5 ก.พ. 2021 เวลา 15:23 • การเกษตร
การจัดการขยะ สิ่งเหลือใช้และเศษอาหารภายในบ้าน ตอนที่ 3
แปลงขยะเป็นปุ๋ย...การจัดการเศษผัก ผลไม้ ใบไม้ วัชพืช
เศษอาหารอีกประเภทที่สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้ คือพวกเศษผักสดต่างๆ ที่เหลือกินหรือที่เราทิ้งจากการปรุงอาหาร เช่น ใบผักต่างๆที่เด็ดทิ้งเพราะใบแก่เกินไป ต้นหอมผักชีที่เหลือทิ้ง เปลือกมัน เปลือกฟักทอง ฟัก ฝักสะตอ และอื่นๆอีกมากมายที่เป็นเศษผักอีกทั้งพวกเปลือกผลไม้ต่างๆ หรือผลไม้ที่เหลือจากการกิน แม้กระทั่งเปลือกทุเรียน ยกเว้นเปลือกมังคุดเพราะย่อยยาก นอกจากนั้นยังรวมไปถึงพวกใบไม้ทั้งสดและแห้ง หรือเศษหญ้าที่ตัดในสนาม ต้นกล้วย ใบไม้ประดับต่างๆที่ตัดทิ้งจากการตกแต่งพุ่ม สิ่งเหล่านี้หากเรานำไปทิ้งตามถังเก็บขยะก็เป็นภาระกับการจัดเก็บขยะ ดังนั้นเราจึงควรนำมาใช้ประโยชน์โดยการนำมาทำปุ๋ยหมัก
การทำปุ๋ยหมักจากเศษพืชผัก ผลไม้ ใบไม้นั้นมีหลายวิธี แต่เท่าที่ได้พยายามศึกษาดูเห็นว่ามีแนวทางของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง วิธีการไม่ซับซ้อน ไม่เหนื่อยมากและที่สำคัญไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนข้างบ้านด้วย
ดังนั้นในบทความนี้จึงอยากนำเสนอวิธีการจัดการกับขยะเหล่านี้ โดยใช้วิธีการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกองเป็นแนวทาง ซึ่งมีวิธีการทำอยู่หลักๆ 5 แบบ แต่ผมจะเลือกใช้แบบที่ทำในวงตาข่ายเพราะใช้พื้นที่น้อยเหมาะกับพื้นที่ว่างหลังบ้าน สำหรับท่านใดที่อยากทำในรูปแบบอื่นก็อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ที่ให้ไว้ด้านล่างนะครับ
คอกที่ทำจากวงตาข่าย
ขั้นตอนการทำวงตาข่าย
- หาซื้อตาข่ายพลาสติก มีขายที่โกบอลเฮ้าท์ โฮมโปรและไทวัสดุ
- หาไม้สำหรับทำหลักเพื่อยึดวงตาข่ายหรือจะใช้ท่อน้ำ PVC ก็ได้ แต่ควรมีไม้ตอกลงดินให้โผล่ขึ้นมาสัก 30 ซม. แล้วใช้ท่อน้ำสวมอีกที เพราะท่อน้ำตอกลงบนดินจะแตกได้
- เริ่มจากหาพื้นที่เหมาะๆ กว้าง×ยาว สักประมาณ 1ม. ×1 ม. จากนั้นปักหลักให้สูงกว่าความสูงของตาข่ายเล็กน้อย สัก 4-6 หลัก
- นำตาข่ายมาขึงรอบหลัก แล้วตัดตาข่ายส่วนที่ไม่ใช้ออก
- ใช้เชือกผูกรัดตาข่ายกับเสาให้แน่น แค่นี่ก็จะได้วงตาข่ายสำหรับใส่เศษผัก ผลไม้ สำหรับทำปุ๋ยหมักแล้ว
ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกองวิศวกรรมแม่โจ้ ในวงตาข่าย
เศษพืชผัก ผลไม้ต่างๆ ใบไม้และพืชสดอื่นๆ
นำเศษผัก เศษผลไม้ ใบไม้ทั้งสดและแห้ง วัชพืช หรือต้นกล้วย (ควรหั่นให้เป็นชิ้นๆก่อน ไม่ควรใส่ทั้งต้น) เปลือกทุเรียน(ควรสับเป็นชิ้นเล็กๆ) พวกพืชสดต่างๆ ใส่ลงไปในคอกวงตาข่าย ซึ่งในแต่ละวันอาจจะมีขยะประเภทนี้ไม่เยอะมาก ก็ค่อยๆใส่ไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ความสูงประมาณ 5-10 ซม. ระหว่างนี้คอยรดน้ำวันละครั้งอย่าให้แฉะเกินไป
โรยด้วยขี้วัว 1 ส่วน
เมื่อได้ความสูงสักประมาณ 5-10 ซม. ให้นำขี้วัวมาโรยทับให้ทั่ว อัตราส่วนเศษพืชต่อขี้วัวคือ 4:1 สาเหตุที่เราใส่ขี้วัวเพราะต้องการให้จุลินทรีย์ในขี้วัว ช่วยย่อยเศษพืช
รดน้ำให้ชุ่ม
หลังจากโรยขี้วัวจนทั่วแล้วให้รดน้ำให้ชุ่ม ถึงขั้นตอนนี้เรียกว่าทำได้ 1 ชั้นแล้ว หลังจากนี้ก็นำขยะที่มีในแต่ละวันมาวางทับลงไปเรื่อยๆ และคอยรดน้ำทุกวัน แต่มีพิเศษอยู่นิดคือหลังจากได้ชั้นแรกแล้วเมื่อครบเจ็ดวันให้หาไม้หรือเหล็กแหลมมาทิ่มเจาะลงในกองขยะให้ลึกถึงพื้น แล้วกรอกน้ำลงไปสัก 4-5 วินาที แล้วเอาขยะกลบปิดเพื่อกันความชื้นระเหยออก ให้เจาะแบบนี้สัก 4-5 หลุม แต่ละหลุมห่างกันสัก 20 ซม. ให้เจาะและรดน้ำแบบนี้ทุกๆ 7 วัน ส่วนวันอื่นๆ ให้รดน้ำปกติ
เมื่อเราเติมเศษขยะพืชสดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้หนาอีกสัก 5-10 ซม. ก็ให้เติมขี้วัวเหมือนชั้นแรก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆให้ได้สัก 5-6 ชั้น เมื่อได้ชั้นสุดท้ายให้รดน้ำเหมือนเดิมคือ รดน้ำแบบปกติทุกวันพอครบเจ็ดวันก็ให้เจาะกรอกน้ำ ทำอย่างนี้ไปอีก 2 เดือน (ให้เริ่มนับหนึ่งตอนโรยขี้วัวชั้นสุดท้าย) สังเกตกองขยะจะยุบลงเรื่อยๆ
เมื่อครบสองเดือนก็ให้หยุดรดน้ำและแกะวงตาข่ายออก เศษขยะทั้งหมดก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมักแล้ว ส่วนที่อยู่รอบนอกอาจจะไม่เปื่อยไม่เป็นไรให้เก็บแยกออกเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักกองต่อไป จากนั้นทำให้กองปุ๋ยแห้งเพื่อให้จุลินทรีย์หยุดทำงาน โดยการกระจายให้บางๆ วางผึ่งลมไว้ในที่ร่มหรือแดดรำไร เมื่อแห้งดีแล้วก็เก็บปุ๋ยใส่กระสอบไว้ใช้งาน
หลังจากล้มกองแล้ว นำมาตากเพื่อให้จุลินทรีย์หยุดทำงาน
ศึกษาการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง วิศวกรรมแม่โจ้ เพิ่มเติมตามลิงค์ด้านล่าง https://m.facebook.com/groups/836331036476777/permalink/1114723298637548/
โฆษณา