8 ก.พ. 2021 เวลา 01:30 • สุขภาพ
COP 26 Glasgow Climate Change Conference
COP26 การประชุมโลกร้อนที่มีการจัดขึ้นทุกปลายปี ต้องเลื่อนไปเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากโควิด-19 ปีนี้จะเป็นอย่างไร
COP (The Conference of Parties) หรือการประชุมโลกร้อน เป็นการประชุมระหว่างผู้แทนประเทศสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อหารือและกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาและการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน
COP 1 จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1995 ณ กรุงเบอร์ลิน และในปีที่แล้ว ค.ศ. 2020 มีแผนการประชุมครั้งที่ 26 หรือ COP 26 ณ Scottish Event Campus (SEC) เมืองกลาสโกว์ ประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศไอร์แลนด์เหนือ แต่การประชุมดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
มีคนถามไถ่กันเข้ามาว่า COP26 ในปี ค.ศ. 2021 ที่มีกำหนดจัดงานในช่วงปลายปีระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน 2021 จะยังมีการจัดขึ้นหรือเปล่า? เนื่องจากดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายเลย แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากผู้จัดงานว่าจะเลื่อนการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด
สำหรับการประชุม COP 26 นั้น ได้มีการกำหนดธีมของการประชุมคือ “การเปลี่ยนโลกใบนี้ไปสู่การใช้พลังงานงานสะอาด ระบบขนส่งที่สะอาด การแก้ปัญหาโลกร้อนโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) การบูรณาการการปรับตัวและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
การเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกในการประชุม COP 26 นี้ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองว่าจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่ ในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้
(1) Common Timeframe หรือปีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC) ซึ่งตอนนี้แต่ละประเทศได้กำหนดปีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกไว้แตกต่างกัน ส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ 5 ปี หรือ 10 ปี สำหรับประเทศไทยได้กำหนดปีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 10 ปี ระหว่างปี 2021 – 2030
(2) กลไก Carbon Markets (Article 6 ของความตกลงปารีส) หรือกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร และมีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไรบ้าง เรื่องนี้หารือกันมาตั้งแต่ปี 2019!!
(3) เป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Goal) และความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เป็นประเด็นที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศหมู่เกาะเรียกร้องให้มีการกำหนดเป้าหมายในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน รวมถึงกลไกรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ อาทิ ประเทศหมู่เกาะที่กำลังเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนเกาะอาจจะจมน้ำได้ ประชาชนบนเกาะต้องมีแผนรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว
(4) การเงินสำหรับดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Financing Climate Action) ที่ประเทศกำลังพัฒนาอยากเห็นแผนการระดมเงินและแนวทางการให้เงินช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้ว สำหรับดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เป็นไปตามความต้องการ และเพียงพอต่อการดำเนินงาน
สุดท้าย ทีมงาน CC Talk จะเกาะติดสถานการณ์และติดตามความเคลื่อนไหวการประชุม COP 26 ให้รับทราบกันต่อไป
บทความโดย CC Talk team
#ClimateChangeTalk #COP26UNFCCC #ClimateChange #ClimateChangeMitigatioon #ClimateAdaptation
ที่มา
1. UN Climate Change Conference UK 2021, https://ukcop26.org/
โฆษณา