4 ก.พ. 2021 เวลา 15:41 • การศึกษา
👳🏾‍♀️👳🏿👳🏻‍♂️ดังนั้น...จะมาเป็นแขกเหมือนกันไม่ได้
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
แขก หมายถึง ผู้มาหา ผู้มาแต่อื่น ผู้ที่มาร่วมงานพิธีของเจ้าภาพ บางทีเรียกว่า แขกเหรื่อ คนบ้านอื่นที่มาช่วยทํางานนอกจากนี้ยังหมายถึงคําเรียกชาวอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน เนปาล ชวา มลายู ชาวเอเชียตะวันออกกลางและตะวันออกใกล้ ยกเว้นชาวยิว แอฟริกาเหนือ และ นิโกร
คนไทยสมัยโบราณ ก็ได้แบ่งกลุ่มย่อยๆ ของชนชาติ ‘แขก’ เหล่านี้โดยอาศัยความแตกต่างของภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นใน ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ หรือ 'เรื่องนางนพมาศ' ที่สันนิษฐานว่าเป็นวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ ไว้หลายกลุ่ม ดังนี้
“แขกอาหรับภาษา ๑ แขกมห่นภาษา ๑ แขกสุหนี่ภาษา ๑ แขกมั่งกะลี้ภาษา ๑ แขกมะเลลาภาษา ๑ แขกขุร่าภาษา ๑ แขกฮุยหุยภาษา ๑ แขกมลายูภาษา ๑ แขกมุหงิดภาษา ๑ แขกชวาภาษา ๑ แขกจามภาษา ๑ แขกพฤษภาษา ๑”
-แขกอาหรับ คือ ชาวอาหรับ (Arab) ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติเซมิติก (Semitic) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในแถบตะวันออกกลางอย่างเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ บริเวณคาบสมุทรอาหรับ
-แขกมห่น บางที่เรียก "มะหง่ล" หรือ "มะหงุ่น" มาจากคำว่า โมกุล (Mughal) ซึ่งเป็นมุสลิมที่สืบเชื้อสายจากชาวมองโกลที่ปกครองอินเดียในศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ คำนี้ใช้เรียกมุสลิมที่เดินทางมาจากอินเดียแบบรวมๆ โดยอาจจะไม่ได้เป็นคนในอินเดียก็ได้ ซึ่งก็มีหลักฐานสมัยสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่าทหารม้าชาวอิหร่านในอินเดียถูกเรียกว่า "โมกุล" เช่นเดียวกัน
-แขกสุหนี่ หมายถึงชาวมุสลิมนิกายซุนนี (Sunni) ซึ่งเป็นนิกายที่มุสลิมส่วนใหญ่นับถือ ยกเว้นในแถบอิหร่านซึ่งนับถือนิกายชีอะหฺ
-แขกมั่งกะลี้ หรือ บังกะหล่า หมายถึงชาวเบงกาลี (Bengali) ซึ่งอยู่ในแถบตอนเหนือของอินเดียหรือในบังกลาเทศ
-แขกมะเลลา ไม่ทราบชัด อาจจะหมายถึงชาวมุสลิมที่อยู่ในมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
-แขกขุร่า น่าจะหมายถึง กุรข่า (Gurkha) ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มทหารของเนปาล
-แขกฮุยหุย หมายถึงชาวหุย (Hui) ซึ่งเป็นมุสลิมในประเทศจีน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากมุสลิมหลายชนชาติที่เดินทางมายังจีนตั้งแต่สมัยโบราณเช่นอาหรับ เปอร์เซีย
-แขกมลายู หมายถึง ชาวมลายู (Melayu) หรือ มาเลย์ (Malay) คือชนชาติที่อาศัยอยู่ทางใต้บริเวณคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ คือบริเวณภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย
-แขกมุหงิด หมายถึง บูกิส (Bugis) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย
-แขกชวา หมายถึง ชาวชวา (Jawas) ซึ่งอาศัยอยู่บนหมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
-แขกจาม หมายถึง ชาวจาม (Chams) ซึ่งเคยตั้งอาณาจักรจามปาทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม
-แขกพฤกษ ไม่ทราบแน่ชัด
นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ เช่น
-แขกมักกะสัน ซึ่งคือชาวมากัสซาร์ (Makassar) จากสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย
-แขกเจ้าเซ็น ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคำเรียกมุสลิมชีอะหฺซึ่งส่วนมากเป็นเปอร์เซีย ซึ่งมุสลิมชีอะหฺจะทำพิธีกรรมที่เรียกว่า 'พิธีเจ้าเซ็น (มุฮัรรอม/มะหะหร่ำ Muḥarram)' ซึ่งเป็นการรำลึกถึงอิหม่ามฮุเซ็นที่ถูกสังหาร โดยเป็นไปได้ว่าคนไทยในอดีตจะเรียกชาวเปอร์เซียจากพิธีกรรมดังกล่าว
-แขกตานี คือชาวปาตานี หรือ จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน
หลายครั้งพอพูดถึงคำว่า “แขก” เรามักจะนึกถึงอินเดียก่อน ยกตัวอย่างใน MV 2021 ราตรี ที่กลิ่นอายของอินเดียมาเต็มไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ดอกดาวเรืองต่าง ๆ พิธีกรรมของพราหมณ์-ฮินดู รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ล้วนยำใหญ่คัลเจอร์อินเดีย ในขณะที่อะลาดินกับยักษ์จินนี่ (ญิน) เป็นเรื่องหนึ่งในนิทานอาหรับราตรี (One Thousand and One Nights หรือ Arabian Nights) แสดงถึงเรื่องราวแสดงถึงวัฒนธรรมอิสลาม ไม่ใช่พราหมณ์-ฮินดูแบบใน MV
ขอบคุณเนื้อหาเรื่องของแขกใน ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ หรือ 'เรื่องนางนพมาศ' จากเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์
โฆษณา