6 ก.พ. 2021 เวลา 10:37 • สิ่งแวดล้อม
“การเปลี่ยนพื้นที่ทำกินไปเรื่อยๆ คือการบุกรุกป่า”
นี่เป็นเหตุผลที่ “กรมอุทยานฯ” ที่นำมาใช้เพื่อให้มีอำนาจขับไล่ “กะเหรี่ยงบางกลอย” ได้อย่างถูกต้องตามพ.ร.บ.อุทยานฯ 2562
แม้ว่าหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนปัจจุบัน “มานะ เพิ่มพูน” จะออกมาให้ข่าวพบการบุกรุกป่าบนพื้นที่ ‘บางกลอย’ ตอนบน จากร่องรอยตัดไม้และถางป่า 10 จุด เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ 🌾
หัวหน้าอุทยานฯ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นฝีมือคนนอก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบางกลอยถูกเหมารวมในฐานะคน ‘บุกรุกป่า’
ย้อนกลับไปปี 2553-2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำกำลังเข้าไล่รื้อและเผาทำลายบ้านของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เพราะทำไร่หมุนเวียน 🔥
“ยุทธการตะนาวศรี” ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปยังที่ที่รัฐจัดให้ ก่อนที่ต่อมาชาวบ้านยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ จนลากยาวมาถึงศาลปกครองสูงสุด👨‍⚖️
ชัยชนะ แต่ยังแพ้ของกะเหรี่ยงบางกลอย
ปี 61 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า “การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี”
เพราะมาตรา 22 ตามพ.ร.บ.อุทยาน 2504 (ฉบับเก่า) ไม่ได้ให้อำนาจดุลพินิจแก่พนักงานเจ้าหน้าโดยพละการ แต่เจ้าหน้าที่รัฐต้องคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือจึงจะมีอำนาจ📃
ศาลสั่งให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ่งก่อสร้างเฉลี่ยรายละ 41,000 บาท และข้าวของเครื่องใช้คนละ 10,000 บาท
ประเด็นสำคัญคือ ชาวบ้าน (ผู้ฟ้องคดี) ยังคงไม่มีสิทธิกลับไปอยู่ในบ้านเดิมคือ บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่น เพราะชาวบ้านไม่มีเอกสารแสดงสิทธิ และอยู่ในเขตอุทยาน🌳
ถามว่าคนอยู่กับป่าได้ไหม - ภาครัฐอาจตอบว่าไม่ได้ เพราะมีกฎหมายค้ำคอ ไม่ยืดหยุ่น อีกคำตอบคือคนอยู่กับป่าไม่ได้เพราะไม่เข้าใจวิถีชีวิตกะเหรี่ยง
เจ้าหน้าที่รัฐที่รับเงินเดือน มีสวัสดิการต่างๆ เอาเงินเดือนไปซื้อกุชชี่เบล👝 ส่วนกะเหรี่ยงเป็นส่วนหนึ่งกับป่า ทำการเกษตรตามวิถีธรรมชาติตามที่บรรพบุรุษสอนว่า ต้องปล่อยให้พื้นที่ทำกินคืนสภาพจนอุดมสมบูรณ์
แต่รัฐมองว่า “การเปลี่ยนพื้นที่ทำกินไปเรื่อยๆ คือการบุกรุกป่า”
ล่าสุดชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน จำนวนร่วม 100 คน เดินเท้ากลับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพราะไม่มีที่ทำกิน แล้วกรมอุทยานฯ ก็เตรียมขับไล่เหมือนด้วยข้อหาเดิมคือ ‘บุกรุกป่า’
ผ่านไป 10 ปี กรมอุทยานฯ ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย แล้วยิ่งล่าสุด (5 ก.พ.64) ซึ่งกลุ่มเครือข่ายกะเหรี่ยงมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ (ทส.) แต่กลับถูกปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง 🤷‍♀️
แถลงการณ์ของกลุ่มภาคี #saveบางกลอย ประณามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่ารัฐมนตรีไม่ได้ทำหน้าที่อำนวยให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และละเลยประชาชน นำไปสู่ความสูญเสียของประชาชน จากการไล่ชาวบ้านชาติพันธุ์ออกจากที่อยู่ดั้งเดิม
วันที่ 15 ก.พ.64 จะเป็นวันที่กลุ่ม #saveบางกลอย ยกระดับการเคลื่อนไหวกดดันผู้มีอำนาจด้วยข้อเสนอที่ไม่ยากเกินความสามารถของ "วราวุธ ศิลปอาชา" คือการสนับสนุนให้ชาวบ้านบางกลอยได้กลับไปใช้ชีวิตที่ใจแผ่นดิน ที่ดินของบรรพบุรุษตามเดิม
รัฐต้องให้แนวทางที่ชัดเจน มีนโยบายสนับสนุนท่ีอยู่อาศัย ทั้งความมั่นคงทางอาหารและเห็นความสำคัญของชนเผ่าพื้นเมือง เพราะหลักการที่เรียบง่ายที่สุดคือ มองคนให้เท่ากัน ไม่ว่าชนชั้นกลาง กะเหรี่ยงหรือนายทุน 🌿
#saveบางกลอย
โฆษณา