7 ก.พ. 2021 เวลา 03:50 • ไลฟ์สไตล์
เทคนิคการพัฒนาตัวเอง ด้วยการปรับ "Habit Loop"
หากเรารู้สึกง่วงระหว่างทำงานยามบ่าย เราจะทำอย่างไร ?
ผู้คนส่วนใหญ่คงเลือกที่จะ ดื่มกาแฟ หรือ ชา เพื่อทำให้ตัวเองตื่นตัวมากขึ้น
1
แล้วเคยสงสัยไหมว่า ที่เราอยากดื่มกาแฟเช่นนี้
เป็นเพราะว่ากาแฟทำให้เราตื่นตัวจริงๆ หรือ เป็นเพราะพฤติกรรมที่มาจากความเคยชินกันแน่ ?
ในบทความนี้ THE BRIEFCASE จะขอพาทุกท่านไปหาคำตอบกัน
 
อ้างอิงจากเหตุการณ์ตัวอย่างข้างต้น
หากความต้องการที่จะดื่มกาแฟของเรา เพียงเพื่อต้องการที่จะให้ร่างกายตื่นตัว
พฤติกรรมนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นนิสัยที่เกิดจากความเคยชิน
ถึงแม้ว่า คาเฟอีนในกาแฟจะมีสารเคมีที่มีส่วน ที่ทำปฏิกิริยากับสมอง มีผลทำให้เราตื่นตัวก็จริง
แต่ในทุกๆครั้ง ที่เรารู้สึกง่วงเพลีย แล้วแก้ปัญหาด้วยการดื่มกาแฟ ความคิดนี้ จะก่อให้เกิดนิสัยที่ กลายเป็นความเคยชิน ในที่สุด
และในบางครั้ง นิสัยที่เกิดจากความเคยชิน อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไร..
เรื่องราวทั้งหมดนี้ สามารถอธิบายได้โดยอ้างอิงจากทฤษฎี "Habit Loop"
ที่ถูกคิดค้นโดย Charles Duhigg ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า The power of habit
เริ่มจากคำว่า “Habit” กันก่อน
โดยเขาอธิบายการเกิดวงจรของนิสัย (Habit) ได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.Cue หรือ Trigger คือ สัญญาณที่เป็นตัวกระตุ้นก่อให้เกิดพฤติกรรม
2.Routine หรือ Response คือ พฤติกรรมที่ตอบสนอง ต่อสิ่งกระตุ้น
3.Rewards คือ ผลลัพธ์ หรือ รางวัล ที่เกิดขึ้นหลังจากสิ่งที่เราทำ
4.Craving คือ ความอยาก ความต้องการ ซึ่งในทีนี้ หมายความว่า ความต้องการที่จะให้เกิดผลลัพธ์เดิม ซ้ำๆ
1
ยกตัวอย่าง ให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น
“เรารู้สึกง่วงเพลีย ระหว่างการทำงานช่วงบ่าย” - จุดนี้คือ สัญญานกระตุ้นให้เราเกิดพฤติกรรม
“จึงไปซื้อกาแฟเอสเพรสโซ่ 2 ช็อตมาดื่ม” - จุดนี้คือ พฤติกรรมที่ตอบสนอง
“ร่างกายของเรากลับมาตื่นตัว และสามารถทำงานต่อได้” - จึงเสมือนกับ ผลลัพธ์
“ดีจังเลย แบบนี้ทุกครั้งที่ง่วง เราก็สามารถแก้ไขได้ด้วยกาแฟ” - จึงเสมือนกับ ความอยาก ความต้องการ
ทุกๆ กิจกรรม และพฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนเกิดมาจาก ความอยาก และความต้องการ ในผลลัพธ์นั้นๆ
อย่างในกรณีตัวอย่างข้างต้น คือ เราไม่ได้ต้องการที่จะกินกาแฟเพื่อรสชาติ แต่เราต้องการกินเพื่อให้ร่างกายเราตื่นตัว เพื่อที่จะทำงานยามบ่ายต่อได้
1
นั่นหมายความว่า กาแฟจึงเป็นเพียงแค่ตัวกลาง ที่ทำให้เราตื่นตัวเท่านั้น..
