5 ก.พ. 2021 เวลา 00:36 • สุขภาพ
ผู้สูงวัยทุกชาติทุกภาษามักพูดตรงกันว่า " แก่แล้ว...ไม่มีอะไรดีเลย " แม้จะเป็นคำกล่าวซึ่งบ่งบอกถึงความรู้สึกแง่ลบ แต่ก็มีข้อดีในแง่ที่จะทำให้เราไม่ประมาท เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยแห่งความเสื่อม เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย เราจึงควรจะระวังป้องกันและรักษาสุขภาพให้ดี
หากแต่ยังมีสุภาษิตทางตะวันตกอีกบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า " อย่าโศกาที่จะแก่เฒ่า อภิสิทธิ์นี้ใช่มีได้ทุกคน " เป็นมุมมองแห่งการมองโลกแง่ดี เมื่อพิจารณาถึงความหมายก็จะเข้าใจว่าเป็นการมองความแก่ชราว่าเป็นสิทธิ์ที่เหนืออีกหลายๆคน ซึ่งเสียชีวิตก่อนวัยชรามากมาย เช่น ประสบอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บ อันเป็นเหตุในเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ บางคนเสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือวัยรุ่น ก็มีให้เราเห็น
อย่างไรก็ตามมีอีกมุมมองหนึ่งในทางพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนทางสายกลางในเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการป่วยที่ท่านผ่านการศึกษาเรียนรู้และทดลองเองแก่คณะแพทย์ที่ร่วมถวายการรักษาท่านพุทธทาสอาพาธใหญ่ด้วยภาวะหัวใจวายและน้ำท่วมปอดครั้งสุดท้าย ปลายปี 2534 ความว่า
"ความรู้สึกต่อการป่วยก็พรรค์นั้นเอง เช่นนั้นเอง ตามบาลีเรียกว่าตาม อิทัปปัจจยตา คือตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
ปรุงแต่งไปทางไหนไปทางนั้น ปรุงแต่งไปในทางเจ็บป่วยก็เจ็บป่วย ปรุงแต่งไปในทางหายมันก็หาย เรามีเหตุปัจจัยปรุงแต่งไปทางป่วย ก็ได้ป่วย เรียกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรไปนัก รักษาแก้ไขเยียวยาไปตามเช่นนั้นเอง ป่วยก็เช่นนั้นเอง รักษาก็เช่นนั้นเอง หายหรือไม่หายก็เช่นนั้นเอง คำว่าเช่นนั้นเองคือธรรมชาติ นี่หลักธรรมะก็มีเรื่องเดียวเท่านั้นแหละ เช่นนั้นเองตามกฎอิทัปปัจจยตา กฎธรรมชาติ เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นไปตามเหตุตามปัจจัยตามสมควรแก่เหตุปัจจัย ไปในทางบวกก็ได้ ไปในทางลบก็ได้ เรียกว่าอิทัปปัจจยตาเสมอกันหมด เป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่ง ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว แต่เรามารู้สึกเอาเองว่าถ้าพอใจก็เรียกว่าดี ถ้าไม่พอใจก็เรียกว่าชั่ว นี่คือมนุษย์ ส่วนธรรมะนั้นมันเป็นเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง ที่เรียกว่าอยู่เหนือเจ็บ เหนือตาย เหนือเกิด เหนือแก่ เป็นเพียงเช่นนั้นเอง แต่มันก็ทำยากในจิตใจคน ถ้าทำได้มันก็ไม่มีปัญหา คือไม่มีความทุกข์ รักษาก็รักษาไปโดยไม่ต้องมีความทุกข์ หายก็เช่นนั้นเอง ไม่หายก็เช่นนั้นเอง เรากำลังเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นเช่นนั้นเอง มีลักษณะที่หายก็ได้ ตายก็ได้ ไม่หายเจ็บต่อไปก็ได้ อย่าต้องหนักอก หนักใจ หรือเป็นทุกข์ในเรื่องนั้น เจ็บก็เช่นนั้นเอง ไม่เจ็บก็เช่นนั้นเอง "
จงลงทุนกับสุขภาพของตัวเองเราเอง
จะเห็นว่าทั้ง 3 มุมมองนี้ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับการเตรียมตัวสู่ผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ และไม่ได้ขัดอะไรกับสิ่งที่ผู้เขียนได้กระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญของโภชนาการและการออกกำลังกาย จากประสบการณ์ของผู้เรียบเรียงในฐานะที่เป็นแพทย์อยู่ด้วยนั้น ปัญหาซึ่งพบบ่อยคือผู้ป่วยหลายคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง เนื่องจากขาดแรงบันดาลใจ ดังนั้นเราอาจนำเทคนิคการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) มาใช้สร้างแรงจูงใจในการออกกำลังกาย โดยอาศัยความรู้ ความเข้าใจโดยเฉพาะจากการศึกษาวิจัยใหม่ๆ นั่นเอง หากเรารู้และเข้าใจถึงเหตุผลและผลดีของการออกกำลังกายมากพอจนมันท่วมท้นอารมณ์ คือความเบื่อหน่ายหรือเกียจคร้านในการออกกำลังกาย จะเกิดเป็นแรงผลักดันให้เราออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตัวอย่างข้อมูลจากการศึกษาวิจัยใหม่ๆเช่นการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสมองและร่างกายผ่านสาร BDNF ( Brain-derived neurotrophic factor) ซึ่งเป็นสารซึ่งมีบทบาทในการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท มีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมต่อของใยประสาท (synaptic plasticity ) รวมไปถึงการพัฒนาและการเชื่อมต่อของใยประสาทเดนไดร์ท (dendrite) ในสมอง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้และความจำ แม้ว่า BDNF ส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ70-80 จะมาจากใยประสาท แต่เรายังสามารถพบ BDNF ได้ในเนื้อเยื่ออื่นๆของร่างกายอีกด้วย BDNF จึงมีบทบาทต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมน้ำหนักตัว ภาวะสมดุลของพลังงานในร่างกาย นอกจากนั้น BDNF ยังมีบทบาทสำคัญต่อโรคหัวใจ โรคทางเมตาบอลิค และโรคด้านประสาทจิตเวชอีกด้วย ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความสำคัญของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองและร่างกาย (brain-body interactions) การขาด BDNF สัมพันธ์กับโรควิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ โรคสมองเสื่อม โรคอ้วน ภาวะต้านอินซูลิน (insulin resistance) โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคของหลอดเลือด และยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคอัมพาต (stroke/TIA.) อีกด้วย
BDNF จึงเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยสำคัญของประโยชน์ที่ร่างกายของเราจะได้รับจากการออกกำลังกาย มีการศึกษาวิจัยถึงผลของการออกกำลังกายทำให้ระดับ BDNF ในร่างกายเพิ่มขึ้น ทั้งในสมอง ในเลือด รวมไปจนถึงภายในเซลล์กล้ามเนื้อด้วย ดังนั้นเราอาจนำสาร BDNF มาเป็นแรงบันดาลใจให้เราออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ
ในฐานะของผู้เรียบเรียง แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะมีศัพท์วิชาการทางการแพทย์อยู่ค่อนข้างมาก แต่หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราเข้าใจเหตุปัจจัยของร่างกายเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา อาการอะไรเรียกว่าปกติคือเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือ ความเสื่อมไปตามวัย และอะไรเป็นสัญญาณผิดปกติ เป็นโรคภัยซึ่งต้องให้ความสำคัญ ต้องเฝ้าระวัง หรือต้องไปพบแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการรักษาสุขภาพและป้องกันโรคต่างๆ เพื่อให้เราสูงวัยอย่างมีปัญหาน้อยที่สุดหรือมีตามสมควรแก่เหตุปัจจัย แต่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
น.พ. กมล แสงทองศรีกมล
ผู้เรียบเรียง
โฆษณา