4 ก.พ. 2021 เวลา 08:10 • การ์ตูน
Deathnote การต่อสู้ของอุดมการณ์และความเชื่อทางศีลธรรมระหว่างไลท์และแอล
Deathnote สมุดมรณะ เป็นผลงานชิ้นตำนานของ Takeshi Obata.ที่ไม่เพียงแต่มีลายเส้นอันสวยสดงดงามเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องที่โดดเด่นสะดุดตาและแฝงไปด้วยเนื้อหาอันลึกซึ้งเกี่ยวกับประเด็นทางศีลธรรม โดยภายในเรื่องจะเล่าถึง ชายคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ยานามิ ไลท์ ที่บังเอิญได้พบสมุดมรณะ หรือ Deathnote โดยสมุดเล่มนี้สามารถเขียนถึงชื่อใครก็ได้ลงไป ซึ่งผู้ที่ถูกเขียนชื่อลงไปก็จะต้องตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ และไม่สามารถระบุตัวผู้ฆ่าได้เลย นั้นเท่ากับว่า ยานามิ ไลท์นั้นมีอำนาจในการฆ่าผู้อื่นได้โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบผลการกระทำของตน เพราะถึงฆ่าไปก็ไม่สามารถมีผู้ใดมาสามารถเอาผิดเขาได้
โดย ยานามิ ไลท์ เขามีความเชื่อลึกๆว่า การที่ใช้หนังสือเล่มนี้ฆ่าคนชั่วให้หมดโลก โลกนั้นจะกลายเป็นโลกในอุดมคติที่จะไม่มีผู้ใดจะต้องถูกฆ่าหรือมีผู้บริสุทธิ์คนใดจะต้องเดือดร้อนจากอาชญากรรมอีกต่อไป ดังนั้นเขาจึงคิดว่าการกระทำของเขานั้นถือว่ามีความชอบธรรมและเป็นการกระทำที่ถูกต้องดีแล้ว แต่อย่างไรก็ดี แผนการฆ่าคนชั่วให้หมดโลกก็ต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและพยายามขัดขวางหนึ่งในนั้นก็คือ แอล นักสืบลึกลับผู้ซึ่งพยายามตามหาตัว ไลท์ มาเอาผิดให้ได้ โดยการต่อสู้ระหว่าง ไลท์และแอลนั้น นอกจากจะสะท้อนถึงไหวพริบปฏิภาณและความฉลาดของแต่ละคนแล้ว ยังได้สะท้อนถึงความเชื่อทางศีลธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละคนอีกด้วย
โดยแอลนั้นจะยึดหลักจริยศาสตร์แบบ Deontological ซึ่งเป็นจริยศาสตร์ที่เน้นไปที่ตัวการกระทำและเจตนาของผู้กระทำ การกระทำที่ดีจะต้องเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎทางจริยศาสตร์ที่คงเส้นคงวา เป็นเหตุเป็นผล และไม่ไหลไปตามอารมณ์หรืออคติ กล่าวคือในความคิดของแอล การฆ่าคนนั้นผิดด้วยตัวของมันเอง มันผิดกฎทางจริยธรรมและผิดศีลธรรม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะส่งผลอย่างไรก็ตามมันก็ผิดอยู่ดี ดังนั้นการกระทำของไลท์จึงไม่ใช่การกระทำที่ดีเพราะไลท์กระทำผิดกฎศีลธรรมตามความคิดของแอล
แตกต่างจาก ไลท์ ซึ่งยึดหลักจริยศาสตร์แบบ Teleological ในลักษณะที่ยึดถึงอรรถประโยชน์เป็นหลัก กล่าวคือ หากต้องยอมเสียสละหรือกระทำการใดๆก็ตาม ถ้าผลที่เกิดขึ้นนั้นนำมาสู่ความสุขโดยรวมของคนหมู่มากแล้วการกระทำนั้นย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องและมีความชอบธรรม ดังตัวอย่างเช่นที่ไลท์กระทำการฆ่าคนชั่วให้หมดเพื่อผลความสุขของผู้คน การกระทำนั้นย่อมไม่ผิดศีลธรรมแต่อย่างใด
กล่าวโดยสรุปก็คือ การที่ทั้งสองต่อสู้ห้ำหั่นซึ่งกันและกัน นั้นก็เพราะว่าทั้งสองยึดหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ดี เราก็ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดหรอกครับว่า เกณฑ์หรือความคิดของใครนั้นถูกต้องกันแน่ ซึ่งเราก็คงต้องนั่งขบคิดกันต่อไปละครับว่าสรุปแล้วใครกันที่กระทำสิ่งที่ถูกต้อง แล้วคุณล่ะ คิดว่าใครกระทำสิ่งที่ถูกต้องกันแน่ (สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะครับ ^=^)
"Do the right thing because it is right,"
"จงทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง "
immanuel kant
โฆษณา