12 ก.พ. 2021 เวลา 13:51 • นิยาย เรื่องสั้น
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : #9
มายาคติ (Myth) คติที่ถูกสมมุติขึ้น
"ดูสิ เด็กสองคนกำลังจับปลาในน้ำกัน"
เสียงใสๆ ของเด็กผู้หญิงวัยประถมต้นสองคนที่ยืนดูภาพและคุยกันอยู่ข้างๆ ผม "แล้วแม่ของเขาก็กำลังยืนดูลูกอยู่บนฝั่ง"
ผมคิดขำในใจ ภาพขนาดใหญ่ตรงหน้านี้ผมพยายามดูตั้งนานว่าเป็นภาพอะไร เด็กตัวเล็กๆ กลับมองเห็นเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่าเรา อายเด็กมั๊ยล่ะ
บรรยากาศในวันนี้ของพิพิธภัณฑ์ดูคึกคักเต็มไปด้วยเด็กนักเรียนเล็กๆ ที่เดินกันเป็นกลุ่มๆ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ดูภาพต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้ คงเป็นชั่วโมงทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน...
Night Fishing at Antibes - Pablo Picasso (1939) : Museum of Modern Art, New York
"เราเคยไปบึงแบบนี้กับพ่อแม่นะ ไว้เราไปเที่ยวด้วยกัน" เด็กอีกคนที่ยืนข้างกันคุยกับเด็กคนแรก "ดี..ดี.. เราจะไปบอกแม่เราให้พาไปหาเธอกับแม่เธอ" เด็กคนแรกตอบด้วยใบหน้าเป็นประกาย
1
บทสนทนาของเด็กสองคนทำให้ผมย้อนคิดถึงวัยเด็กที่ทุกอย่างดูง่าย ทุกวันมีแต่ความสุขและสนุกสนานไม่ต้องกังวลกับอะไร ต่างกับตอนโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ หน้าที่ที่เป็นไปตามความคาดหวังในชีวิตที่แต่ละคนต้องก้าวไปให้ถึง
"อยากไปเที่ยวบึงกับเด็กๆ หรือ?" เสียงพูดกระเซ้าเบาๆ ของอลิซทำให้ผมออกจากภวังค์ความคิด และถามกลับไปด้วยความงุนงง "อะไรนะ"
"เปล่า...เห็นคุณยืนนิ่งมองเด็กๆ คุยกัน เลยนึกว่าอยากไปเที่ยวกับเด็กบ้าง" อลิซ พูดด้วยหน้าที่อมยิ้มและหัวเราะเบาๆ คำตอบของอลิซทำให้ผมต้องยิ้มแบบเขินๆ พลางตอบว่า
"ผมพยายามมองว่าภาพนี้สื่อความหมายอะไร เด็กมองภาพแบบง่ายดีนะ บางทีถ้าเราหัดมองโลกด้วยสายตาของเด็ก อะไรๆ ก็อาจจะง่ายขึ้นมากทีเดียว"
1
อลิซมองที่ภาพแล้วก็เอ่ยขึ้นว่า “ ปิกาโซ (Pablo Picasso) พูดว่า It took me four years to paint like Raphael, but a lifetime to paint like a child.....ความหมายคงเป็นแบบที่คุณพูดนั่นแหละ...."
เธอพูดต่อว่า "พอเราโตขึ้น เราถูกหล่อหลอมด้วยสังคมและค่านิยมในสังคม จนเป็นมายาคติที่เรายึดถือกันด้วยความเคยชิน"
1
"มายาคติที่เราเคยชินอย่างนั้นหรือ?"
ผมพูดพลางคิดว่า...แล้วอะไรคือมายาคติที่อลิซพูดถึงล่ะ?
