6 ก.พ. 2021 เวลา 03:35 • สิ่งแวดล้อม
ขยะในทะเลคงมีมากกว่าปลาในเร็ววัน
ภาพที่ใช้เปิดเรื่องในครั้งนี้ นำมาจากโพสต์บนเฟซบุ๊กของมูลนิธิรักษ์ไทย และชมรมประมงพื้นบ้านเกาะเต่า - วันที่ 24 มกราคม 2021
ซึ่งเผยให้เห็น “แพขยะพลาสติก” บนน่านน้ำไทย ที่แลดูไม่น่าอภิรมย์นัก
ภาพที่เห็น ยังช่วยตอกย้ำคำทำนายเก่าให้ขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาเรื่อยๆ
ย้อนความไปเมื่อปี 2016 บนเวที World Economic Forum - มูลนิธิเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมเอลเลน แมคอาร์เธอร์ ชี้แจงข้อมูลว่า ภายในปี 2050 ปริมาณขยะพลาสติกจะมีมากกว่าจำนวนปลาในทะเล - หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย
ในเวลานั้น งานวิจัยระบุว่า มีขยะพลาสติกจำนวน 8 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเลในแต่ละปี
ขยะแทบจะ 100% เป็นขยะที่เกิดขึ้นบนบกและทิ้งกันบนบก แต่เพราะไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสม จึงรั่วไหลและปลิดปลิวลงไปรวมในทะเลเสียเกือบทั้งหมด และยังรวมถึงอุปกรณ์ทำประมงที่ถูกทิ้งผสมประกอบ
และประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งใน TOP10 ประเทศที่สร้างขยะลงในทะเลมากที่สุด
ขยะพลาสติกได้หลอมลวมเป็นส่วนหนึ่งกับระบบนิเวศทะเลไทย - และทั่วโลก
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็มีรายงานการตรวจพบไมโครพลาสติกในตัวปลาทูที่จับได้บริเวณหาดเจ้าไหม
สำหรับเรื่องนี้ คงคาดเดาได้ว่า ในอนาคต นอกจากขยะพลาสติกจะมากกว่าปลาแล้ว ปลาทุกตัวก็คงมีไมโครพลาสติกผสมเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา ก็มีความพยายามแก้ไขปัญหากันพอสมควร ทั้งการออกโร้ดแมปการจัดการขยะพลาสติก พร้อมกับเริ่มลงมือทำไปบ้างแล้ว
แต่เหมือนเป็นโชคร้ายที่ต้องมาพบการระบาดของโควิด-19 - ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น
ทั้งจากพฤติกรรม การสั่งซื้อของออนไลน์ การใช้บริการขนส่งอาหารดิลิเวอร์รี่
ไปจนถึงการใช้หน้ากากอนามัยที่สุดท้ายปลายทางคือขยะพลาสติกอีกชนิด
ที่หากทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง จัดการไม่ถูกสุขลักษณะ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบนิเวศนานา ดังที่เคยปรากฎบนหน้าข่าวสารมาแล้วจำนวนไม่น้อย
[อ่าน ขยะจากหน้ากากอนามัย กำลังคุกคามชีวิตสัตว์ทั้งบนบกและในทะเล : http://bit.ly/3c1qAFR]
ในประเทศไทยขยะจากพลาสติกเพิ่มขึ้น 15% ในระดับโลกเพิ่มขึ้น 30%
หรือในเชิงนามธรรม ความตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกของผู้คนก็ลดลง เพราะโควิด-19 ที่มาใหม่นั้นดูจะน่ากลัวกว่า เห็นผลชัดเจนกว่า
มิพักถึงพูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กลายมาเป็นเงาตามตัวของโรคระบาดใหญ่ จนบางคนระบายความอัดอั้นด้วยวลีชวนข่มขื่นว่า กลัวอดตายมากกว่ากลัวโรคระบาด
เช่นเดียวกับเรื่องราวที่ปรากฎอยู่บนโพสต์ของมูลนิธิรักษ์ไทย
ถือเต่าถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องทะเลทั้งโลกอยากมาสัมผัส และเป็นแหล่งดำน้ำที่สำคัญระดับโลก
ที่ผ่านมาชุมชนเกาะเต่า อ.เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการเก็บขยะออกจากทะเล และพยายามช่วยกันลดขยะที่ต้นทาง ฟากธุรกิจคนทำโรงแรม และรีสอร์ทต่างๆ จะให้คนงานทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ
แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมาที่รีสอร์ทแทบจะไม่มีรายได้ ก็ต้องเลิกจ้างคนงาน
เมื่อลมมรสุมตะวันออกประจำปีพัดมา เราจึงได้เห็นขยะเกลื่อนพื้นที่บนเกาะเต่า อ่าวหลายแห่งก็เต็มไปด้วยขยะที่พัดมาจากทะเล
สำหรับตอนนี้มีโครงการ Koh Tao Better Together โดยมูลนิธิรักษ์ไทย และ โครงการ BIOFIN ขององค์การสหประชาชาติ และธนาคารกรุงไทย ได้สนับสนุนให้กลุ่มเรือรับจ้าง กลุ่มประมงพื้นบ้าน และพี่น้องที่ทำงานด้านการบริการท่องเที่ยวได้มีรายได้ และช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด เก็บขยะชายหาดและเก็บขยะในทะเล มีเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน
นี่ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตหลากหลายเรื่องราว
อย่างไรก็ตาม กับปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องขยะพลาสติกในทะเล คงจะแก้หรือหาทางช่วยเหลือกันเพียงส่วนใดส่วนเดียวคงไม่ได้
ความเห็นของ ReReef องค์กรที่ผลักดันงานสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อธิายไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ขยะทะเลยังเป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ที่จำเป็นต้องอาศัยการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนตัว มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต ในการจัดเก็บ ส่งคืนบรรจุภัณฑ์ที่กลายขยะหลังการใช้งานซึ่งมีปริมาณมากมายมหาศาล”
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหวังว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเร็ววัน
อ้างอิง
มูลนิธิรักษ์ไทย http://bit.ly/2OeGFhz
PHOTO : มูลนิธิรักษ์ไทย
โฆษณา