5 ก.พ. 2021 เวลา 09:19 • สุขภาพ
ขอฉีดยาเลยได้มั้ยคะ?
เป็นคำถามที่หมอพบบ่อยมากๆเลยค่ะ เวลาคนไข้ไม่สบาย มีไข้ เป็นหวัด
1
ก่อนอื่นต้องอธิบายเรื่องการไม่สบายทั่วๆไปก่อนค่ะ
ส่วนมากคนไข้ ‘ไม่สบาย’ มาหาหมอเนี่ย ก็จะมาด้วยอาการเด่นแตกต่างกันค่ะ ภาษาหมอเรียกว่า ‘อาการนำ’
เช่น บางคน เจ็บคอ มีน้ำมูก บางคนท้องเสีย
ซึ่งอาการนำนี้ ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ ว่าคนไข้น่าจะเจ็บป่วยทางระบบไหนของร่างกายค่ะ โดยถ้าร่วมกับอาการมีไข้ หมอก็จะคิดว่า ความเจ็บป่วยนั้นๆมาจากการติดเชื้อค่ะ
เช่น เจ็บคอ มีน้ำมูก มีไข้ด้วย ก็น่าจะติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
ท้องเสีย มีไข้ ก็ติดเชื้อที่ลำไส้ค่ะ
ทีนี้ หมอจะรักษาการติดเชื้อนั้นๆ จริงๆหมอก็อยากจะรู้ชัดๆว่าเชื้ออะไรที่คนไข้ติด เพราะเชื้อโรคนี่มีหลายร้อยหลายพันชนิด ถ้าจะรักษาให้ถูกเชื้อ เราก็ต้องเก็บเชื้อไปเพาะค่ะ อย่างบางครั้งที่คนไข้พบว่าหมอขอเก็บเสมหะ หรืออุจจาระไปตรวจนั่นละค่ะ
แต่ในรวามเป็นจริง คนไข้ที่ดูอาการไม่หนัก หมอก็ไม่ได้ส่งเพาะเชื้อทุกคนค่ะ เพราะนอกจากจะใช้เวลานาน คนไข้ไม่สะดวกรอผล สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ยังพบว่าเชื้อส่วนมากที่พบบ่อยว่าก่อโรคในคนไข้ที่มาจากบ้านทั่วๆไป มันก็มีอยู่ไม่กี่กลุ่มค่ะ
ประมาณว่า ถ้าหมอรักษาให้ครอบคลุมเชื้อที่ว่านี้ น่าจะไม่หลุดค่ะ
3
แล้วเชื้อที่พบบ่อยคืออะไร....?
ก็ขึ้นอยู่กับระบบร่างกายที่เชื้อไปติดค่ะ
หมอขอพูดถึงระบบทางเดินหายใจ หรือ เป็นหวัด นะคะ เพราะคนไข้มักจะไม่สบายด้วยอาการนี้กันบ่อยที่สุด
เชื้อที่พบบ่อยของโรคหวัดนี่ คือ ‘เชื้อไวรัส’ ค่ะ
ปัจจุบันนี้ ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับเชื้อไวรัสกันมากขึ้นแล้วจากเชื้อโควิดใช่มั้ยคะ? นั่นแหละค่ะ เจ้าไวรัสเนี่ย มันก็แบ่งยิบย่อยไปอีกหลายสายพันธุ์ ไวรัสโควิด ไวรัสไข้เลือดออก ไวรัสหวัดใหญ่ และอีกมากมาย
และเชื้อไวรัสนี้ ส่วนมากไม่มียารักษาค่ะ
อาศัยว่า ถ้าคนไข้แข็งแรง ภูมิคุ้มกันดี ภูมิของร่างกาย หรือเม็ดเลือดขาวของเรานี่ละค่ะ จะเป็นทหารกำจัดเชื้อให้เอง แค่รอเวลาเค้าทำงานสักวัน 2วันค่ะ ใจเย็นเย็นนน
มนุษย์เรามีหน้าที่ดูแลร่างกายให้พร้อม ให้เจ้าทหารเม็ดเลือดขาวทำงานได้ดีค่ะ โดยการดื่มน้ำเยอะๆ นอนให้พอ รับประทานอาหารที่ดี
2
แล้วยาฆ่าเชื้อที่กินๆ หรือฉีดกันมันคืออะไรล่ะ?
