Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A-ROUND
•
ติดตาม
3 ก.พ. 2021 เวลา 04:30 • สัตว์เลี้ยง
"เกลือ" ยาสามัญประจำบ้านของคนเลี้ยงปลา
ว่าด้วยเรื่อง เกลือ เกลือ เกลือนั้นมีสารพัดประโยชน์ในหลากหลายด้าน รวมไปถึงในวงการคนเลี้ยงปลาสวยงามที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็น "ยาสามัญประจำบ้าน” ของหมู่คนรักปลาสวยงาม และเชื่อเหลือเกินว่าทุกบ้านที่เลี้ยงปลาสวยงามต้องมีติดบ้านไว้ตลอด ขาดไม่ได้เลยเด็ดขาด
ทว่าการเลือกใช้เกลือกับปลาสวยงามอันแสนน่ารักของเราก็มีทั้งประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน งั้นเรามาทำความรู้จักกับเกลือให้มากขึ้นกันเถอะ
เกลือที่สามารถนำมาใช้กับปลาของเราได้ต้องเป็นเกลือที่ไม่ผสมสารอาหารเสริมใด ๆ ลงไป เช่น ไอโอดีน (ที่ถูกผสมลงไปในเกลือปรุงอาหาร) ดังนั้นเกลือที่สามารถนำมาใช้ได้กับปลาคือเกลือธรรมดาๆนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเกลือทะเล แบบเกร็ดหยาบ แบบละเอียด สามารถนำมาใช้ได้หมดเลย
ที่มา: onefox pixabay.com
เกลือมีประโยชน์อย่างไรกับปลาล่ะ? และเมื่อปลาป่วยทำไมเราจะนึกถึงเกลือเป็นอย่างแรก? เหตุเพราะเกลือสามารถควบคุมและจำกัดเชื้อโรค เชื้อรา โปรโตซัว ปรสิต และพยาธิบางส่วนในน้ำได้เบื่องต้น และสามารถหาได้ง่ายมากๆ จึงถูกนำมาใช้เป็นยารักษาปลาเบื่องต้น
อย่างไรก็ดีประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของเกลือก็คือการปรับค่าความสมดุลของตัวปลาเอง ทั้งค่าความเป็นกรดเป็นด่าง เป็นต้น โดยวิธีการปรับค่าความสมดุลนี้ต้องผ่านการถ่ายโอนน้ำระหว่างน้ำภายในตัวปลาและน้ำภายนอกตัวปลาสลับสับเปลี่ยนกันให้มีความสมดุลเท่าเทียมกัน หรือเรียกว่าการออสโมซิส (Osmosis Pressure) ซึ่งเจ้าปลาของเราเนี่ยจะนำน้ำเข้าออกร่างกายตลอดเวลา จึงทำให้ต้องใช้พลังงานค่อนข้างมากในส่วนนี้ แล้วเจ้าเกลือพระเอกของเราเนี่ยไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้คล่องตัวขึ้น หรือเป็นเครื่องทุ่นแรงชั้นดีนั้นเอง ดังนั้นปลาจึงสามารถแบ่งพลังงานจากจุดนั้นมาใช้ประโยชน์กับส่วนอื่น ๆ ได้
บางท่านอาจจะสงสัยแล้วว่ามันเกี่ยวอะไรกับการรักษาปลาล่ะ? มาว่ากันต่อ เมื่อเจ้าปลาขาดความสมดุลในร่างกายปลาจะเกิดอาการ "เครียด" (Stress) ขึ้น เมื่อปลามีอาการเครียดมาก ๆ สะสมกันไปเรื่อย ๆ ปลาจะรู้สึกไม่สบายตัวและส่งผลต่อกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของปลาจะแย่ลง ยกตัวอย่างเช่น การลดประสิทธิภาพของระบบเมือกลง มีการปล่อยเมือกออกมาในปริมาณที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับความต้องการของร่างกาย แต่เอ้..... แล้วระบบเมือกเกี่ยวอะไรกับภูมิคุ้มกัน ถ้าพูดง่าย ๆ เมือกปลาอาจจะเหมือนผิวหนังของเราที่คอยป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ เมื่อปลาผลิตเมือกได้น้อยลงจึงส่งผลให้เชื้อโรคที่ก่อเกิดโรคต่าง ๆ ก็สามารถใช้โอกาสนี้เข้ามาในร่างกายได้ง่ายขึ้น และสร้างความเสียหายในที่สุด
ต่อมาว่าด้วยเรื่องของการใส่เกลือให้กับปลาต้องใส่ให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำ จึงจะทำให้ปลาสามารใช้ประโยชน์กับเกลือได้ อย่างสูงสุด โดยใช้เกลือประมาณ 0.2-0.3 กรัม ต่อ น้ำ 1 ลิตร ถ้าเทียบเป็นขนาดของตู้ทั่วไป ดังนี้