ส่วนคำว่า “Loop” (ลูป) หรือ การวนกลับมาไปเริ่มต้นใหม่เป็นวัฏจักร สิ่งนี้คือหัวใจของการสร้างนิสัยความเคยชิน ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราได้เห็นและสัมผัสแล้วว่า ผลลัพธ์เหล่านั้น ออกมาในทางที่เราต้องการ
แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ คงเลือกที่จะทำพฤติกรรมตอบสนอง ซ้ำๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตัวเองพอใจ ในรูปแบบเดิม ซึ่งในทีนี้ Charles Duhigg ได้นิยามเอาไว้ คือ “Habit Loop”
1
ต่อมา หาก “Habit Loop” กลายเป็นกับดักของความสุขของเรา จากการได้รับจากผลลัพธ์ที่น่าพอใจในแบบเดิมๆ
แล้วเราจะพัฒนาตัวเองขึ้นมาให้ดีได้อย่างไร ?
คำตอบนี้ อาจไม่ใช่การสร้างนิสัย และความเคยชินใหม่ๆ
แต่หากเป็นเพียงการพัฒนา Habit Loop ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
1
โดยเทคนิคง่ายๆ มีดังนี้
1.เริ่มต้นจากการมอง “พฤติกรรมที่ตอบสนอง (Routine)” ของเรา
เพื่อที่จะค้นหาว่า ทำไมเราถึงเลือกที่จะทำสิ่งนั้น เช่น เลือกที่จะดื่มกาแฟ เป็นต้น
2.ลองดูว่า ผลลัพธ์ หรือ รางวัล ที่เราต้องการ ที่แท้จริงแล้ว คืออะไร ?
เพราะสุดท้ายแล้ว เราทำทุกอย่างเพื่อผลลัพธ์ที่เราพอใจ
1
หากเราเข้าใจได้อย่างแท้จริง เราจะสามารถรู้จุดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตอบสนอง ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
3.กลับมาวิเคราะห์ถึง สัญญาณที่เป็นตัวกระตุ้น ว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
โดย Charles ได้แนะนำเทคนิคที่ช่วยในการค้นหาไว้ 5 คำถาม
-ในขณะนั้น คุณอยู่ที่ไหน
-ในขณะนั้น เป็นเวลากี่โมง
-ในขณะนั้น คุณรู้สึกอย่างไร
-ในขณะนั้น มีผู้ใดอยู่ด้วย
-การกระทำก่อนหน้านั้น หรือ พฤติกรรมที่น่าจะเป็นมูลเหตุ คืออะไร
เช่น เราง่วงเราจึงอยากดื่มกาแฟให้ตื่นตัว ซึ่งความจริงแล้วความง่วงนี้อาจมาจากการนอนไม่พอ
แทนที่จะกินกาแฟให้ตื่นตัว ถ้าเราแก้ปัญหานี้ด้วยการนอนให้พอ ก็จะทำให้เราเกิด Habit Loop ที่ดีขึ้นได้
ถึงแม้ว่า ทฤษฎี “Habit Loop” ที่เราพบเห็นส่วนใหญ่ จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทางการตลาดที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการ ที่ใช้ประโยชน์ของความคุ้นเคยจากพฤติกรรมของผู้บริโภค
แต่หากเรามองอีกมุมหนึ่ง การเกิดพฤติกรรมทำซ้ำๆ จนเกิดความคุ้นเคยที่ถูกสั่งการจากสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ แต่กลับไม่ใช่สมองส่วนที่ควบคุมความคิดที่ควรจะเป็น
ก็อาจทำให้คุณภาพชีวิตของเรา พัฒนาไปได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็นได้..
โฆษณา