยุคปัจจุบัน
จนกระทั่งปี 2018 ทีมสามารถคว้าเอาสุดยอดผู้เล่นแห่งยุคอย่าง LeBron James เข้าสู่ทีม ทีมจึงเริ่มมีความหวังในการไล่ล่าหาแชมป์อีกครั้ง ถึงแม้ว่าผลงานในฤดูกาล 2018/19 จะจบด้วยสถิติเพียงแค่ 37-45 ก็ตาม
LeBron James
จนกระทั่งในปีถัดมา ทีมสามารถคว้าสุดยอดผู้เล่นอีกคนอย่าง Anthony Davis มาจาก Pelicans ได้ ทำให้ทีมมีคู่หูแกนหลักใหม่ที่พร้อมจะไล่ล่าความสำเร็จอีกครั้งแล้ว
และทีมก็สามารถทำได้จริงๆ ในฤดูกาลล่าสุดหรือฤดูกาล 2019/20 ที่ทีมสามารถคว้าแชมป์สมัยที่ 17 ได้สำเร็จเสียที ทำให้กลายเป็นทีมที่สามารถครองแชมป์มากที่สุดเทียบเท่ากับ Celtics ที่ทำได้มาก่อนแล้วนั่นเอง
นอกจากนั้นทีมยังมีโอกาสที่จะแซงหน้าไปได้อีกด้วย หากว่าการที่กลายเป็นเต็งหนึ่งที่จะสามารถคว้าแชมป์ในฤดูกาลนี้จากการคาดการณ์ของหลายฝ่ายได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา คงต้องรอดูกันต่อไปว่าทีมจะสามารถป้องกันแชมป์ได้สำเร็จหรือไม่ต่อไป
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา