5 ก.พ. 2021 เวลา 11:00 • ความคิดเห็น
3 ขั้นตอน เปิดใจคู่สนทนา
ไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง คุณก็สามารถทำให้คู่สนทนายอมเปิดใจกับคุณได้ ด้วยวิธีง่ายเพียง 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 : เริ่มต้นด้วย "ความเหมือน" หรือ "ความคล้าย"
เคยสังเกตไหมคะว่าทำไมเราถึงชอบคุยกับคนๆ นี้ ทำไมถ้าเป็นคนๆ นี้ เรากล้าเปิดใจ กล้าพูด กล้าเล่าความคิด ไอเดียต่างๆ ให้ฟัง
ในขณะเดียวกันก็มีคนที่เราไม่กล้าเข้าไปพูดคุยด้วย หรือถ้าให้เลี่ยงได้ ก็จะหลบทันที
ถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่าคนที่เรารู้สึกชอบคุยด้วย จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับเรา และคนที่เราไม่ค่อยอยากจะคุยด้วย จะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับเรา หรือมีสิ่งที่เราไม่ชอบอยู่ในคนๆ นั้น
ดังนั้น หากเราอยากจะทำให้คู่สนทนาเปิดใจให้กับเราสำหรับการสนทนาในครั้งนี้ขอให้เริ่มต้นด้วยการใช้ "ความเหมือน" หรือ "ความคล้าย"
โดยการมองหา "จุดร่วม" ที่มีเหมือนกัน หรือคล้ายกัน ระหว่างเราและคู่สนทนา ไม่ว่าจะเป็นความชอบที่เหมือนกัน ความคิดที่คล้ายกัน หรือการมีประสบการณ์ในเรื่องเดียวกัน เช่น เคยทำงานที่บริษัทเดียวกัน จบจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ชอบวิ่งเหมือนกัน เป็นต้น
หรือแม้กระทั้งท่าทาง น้ำเสียง ภาษา ที่ใช้ระหว่างการสนทนา ก็สามารถทำให้เกิดความรู้สึกที่คล้ายกันได้ จากผลการวิจัย และทดสอบของ New York University พบว่า ระหว่างการสนทนาเมื่อผู้พูดมีท่าท่างที่คล้าย หรือเลียนแบบบางสิ่งจากคนที่กำลังสนทนาด้วย คู่สนทนามีแนวโน้มที่จะรู้สึกดีกับผู้พูดมากขึ้น
ดังนั้น ให้ลองสังเกตภาษากายของคู่สนนทนา ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง การยืน ตำแหน่งการวางแขน น้ำเสียงที่ใช้ ภาษาที่ใช้ ในระหว่างการสนทนา แล้วลองเลียนแบบ หรือปรับให้ใกล้เคียงกับคู่สนทนา (เลียนแบบเพียงบางส่วนเท่านั้นนะคะ หากเยอะไปคู่สนทนาจะรู้สึกอึดอัดได้)
เริ่มต้นบทสนทนาด้วยเรื่องราว หรือ ท่าทางที่คล้ายกับคู่สนทนา แค่นี้คุณก็สามารถแง้มประตูหัวใจของคู่สนทนาได้แล้วค่ะ
ถ้าอยากเปิดประตูหัวใจให้กว้างขั้น ทำตามขั้นตอนที่ 2 ได้เลย
ขั้นตอนที่ 2 : อยู่กับปัจจุบัน และอยู่กับคู่สนทนา ตลอดเวลาที่ทำการสนทนา
งงกันหรือเปล่าคะ อะไรคืออยู่กับปัจจุบัน และอยู่กับคู่สนทนา ก็ในเมื่อคุยกันอยู่ (แง้มประตูหัวใจได้แล้วด้วย...)
