3 ก.พ. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
ส่องบริษัทไทย ที่เข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา
นักธุรกิจไทย ห่วง เมียนมาถูกคว่ำบาตร ฉุดเศรษฐกิจ กระทบธุรกิจที่เข้าไปลงทุน หวั่นมีผลต่อธุรกิจสัมปทาน ปตท.สผ.แจงผลิตก๊าซต่อเนื่อง “เอ็กโก”หวังรัฐบาลใหม่ทบทวนสัญญาทวาย
ส่องบริษัทไทย ที่เข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา
การรัฐประหารในเมียนมา เช้าวานนี้ (1 ก.พ.) นำโดย พลเอกอาวุโส มินห์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ ทำให้เมียนมาย้อนกลับไปถูกปกครองด้วยทหารอีกครั้ง และกลายเป็นประเด็นที่นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงผลของการประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผย สิ่งที่นักธุรกิจไทยในเมียนมาเป็นห่วง คือ การที่ต่างชาติจะประกาศคว่ำบาตรการค้ากับเมียนมา ซึ่งจะกระทบผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา ซึ่งผลกระทบด้านอื่นในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนนักเพราะเมียนมายังไม่มีประกาศที่มีผลต่อการดูแลการลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติในเมียนมา
นอกจากนี้นักลงทุนไทยในเมียนมาส่วนใหญ่ทำธุรกิจนำเข้าสินค้า และตั้งโรงงานผลิตเพื่อป้อนให้กับตลาดภายในเมียนมาเป็นหลักจึงไม่ค่อยผลิตเพื่อการส่งออก จึงอาจได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรไม่มาก แต่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่เศรษฐกิจเมียนมาซบเซาลงจากการคว่ำบาตร
ทั้งนี้ สภาธุรกิจไทย-เมียนมา กังวลการทำข้อตกลงหรือสัญญาที่เอกชนไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่ถูกรัฐประหาร ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลใหม่จะสานต่อหรือไม่ โดยไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมาและบริษัทชั้นนำจำนวนมากของไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมา เช่น กลุ่ม ปตท. เอสซีจี แม็คโคร บีเจซี โดยในประเด็นนี้จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปเมียนมาคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะในอดีตที่รัฐบาลทหารปกครองเมียนมาและถูกคว่ำบาตร แต่ไทยก็ส่งสินค้าได้ปกติเพราะมีชายแดนติดต่อกว่า 2,400 กิโลเมตร มีช่องทางธรรมชาติมาก และแม้ปิดด่านการค้าชายแดนก็ยังส่งออกไปได้ แต่จะติดขัดการส่งออกสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องจักร รถยนต์
“สถานการณ์ขณะนี้ เมียนมาปิดด่านการค้าชายแดนที่แม่สายไปแล้ว ส่วนด่านใหญ่ที่สุด คือ ด่านแม่สอด ยังไม่ปิดด่าน แต่สินค้าไทยไม่สามารถเข้าเมืองย่างกุ้งได้ เพราะทหารได้ปิดเมือง ในขณะนี่ด่านอื่นๆ ยังคงเปิดตามปกติ”
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)บริษัทอีเวนท์รายใหญ่กล่าวว่า อินเด็กซ์ได้เข้าไปทำธุรกิจในประเทศเมียนมาตั้งแต่ปี 2553มีประสบการณ์ในตลาดพอควระละจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้ เห็นว่ายังไม่มีอะไรน่าตกใจแต่อย่างใดง
ทั้งนี้ในระยะสั้นนั้นธุรกิจอีเวนท์ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่แล้ว ส่วนระยะยาวเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มการเติบโตช้าลงเท่านั้น
รวมทั้งสิ่งที่ต้องจับตาคือแรงกดดันจากชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศเมียนมา ซึ่งอาจส่งผลดีกับธุรกิจของไทยได้ แต่ทั้งหมดต้องดูว่ารัฐบาลรักษาการจะมีนโยบายกับประเทศไทยอย่างไร แต่เชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากทหารเหมือนกัน น่าจะมีแนวทางการหารือกันง่ายขึ้น
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเมียนมาและทำตลาดมาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเบื้องต้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ แต่สิ่งที่เป็นห่วงและไม่ต้องการให้เกิดขึ้นคือความรุนแรง
นายฤทธี กิจพิพิธประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN กล่าวว่า การรัฐประหารที่เมียนมาไม่ผลกระทบต่อการลงทุนและก่อสร้างโรงไฟฟ้ามินบู ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ เพราะสัญญาPPAนั้นได้มาก่อนที่นาง อองซาน ซูจี จะกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลเมียนมา
สำหรับโรงไฟฟ้ามินบูเฟส 2 กำลังก่อสร้างขนาด 50 เมกะวัตต์ จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ปลายปีนี้ ส่วนเฟส 3 และเฟส 4 จะทยอย COD ภายในปี 2566
“ในส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามินบูในส่วนที่เหลือเราจะทยอยสร้างพร้อมกัน ทำให้จะทยอยซีโอดี ในเวลาไม่ห่างกันมาก ซึ่งโรงไฟฟ้าที่เฟส2 ถึง 4 กำลังการผลิตที่ 170 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เงินลงทุนรวม 7-8 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้เดินหน้าตามแผนไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร”
1
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทมองหาโอกาสการลงทุนในเมียนมา ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผนเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกลุ่มอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ไอทีดี) แต่ถูกสั่งระงับสัญญาสัมปทาน
ทั้งนี้ ล่าสุดไอทีดีได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยให้ช่วยเจรจากับเมียนมาเพื่อเดินหน้าโครงการต่อ โดยภาคเอกชนไทยยังหวังว่าจะได้ดำเนินโครงการ เพราะได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และหากโครงการเดินหน้าได้จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์
“เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในเมียนมาเพิ่งเกิดขึ้น ดังนั้นต้องติดตามสถานการณ์อีกระยะ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังมองหาโอกาสลงทุน แต่การจะเข้าไปหรือไม่ต้องประเมินหลายด้าน”
2
โฆษณา