3 ก.พ. 2021 เวลา 11:01
การสร้างสะพานข้ามคลองชุดที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “เจริญ” ในสมัยรัชกาลที่ ๖
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า”เฉลิม” ขึ้นหลายแห่ง มาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างสะพานชุด “เจริญ” โดยมีตัวเลขจำนวนปีพระชนมพรรษาต่อท้าย และมีอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ประดับที่ราวสะพานทั้งสองฝั่งเช่นเดียวกับสะพานชุดเฉลิมโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างสะพานชุดนี้เรียงลำดับมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่สองในรัชกาล คือ
๑.สะพานเจริญรัช ๓๑ ข้ามคลองคูเมืองเดิม ตำบลปากคลองตลาด
๒.สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ ข้ามคลองมหานาค ที่ถนนกรุงเกษม
๓.สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ ข้ามคลองบางกอกใหญ่ ที่ถนนอิสรภาพ
๔.สะพานเจริญศรี ๓๔ ข้ามคลองคูเมืองเดิม บริเวณวัดบุรณศิริมาตยาราม
๕.สะพานเจริญทัศน์ ๓๕ ข้ามคลองวัดสุทัศน์เทพวราราม ที่ถนนบำรุงเมือง
๖.สะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่ถนนเจริญกรุง หน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ
และ ๗.สะพานเจริญศรัทธา ข้ามคลองเจดีย์บูชา จังหวัดนครปฐม เพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างสถานีรถไฟนครปฐมกับองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นสะพานคอนกนรีตเสริมเหล็กแห่งแรกที่สร้างขึ้นในหัวเมือง
ภาพ: สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ (ต่อมาเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับอยู่บนรถม้าพระที่นั่ง) บริเวณหน้าพระทวารเทเวศรักษา พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ขณะกำลังจะเสด็จโดยรถม้าพระที่นั่งไปพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในคราวเสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่ ๒
โฆษณา