"ใช่ มายาคติที่ทำให้เราหลงคิดหรือเข้าใจผิดว่าคือเรื่องจริง คือสิ่งที่เราต้องยึดถือ"
อลิซพูดจบก็ก้าวออกเดิน "เราไปดูอีกภาพของปิกาโซ ที่สะท้อนด้านสองด้านของโลกมายากับโลกความจริงกันดีกว่า" ผมรีบก้าวตามเธอไปยังห้องนิทรรศการที่อยู่ชั้นบน
Credit : www.pablopicasso.org
ห้องนิทรรศการชั้นบนมีบรรยากาศที่ค่อนข้างสงบ คงเพราะเด็กนักเรียนไม่ได้ขึ้นมาบนนี้ เราสองคนเดินมาหยุดที่ภาพผลงานของปิกาโซ ภาพนี้มีขนาดไม่ถึงครึ่งของภาพ Night Fishing at Antibes ที่เราเพิ่งเดินจากมา
"Girl before a Mirror" ผมอ่านชื่อของภาพ ภาพนี้เหมือนเป็นภาพของผู้หญิงสองคน...คนหนึ่งยังสาว ขณะที่อีกคนหนึ่งดูเหี่ยวย่นสูงวัย เมื่อผมมองอย่างตั้งใจผมกลับเห็นเป็นภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังมองเงาในกระจก แต่ภาพในกระจกดูเหมือนผู้หญิงที่หน้าตาโทรมและหดหู่ไม่เหมือนกับตัวเธอ
อลิซพูดกึ่งถามว่า "เธอคิดว่าสาวสวยด้านซ้ายของภาพ กับผู้หญิงที่เหี่ยวย่นทางด้านขวา ด้านไหนคือด้านความจริง ด้านไหนคือด้านมายาล่ะ"
"คง...ต้องเป็นผู้หญิงสาวทางซ้ายสิคือความจริง ใช่หรือเปล่า" ผมตอบตามความเข้าใจ....ก็ชื่อภาพบอกไว้อย่างนั้น
อลิซตอบว่า "ผู้หญิงเหี่ยวย่นที่อยู่อีกด้านของกระจกต่างหากที่เป็นความจริง"
Girl before a Mirror - Pablo Picasso (1932) : Museum of Modern Art, New York
"มายาคติที่ตีกรอบจากค่านิยมและความเชื่อเดิมๆ ของสังคมทำให้เธอคิดว่าความสวยงามคือคุณค่าแท้จริงของผู้หญิง โลกมายาคติของเธอทำให้เธอยึดติดกับเรื่องรูปลักษณ์จนปิดบังรูปลักษณ์สังขารที่แท้จริงของเธอที่เป็นโลกความจริงของเธอที่อยู่อีกด้านของกระจกในภาพไงล่ะ " คำอธิบายของอลิซทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่เธอต้องการสื่อ
1
"ไม่เชื่อเลยว่าผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีอย่างเธอจะมีมุมมองลึกซึ้งขนาดนี้" ผมรู้สึกทึ่งแต่ก็อดไม่ได้ที่หยอกเธอแบบขำๆ
อลิซหัวเราะอย่างชอบใจแล้วพูดด้วยเสียงกวนๆ ว่า "คุณมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของฉันแล้วล่ะ รูปร่างหน้าตาสวยๆ ของฉันคงเป็นเพียงมายาคติเท่านั้นนะ" ผมหัวเราะพลางคิดในใจว่าเธอมีทั้งมายาคติภายนอกและตัวตนภายในที่น่าทึ่งพอกันนั่นแหละ แต่ไม่พูดออกไปดีกว่า...
"คุณพูดถึงเรื่องอาชีพวางแผนภาษีของฉัน เลยนึกขึ้นมาเล่นๆว่า ภาษี เป็นมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมาหรือเปล่า? ....เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเอาเงินจากเรา" อลิซถามขึ้น
2
"ก็น่าคิดนะ... เราถูกปลูกฝังว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดี และถ้าเราไม่เสียภาษีเราก็จะมีความผิด" ผมตอบเธอ
อลิซนิ่งคิดแล้วพูดว่า "การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองดี... ถ้าคิดให้ดีๆ ..มายาคติที่แฝงไว้ในข้อความนี้น่าจะเป็น-การเป็นพลเมืองดี-มากกว่านะ"
1
"การเป็นพลเมืองดี ทำให้เรายินยอมที่จะเสียภาษีตามที่เขาเรียกเก็บ จริงด้วย!" ผมเห็นด้วยกับเธอ
"ความจริงก็คงไม่มีใครอยากเสียภาษีเกินจำเป็น ก็เลยต้องให้เธอช่วยวางแผนภาษีใช่หรือเปล่า" "ขอบคุณนะ ฟังแล้วงานของฉันมีคุณค่าขึ้นมาทันที ช่วยคนจากมายาคติ...อืม...เข้าท่า น่าภูมิใจจัง" อลิซตอบแบบติดตลก
นั่นสิ ทำไมเราต้องเสียภาษีสารพัดชนิด มีรายได้ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ พอเอาเงินไปใช้ก็ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะรับหรือจ่ายเงินก็เสียภาษี แล้วเราจะเสียภาษีไปทำไมกัน? เพราะมายาคติทางสังคมของการเป็นพลเมืองดีอย่างนั้นหรือ!