ที่ฝนจะบอกก็คือ การใช้ทักษะของการเป็นผู้ฟังที่ดีค่ะ ฟังอย่างตั้งใจ มีสติ รับรู้ เรื่องราว อารมณ์ความรู้สึกของคู่สนทนา ไม่ตัดสินคู่สนทนา ด้วยอารมณ์ หรือประสบการณ์ของเรา ทุกคนมีประสบการณ์ที่แตกต่าง ลองให้โอกาสตัวเอง ได้มองผ่านเรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์ของคนอื่นที่แตกต่างจากเราดูบ้าง เราอาจจะได้เห็นในมุมมองที่แปลกใหม่ อาจจะมีบางแง่มุมที่เราสามารถเก็บกลับไปใช้ และที่สำคัญที่สุดคือการที่เราได้รู้จัก และเข้าใจคู่สนทนาของเรามากยิ่งขึ้น
ขอให้เราลองอยู่กับเรื่องราวที่เขาเล่าออกมา ไม่ต้องไปคิดล่วงหน้า ไม่ตัดสินใดๆ เพียงแค่ฟังเรื่องราวต่างๆ ตามที่คู่สนทนาอยากจะบอกกับเรา ไม่ขัดจังหวะ ปล่อยให้คู่สนทนาได้พูดตามที่อยากจะพูด
ลองนึกว่าเรากำลังเป็นคนที่เล่าเรื่อง แล้วมีคนฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินใดๆ เพียงเท่านี้ก็ทำให้เรารู้สึกถึงการมีตัวตนของเรา มีคนที่เข้าใจ ยอมรับในตัวเรา นั่งฟังเรื่องราวของเราอยู่ข้างๆ
เพียงเท่านี้ ประตูหัวใจก็เปิดกว้างพร้อมให้คุณก้าวเข้าไปแล้วค่ะ แต่คุณจะอยู่ในใจของคู่สนทนาได้นานแค่ไหนลองมาดูที่ขั้นตอนที่ 3 เลยค่ะ
ขั้นตอนที่ 3 : ใช้ประโยค "ใช่...และ..."
สงสัยกันอยู่ใช่ไหมละคะ "ประโยค "ใช่...และ..." มีความสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ?"
ถ้าไม่เชื่อมาลองสังเกต 2 ประโยคนี้นะคะ
ประโยคที่ 1 : "สิ่งที่คุณคิดมาใช่เลย 'แต่' มันไม่เหมาะกับสถานะการณ์ปัจจุบัน"
ประโยคที่ 2 : ''สิ่งที่คุณคิดมาใช่เลย 'และ' เราจะปรับอย่างไรให้เข้ากับสถานณ์ปัจจุบัน"
ทั้งประโยคที่ 1 และ 2 มีความหมายใกล้เคียงกันนะคะ
ผู้พูดต้องการจะสื่อว่า เป็นความคิดที่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้กับสถานะการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ทั้งๆ ที่สื่อความหมายได้ใกล้เคียงกัน แต่ทำไมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ประโยคที่ 1 "สิ่งที่คุณคิดมาใช่เลย 'แต่' มันไม่เหมาะกับสถานะการณ์ปัจจุบัน" คุณคิดว่าจะได้ผลลัพธ์อย่างไรคะ?
...
...
...
ใช่ค่ะ เกิดการหยุดคิด เกิดความเงียบ รวมถึงการก่อตัวของความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น (มีโอกาสที่คู่สนทนาจะเปิดประตูหัวใจใส่คุณแล้วด้วย)
สำหรับประโยคที่ 2 ''สิ่งที่คุณคิดมาใช่เลย 'และ' เราจะปรับอย่างไรให้เข้ากับสถานณ์ปัจจุบัน" ถ้าเป็นประโยคนี้ละจะเกิดผลลัพธ์อย่างไร?
...
...
...
เกิดการคิดต่อใช่ไหมค่ะ ยังคงเกิดไอเดียใหม่ๆ ยังรู้สึกสนุกที่จะคุยกันต่อ ในด้านผู้เสนอความคิดก็รู้สึกได้รับการยอมรับ รู้สึกสนุกที่จะแชร์ความคิดเห็นต่างๆ
เห็นไหมละคะ ว่าประโยค "ใช่...และ..." สำคัญขนาดไหน ประโยคนี้นอกจะช่วยให้คุณสนทนาได้อย่างราบรื่นแล้วยังช่วยให้คุณได้ความคิดดีๆ ในการแก้ไขปัญหาอีกด้วยน้าา
หวังว่า 3 ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณสามารถเปิดใจคู่สนทนาได้อย่างราบรื่น เริ่มง่ายๆ จากตัวเรา เริ่มต้นสนทนาด้วยสิ่งที่เหมือน หรือคล้าย เป็นผู้ฟังที่ดี ให้พื้นที่ปลอดภัยแก่คู่สนทนา ไม่ตัดสิน ยอมรับในตัวตนของเขา และใช้คำพูด หรือคำถามที่ทำให้เกิดการคิดต่อ ไม่เบรคความคิด แล้วคุณได้มีความสุขกับการสนทนามากยิ่งขึ้นค่ะ
ใครพบเจอประสบการณ์แบบไหนแชร์กันเข้ามาได้เลยนะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านค่ะ
โฆษณา