ตู้ขนาด 24 นิ้ว 2 ช้อนโต๊ะ
ตู้ขนาด 36 นิ้ว 3 ช้อนโต๊ะ
ตู้ขนาด 48 นิ้ว 4 ช้อนโต๊ะ
ตู้ขนาด 72 นิ้ว 6 ช้อนโต๊ะ
ด้วยปริมาณเท่านี้สามารถใส่ได้ทุกครั้งเลยเมื่อมีการเปลี่ยนน้ำใหม่ เป็นการช่วยป้องกันโรคได้เบื่องต้น และทำให้ปลาร่าเริงดูอารมณ์ดี
ปลาทองที่ดูไม่ร่าเริงคล้ายมีอาการป่วย ที่มา:epicioci pixabay.com
แต่ถ้าหากปลามีอาการป่วยแล้ว เช่น โรคหางเปื่อย ตัวเปื่อย อาการขับเมือกไม่ปกติ หรือเป็นแผลภายนอก สามารถแยกปลาออกมาขังเดี่ยวและใส่เกลือ 2-5 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร และแช่ไว้เป็นเวลา ไม่เกิน 30 นาที (เพราะปริมาณความเค็มสูงเกินไป ปลาน้ำจืดอาจจะไม่สามารถทนได้เป็นเวลานาน) เพื่อให้ความเค็มควบคุมและฆ่าเชื้อโรคที่ทนต่อความเค็มไม่ได้ออกไป จากนั้นให้เปลี่ยนน้ำใหม่แล้วใส่เกลือป้องกันตามปกติในสูตรป้องกันด้านบน แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกโรคที่มีแค่เกลือก็สามารถรักษาปลาได้ บางโรคของปลาอาจต้องการยาที่ใช้รักษาเฉพาะโรคนั้น ๆ
ปลาแต่ละชนิดมีความสามารถในการทนความเค็มของเกลือได้มากน้อยไม่เท่ากัน เช่นปลาคาร์ฟ ปลาทอง สามารถทนความเค็มได้ค่อนข้างสูง ในทางกลับกันปลาจำพวก ปลาไม่มีเกร็ด ปลาประเภท Cat fish ปลาแพะ ปลาปอมปะดัวร์ เป็นปลาที่มีความไวต่อสภาพน้ำอาจจะไม่ชอบเกลือสักเท่าไหร่ ดังนั้นหลังใส่เกลือไปต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการปลาของตนเองอยู่ตลอด เมื่อเกิดความผิดปกติควรเปลี่ยนน้ำทันที
ปลาปอมปาดัวร์ (Discus fish) ที่มา: Bergadder pixabay.com
ข้อควรระวังอีกอย่างไม่ควรใส่เกลือลงไปในตู้ปลาเลยตรง ๆ ควรละลายเกลือกับน้ำด้านนอกก่อนแล้วค่อยเทน้ำเกลือที่ละลายหมดแล้วลงในตู้ปลาได้ ไม่อย่างงั้นเกลือที่เป็นก้อนจะละลายเป็นกระจุกอยู่ในบริเวณเดียวและความเข้มข้นของเกลือสูงเกินไปในบริเวณนั้น อาจส่งผลเสียต่อปลาที่ว่ายผ่านไปมาในบริเวณนั้นได้
เกลือไม่สามารถละเหยตามน้ำได้ ดังนั้นเมื่อน้ำระเหยไม่ต้องเติมเกลือเพิ่ม ปริมาณเกลือยังเท่าเดิมอยู่ในตู้ไม่ไปไหน แต่หากมีการดูดน้ำเก่าออกแล้วเปลี่ยนน้ำใหม่กลับเข้าไป สามารถใส่เกลือในน้ำใหม่ของเราในปริมาณที่เหมาะสมได้เลย
โดยสรุป การใส่เกลือในปริมาณน้ำที่เหมาะสมให้กับปลาอันแสนน่ารักของเรา อาจจะเรียกว่าเป็นการช่วยปรับสภาพน้ำ ควบคุมเชื้อโรคเบื่องต้น และเป็นการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับปลา ทำให้ปลามีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ร่าเริง และสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างปกติ และเมื่อปลาแฮปปี้ คนเลี้ยงก็แฮปปี้ที่ได้เห็นลูก ๆ ของเราว่ายน้ำอย่างมีความสุข
TAN A-ROUND
อ้างอิงข้อมูล
1
- ประสบการณ์การเลี้ยงปลาสวยงามของตนเอง
-
https://aafsociety.com/เกลือกับปลาสวยงาม/#:~:text=เกลือจะไปช่วยทำให้,ยังช่วยกระตุ้นให้ปลา
-
https://home.kku.ac.th/pracha/Water.htm
- เพจ Fish Club Thailand คลับคนรักปลาประเทศไทยhttps://www.facebook.com/Thaifishclub/posts/202192080357730/
2 บันทึก
7
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย