5 ก.พ. 2021 เวลา 03:31 • ปรัชญา
“ปรัชญากับความงาม เมื่อมนุษย์มองความหมายของความงามมีค่ามากกว่ารูปลักษณ์”
ความงามที่แท้จริงคืออะไร? แบบไหนถึงจะเรียกว่างาม?
1
.
คำถามนี้ล้วนเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน หากมองในมุมมองคนส่วนใหญ่ทุกคนต่างคิดว่าความงามเป็นสิ่งตายตัว หากมองที่วัตถุใดวัตถุหนึ่ง จะพิจารณาได้ว่างามหรือไม่นั้นคงตอบได้ไม่ยาก เพราะทุก ๆ คนล้วนต่าง มีเกณฑ์ความงามในใจอยู่แล้ว ซึ่งเกณฑ์ ในที่นี้อาจมาจากรูปทรง รูปลักษณ์ภายนอกของสิ่งที่พิจารณา โดยส่วนใหญ่เราจะพิจารณาความงามจากสัมผัสของมนุษย์ คือ รูป รส กลิ่น และ เสียง หากมีรูป รส กลิ่น เสียง ตรงตามเกณฑ์ความงามที่มนุษย์ตั้งไว้ เราจะบอกได้ว่ามัน “สวยงาม” อาทิเช่น ใบหน้าของมนุษย์ตามสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) นั่นหมายความว่าเราใช้ Golden Ratio เป็นเกณฑ์ในการบ่งบอกว่ามนุษย์ที่มีใบหน้าสวยงามจะต้องมีใบหน้าตรงกับสัดส่วนนี้
สัดส่วนทองคำ หรือ Golden Ratio
แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่? คำตอบคือเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เพราะแต่ละคนมองความงามต่างกัน คนที่มิได้มีสัดส่วนใบหน้าตามข้างต้น ก็สามารถถูกมองว่างดงามได้เช่นกัน กล่าวคือ การให้คุณค่าความงามจากรูปเนื้อแบบนี้ ถือว่าความงามเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด และมันอยู่ในเนื้อของวัตถุ เมื่อมีรูป รส กลิ่น เสียง ตรงตามเกณฑ์ เราจะสามารถบอกได้ว่างาม เราจะเรียกทัศนะนี้ว่า “ความงามเป็นสมบัติของวัตถุ(Beauty as the Quality of an object)”
2
.
ในทางกลับกันความงามมิเพียงสัมผัสได้จาก รูป รส กลิ่น เสียง ที่ใช้เพียงประสาทสัมผัสพิจารณาทรวดทรงของวัตถุและอธิบายออกมา แต่เรายังใช้สิ่งอื่นพิจาณาความงามได้ นั่นคือ ”ความรู้สึกเพลิดเพลินทางจิตใจ(Beauty as the Feeling of pleasure)” เพราะสมองของมนุษย์มีการพัฒนามากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น การเสพความงามของวัตถุ จึงมิได้เป็นการเสพเพียงแค่ภายนอก แต่เรายังสามารถใช้จิตใจประเมินคุณค่า ความงามอาจขึ้นอยู่กับความเคยชินเฉพาะบุคคลหรืออารมณ์ของบุคคลในขณะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า เนื้อหนังมังสา รูป รส ต่าง ๆ มิใช่ของจริง แต่ความจริงแท้มีเพียงจิตใจของมนุษย์เท่านั้น และมนุษย์เป็นผู้สร้างมาตรฐานของความงามขึ้นมานั่นเอง
Winnie Harlow นางแบบโรคด่างขาวที่เคยผ่านการฆ่าตัวตาย อันมีสาเหตุมาจากรูปลักษณ์
ทั้งนี้ หากมีดอกกุหลาบสองดอกวางอยู่ในแก้วน้ำ
-ดอกแรกเป็นดอกกุหลาบสีแดงสด ใบและกิ่งก้านเรียวยาว มีหนามแหลมคม เพราะได้รับการเพาะปลูกในสภาพแวดล้อมชั้นเลิศ
-ดอกที่สองเป็นดอกกุหลาบสีแดงที่เหี่ยวเฉา จึงทำให้กลีบดอกมีสีที่แห้งและร่วงโรย กิ่งและก้านต่างก็มีสีเขียวเเก่ไปจนถึงน้ำตาล แสดงให้เห็นว่าดอกกุหลาบดอกนี้ใกล้ถูกย่อยสลายสู่ผืนดิน
.
คำถามคือ ดอกกุหลาบดอกไหนงดงามกว่ากัน?
ความงามของดอกกุหลาบขึ้นอยู่กับตัวดอกกุหลาบเอง หรือขึ้นอยู่กับผู้มอง?
ซึ่งตามทัศนะคนส่วนใหญ่อาจมองว่า ดอกกุหลาบดอกแรกต้องสวยงามกว่าอย่างแน่นอน ซึ่งตรงกับทัศนะ ‘Beauty as the Quality of an object ‘ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความงดงามเป็นสิ่งตายตัว การเสพความงามของดอกกุหลาบจึงมาจากคุณค่าภายนอก หรือสิ่งที่เรามองเห็นผ่านรูปทรงสีสัน แต่ในทางกลับกัน ดอกกุหลาบดอกที่สองก็สวยงามในตัวมันเอง เเม้มิได้มีความงามตามเกณฑ์อย่างดอกแรก แต่ดอกกุหลาบดอกที่สองอาจสวยงามในยามอารมณ์เศร้า หรือตามความชื่นชอบของผู้เสพความงาม จึงเป็นการมองดอกกุหลาบแบบ ‘Beauty as the Feeling of pleasure’
1
ดอกกุหลาบสองแบบที่แตกต่างกัน
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม บนโลกนี้ ต้องมีอะไรกลาง ๆ เสมอ ดังนั้นจึงมีแนวคิด “ความงามเป็นภาวะสัมพัทธ์(Beauty as Relation)” อธิบายว่า ความงามนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทั้งสองอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ตัวบุคคล หรือ วัตถุ เพราะทั้งสองต่างทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน คือผู้ที่สนใจกับสิ่งที่ดึงดูดความสนใจ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม ฝนฟ้าอากาศโดยรอบ ซึ่งในกรณีของดอกกุหลาบในข้างต้น แนวคิดนี้จะกล่าวได้ว่า ดอกกุหลาบจะงามก็ขึ้นอยู่กับทั้งผู้มองและดอกกุหลาบด้วย หากผู้มองไม่มีประสบการณ์ก็ยากที่จะมองดอกกุหลาบให้สวยงาม และในขณะเดียวกันหากดอกกุหลาบไม่ส่งแรงดึงดูดต่อผู้มอง มันก็ยากที่จะทำให้ผู้มองเห็นว่าดอกกุหลาบมีความงาม
1
.
หรือสุดท้ายแล้วความงามของดอกกุหลาบอาจเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความงามเป็นอุบัติการณ์ใหม่(Beauty as emergent)”
คือคุณค่าของความงามนั้น ล้วนเกิดจากจิตใจมนุษย์และวัตถุ ล้วนมีอารมณ์และเหตุผลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนไปได้ตามเกณฑ์ของแต่ละบุคคล แต่วัตถุจะยังคงเดิมไม่ว่าเราจะรับรู้ความงามของวัตถุนั้นได้หรือไม่ แต่ทุกสิ่งล้วนมีความงามอยู่ และความงามอาจไม่สำคัญเท่ากับคุณค่าของวัตถุนั้น อาทิ ดอกกุหลาบดอกไหนจะสวยกว่ากัน นั่นไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ ดอกกุหลาบดอกไหนจะสร้างประโยชน์ได้มากกว่ากัน อย่างดอกกุหลาบเหี่ยวเฉาที่กำลังจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยดินแก่พืชทั้งปวง จึงมีคุณค่ามากกว่าดอกกุหลาบสีสันสดใส ที่แค่งดงามเฉย ๆ แต่ไม่มีคุณค่าใด
.
ชัดเจนแล้วว่าความงามนั้น สามารถมองได้หลายมุมมอง หลายรูปแบบ อะไรที่ว่าสวยว่างามสำหรับคนกลุ่มหนี่ง มันอาจไม่ได้สวยงามสำหรับคนอีกกลุ่มเสมอไป
แล้วความงามในรูปแบบของคุณล่ะ เป็นแบบไหน? กุหลาบจะสวย สวยเพราะตัวมัน หรือสวยอยู่ที่คุณมอง ?
หรือขึ้นอยู่กับทั้งสองอย่าง?
หรือสุดท้ายแล้วความสวยงามนั้นไม่สำคัญแต่การสร้างประโยชน์ต่อสิ่งอื่นนั้นสำคัญกว่า?
อ้างอิง
โซเปนฮาวเออร์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุเชาว์ พลอยชุม.( 2545). สุนทรียศาสตร์ ปัญหาและทฤษฎีเกี่ยวกับความงามและศิลปะ. กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย.
เอกลักษณ์ มาลีทิพยว์รรณและหอมหวล บัวระภา.(2552). ศึกษาวิคราะห์แนวความคิดเรื่องสุนทรียศาสตร์ ของอิมมานูเอลคานต์ที่มีอิทธิพลต่องานจิตรกรรมตะวันตกในยคุโรแมนติค ,(การศึกษาอิสระ). ขอนแก่น :มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
โฆษณา