ส่วนมากมันคือยาฆ่าเชื้อโรคอีกกลุ่มค่ะ มันคือ ‘เชื้อแบคทีเรีย’ ค่ะ
กลุ่มนี้ ร่างกายอาจจะสู้เดี่ยวๆไม่ไหว อาจต้องมียาเข้าไปช่วยฆ่าเชื้อนิดนึง โดยเฉพาะคนไข้โรคประจำตัวเยอะๆ หรือสูงอายุ
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเชื้อที่ติดเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย?
อย่างที่หมอบอกค่ะ ส่วนมากกกกแล้ว หวัดมักเกิดจากเชื้อไวรัสค่ะ ยกเว้น ถ้าคนไข้อายุเยอะ ไข้สูงมากๆ หรือเสมหะเขียวข้นคลั่ก หอบเหนื่อยรุนแรง หมอก็ต้องเก็บเพาะเชื้อ พิจารณาว่าอาจเป็นแบคทีเรียค่ะ
แล้วเวลาคนไข้ได้รับการรักษาโดยยาฆ่าเชื้อ ไม่ว่าจะกินหรือฉีดโดยไม่จำเป็น จะเกิดผลเสียอะไรล่ะ?
เกิดเชื้อดื้อยาค่ะ! เจ้าเชื้อแบคทีเรียในอาณาบริเวณที่เราอยู่อาศัย ในร่างกายของเรา ก็จะทำความรู้จักยาฆ่าเชื้อ และพัฒนาตัวเพื่อเอาชนะ พอคนร่างกายอ่อนแอเกิดติดเชื้อครั้งต่อๆไป แล้วโชคร้ายไปติดเจ้าแบคทีเรียร่างอีโวที่ดื้อยาไปแล้ว คราวนี้ลำบากเลยค่ะ ต้องไปใช้ยาแรงๆ ผลข้างเคียงเยอะ ต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ
2
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมหมอถึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเวลาคนไข้มาขอฉีดยาค่ะ
เพราะหวัดทั่วๆไปแล้ว ดูแลตัวเอง กินยาแก้ไอ พาราแก้ไข้ รอร่างกายจัดการเชื้อ เดี๋ยวก็ดีค่ะ
หมอไม่อยากจะให้คนไข้ต้องมารับผลข้างเคียงต่างๆ และเพิ่มประชากรเชื้อดื้อยาในชุมชนให้มากขึ้นค่ะ
1
แล้วพวกคลินิกเค้าฉีดยาอะไรให้คนไข้กัน?
ว่ากันตรงๆ บางคลินิกก็ฉีดยาฆ่าเชื้อ บางคลินิกก็ฉีดแค่ยาลดไข้ธรรมดาๆที่เดี๋ยวก็หมดฤทธิ์ บางทีก็คือพาราด้วยซ้ำ แต่ฉีดแทนกิน ซึ่งก็เหมือนๆพารากินแหละ ไม่ได้ทำให้หายไวขึ้นค่ะ
1
หมอเข้าใจว่าการฉีดยามันทำให้คนไข้สบายใจขึ้น และจะให้หมอหายาอะไรสักตัวมาฉีดให้คนไข้ก็ง่ายมากๆเลยค่ะ แต่หมอแค่อยากซื่อตรงกับคนไข้ให้มากที่สุด และไม่สร้างความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองค่ะ ครั้งหน้าถ้าหมอไม่ได้ฉีดยาให้ เข้าใจหมอหน่อยนะค้า :)
โฆษณา