"ถ้าผมเทียบภาพของปิกาโซภาพนี้กับมายาคติเรื่องการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองดี หญิงสาวสวยในภาพก็คงเป็นมายาคติเรื่องพลเมืองดีที่ครอบตัวจริงของเธอเอาไว้ใช่หรือเปล่า.." ผมเพิ่งเข้าใจความหมายที่ปิกาโซซ่อนไว้ในภาพต่างๆ เป็นแบบนี้เอง"
"ปิกาโซ เป็นศิลปินสุดอัจฉริยะคนหนึ่งเลยล่ะ ถ้าคุณศึกษาผลงานของปิกาโซ จะเห็นได้ว่าเขาเริ่มวาดภาพตามแนวทางศิลปะตะวันตกดั้งเดิม พอโตขึ้นแนวภาพของเขาก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แน่นอนสิ่งที่เขาสื่อในภาพก็พัฒนาไปตามระยะเวลาด้วย" อลิซมีความรู้เรื่องศิลปะสมัยใหม่ดีทีเดียว
1
First Communion, 1896 by Picasso ภาพสีน้ำมันภาพแรกที่ปิกาโซวาดในช่วงที่เรียนในโรงเรียนศิลปะ (Courtesy of www.PabloPicasso.org)
"โลกศิลปะกับมายาคติอยู่คู่กันมาตลอด ในยุคเดิมที่ศิลปินทำงานรับใช้ชนชั้นสูงและศาสนา มายาคติที่อยู่ในงานศิลปะมักเป็นเรื่องของศาสนา เรื่องของการปกครอง ทำให้คนถูกควบคุมด้วยมายาคติต่างๆ ผ่านงานศิลปะ จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ศิลปินมีอิสระในการผลิตงานมากขึ้น มายาคติในงานศิลปะก็เริ่มถูกนำมาใช้ในด้านตรงกันข้ามเพื่อสะท้อนความคิดของศิลปินที่ไม่เห็นด้วยกับมายาคติต่างๆ"
1
อลิซหันมามองผมแล้วพูดต่อว่า "คุณเข้าใจคำพูดที่ว่า It took me four years to paint like Raphael, but a lifetime to paint like a child.....หรือยัง คำพูดนี้คือการสะท้อนเรื่องการถูกครอบงำและหลุดพ้นจากมายาคติของปิกาโซไงล่ะ"
จากนั้นอลิซก็พูดว่า "หิวแล้วล่ะ ไปกินข้าวกันดีกว่า ก่อนที่เราจะถูกมายาคติครอบงำไปมากกว่านี้ พีร์เบื่ออาหารไทยหรือยัง ถ้ายังไม่เบื่อเราไปร้านอาหารไทยที่ถนน 48 ตะวันตกกันมั๊ย..."
"วันนี้ฉันพาคุณมาดูภาพศิลปะที่แสดงด้านสองด้านพร้อมกันตามที่เคยรับปากไว้แล้วนะ" อลิซยิ้มเล็กๆ ที่มุมปาก "ฉะนั้นอาหารมื้อนี้คุณเป็นคนเลี้ยงนะ"
Guernica, 1937 by Picasso ภาพวาดสีน้ำมันในช่วงหลังๆ ที่มีชื่อเสียงของปิกาโซ ในแนวทางบาศกนิยม (Cubism) และ ลัทธิเหนือจริง (Surrealism),  Museo Nacional Centro de Arte Reina Sofía, Paris
มายาคติแม้จะไม่มีคำตอบหรือการพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นจริงหรือไม่จริง แต่ก็ครอบงำความคิดและการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ของเรามานาน ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเราแยกแยะความเป็นมายาและความจริงได้ เราก็จะสามารถปรับตัวรับมือการสิ่งต่างๆ ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
1
โลกการเงินการลงทุนก็มีเรื่องเหล่านี้เช่นเดียวกัน หลักการที่เราเคยยึดถืออาจไม่ได้ผลอีกต่อไป การศึกษาความรู้สร้างความเข้าใจอย่างจริงจังอาจช่วยให้เราค้นหาความจริงในเรื่องต่างๆ ได้ ไม่ใช่เพียงการรับข้อมูลมาแล้วเชื่อตามนั้น
คนเขลา : พยายามเปลี่ยนความจริงให้ตรงกับความเห็น
คนฉลาด : พยายามเปลี่ยนความเห็นให้ตรงกับความจริง
1
หมายเหตุ : อลิซเคยรับปากพาพีร์ไปชมงานศิลปะที่แสดงด้านมืดและด้านสว่างพร้อมกันใน "จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : #4 กับอีกด้านที่(อาจ)มองไม่เห็น"
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : ศิลปะกับการเงิน เริ่มจากการทดลองเขียนเรื่องสั้นตามคำแนะนำที่ได้รับจากคุณกู๊ด และ คุณเรื่องสั้นๆ ครับ โดยนำไอเดียเรื่องสั้นแนวศิลปะของพี่บี เพจให้เพลงพาไป มาเชื่อมโยงกับเรื่องการเงินพื้นฐาน แต่ละตอนถูกเขียนให้มีตัวละครที่เชื่อมโยงกัน แต่ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์สมมุติเพื่อความบันเทิง อาจมีบางส่วนจากเรื่องราวหรือตัวตนของบางท่านที่นำมาใช้เป็นโครงของเรื่อง และเป็นมุมมองของผมซึ่งอาจยังไม่ถูกต้องครบถ้วน
ตัวละครและเรื่องราวทั้งหมดในเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่สมมุติขึ้นโดยไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่หรือชี้นำใดๆ และบางส่วนอาจอิงข้อมูลที่ค้นจากแหล่งต่าง รวมทั้งการแต่งขึ้นตามจินตนาการที่ไม่เป็นจริงในประวัติศาสตร์ ผมขอขอบคุณที่มาของข้อมูล ภาพประกอบ เจ้าของประโยคข้อความต่างๆ และผู้ที่ถูกเชื่อมโยงทุกคนไว้ ณ ที่นี้ครับ
หากสนใจประวัติของ ปิกาโซ สามารถศึกษาได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Pablo_Picasso หรือแหล่งอื่นๆ เช่นกัน
โฆษณา