25 ก.พ. 2021 เวลา 02:46 • สุขภาพ
บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการบรรเทาปัญหาโรคโควิด 19
บทความโดย
นางสาวมัทยา บุตรงาม
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
credit: https://unsplash.com/photos/4yXV0JIK-yo
1. สาระสำคัญ
จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่เริ่มระบาดในประเทศจีนเป็นประเทศแรกในช่วงปลายปี 2019 และได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อในไทยรายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ก่อนจะเริ่มระบาดรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ทำให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศในวันที่ 1 มีนาคม 2563 ให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
สำหรับข้อมูลสถิติของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2563 พบว่า มียอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 40,680,717 คน โดยรักษาหายแล้ว 30,373,960 คน และมียอดสะสมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1,123,481 ราย โดย 5 อันดับประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 8,457,020 ราย ประเทศอินเดีย มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 7,597,063 ราย ประเทศบราซิล มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 5,251,127 ราย ประเทศรัสเซีย มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 1,415,316ราย และประเทศอาร์เจนตินา มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 1,002,622 ราย[1]
แผนภาพที่ 1 แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 สะสมทั่วโลก Source: Worldometer – https://www.worldometers.info/coronavirus/
สำหรับข้อมูลสถิติของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2563 พบว่ามียอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 3,691 คน โดยรักษาหายแล้ว 3,488 คน และมียอดสะสมผู้เสียชีวิตจำนวน 59 ราย โดย 5 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 1,557 ราย จังหวัดภูเก็ต มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 227 ราย จังหวัดนนทบุรี มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 158 ราย จังหวัดยะลา มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 125 ราย และจังหวัดสมุทรปราการมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 117 ราย[2]
จากสถานการณ์ข้างต้นทำให้หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการออกมาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการด้านกฎหมาย มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทั้งนี้ การกำหนดมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เนื่องจาก อปท. เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดูแลประชาชนในประเทศได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายทรัพยากรการพัฒนาของรัฐไปสู่ชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก อปท. เป็นหน่วยงานรัฐที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับ อปท. ในประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล (ประกอบด้วย เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยข้อมูล อปท. ทั่วประเทศในปัจจุบันพบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 7,850 แห่ง แบ่งเป็น อบจ. 76 แห่ง เทศบาล 2,472 แห่ง อบต. 5,300 แห่ง กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา[3]
บทความนี้จะนำเสนอบทบาทสำคัญของ อปท. กับการบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยจะรวบรวมการดำเนินการที่สำคัญในการบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
1.1 แนวทางการปฏิบัติการดำเนินการโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันโรคโควิด 19[4] โดย อปท. ได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 225 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่เทศบาลและ อบต. 7,774 แห่ง และดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการดำเนินการโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันโรคโควิด 19 โดย อปท. จะต้องประสานทีมวิทยากรซึ่งประกอบด้วย บุคลากรของ อปท. ผู้นำหมู่บ้าน (กำนันและผู้ใหญ่บ้าน) และผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)) กลุ่มสตรีจิตอาสา และประชาชน ที่ผ่านการฝึกอบรมโครงการเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด 19 และการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองมาแล้ว เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการจัดทำหน้ากากอนามัยจากผ้าเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ อปท. แต่ละท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากาก และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงรายงานผลการจัดทำหน้ากากอนามัยจากโครงการดังกล่าวด้วย
1.2 การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในสถานศึกษาสังกัด อปท.[5] โดยให้ อปท. ที่มีสถานศึกษาในสังกัดดำเนินการตามแนวทางป้องกัน เฝ้าระวัง และลดความเสี่ยงจากสาเหตุดังกล่าว เช่น เร่งรัดกำหนดวันสอบและปิดภาคเรียนโดยเร็ว งดเว้นการจัดกิจกรรมที่นำนักเรียนมารวมกลุ่มกันในระหว่างปิดภาคเรียน ไม่นำนักเรียนเดินทางไปหรือแวะผ่านเพื่อร่วมกิจกรรมทางการศึกษา การแข่งขันทักษะวิชาการ หรือแข่งขันกีฬาในประเทศหรือเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด 19 อย่างเด็ดขาด เป็นต้น
1.3 แนวทางการปฏิบัติในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณีโรคโควิด 19[6] โดยให้ อปท. มีหน้าที่สำคัญในการเฝ้าระวังและสังเกตอาการของผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่องที่เข้ามาในเขต อปท. ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ และพนักงานใน อปท. ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จะต้องไปตรวจเยี่ยมเฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้ถูกกักกันหรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดที่อยู่ในระยะเวลาต้องกักกัน และ อปท. จะต้องดำเนินการดังนี้
1.3.1 จัดหายาหรือเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย และวัสดุอื่นที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น ถุงมือยางหรือหนัง ผ้าปิดปาก-ปิดจมูก เป็นต้น ในการปฏิบัติงานของบุคคลที่ได้รับมอบหมาย
1.3.2 กรณีพบผู้ถูกกักกันเข้าข่ายติดเชื้อ ให้รับนำส่งโรงพยาบาลทันที
1.3.3 จัดให้มีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ สถานที่พักของผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
สำหรับกรณี อบจ. ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นผู้ดำเนินการหรือร่วมดำเนินการให้ปฏิบัติ ดังนี้
1) จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรค เช่น หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ ถังขยะเพื่อรองรับขยะติดเชื้อ เป็นต้น
2) มอบหมายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายในบริเวณสถานที่ควบคุม
3) จัดหาอาหาร วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 30 บาท/คน[7]
4) ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถานที่ควบคุม ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง จำเป็น เหมาะสม และประหยัด
ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานดังกล่าว อปท. สามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง[8]
1.4 การสนับสนุนการปฏิบัติงานและการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด 19[9] โดย อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน บำบัดโรค ระงับโรคติดต่อ และบำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร สรุปได้ดังนี้
1.4.1 กรณีผู้บริหารท้องถิ่นสั่งใช้อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในการค้นหา ติดตาม และคัดกรองว่ามีคนในหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้าน/ชุมชน ในเขต อปท. รวมทั้งการเฝ้าระวังบุคคลเข้าออกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเฝ้าระวังบุคคลเข้าออกหมู่บ้าน/ชุมชนและป้องกันโรคโควิด 19 ให้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายเป็นค่าป่วยการชดเชยการงานหรือเวลาที่เสียไปเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ อปพร
1.4.2 กรณีมีประชาชนในเขต อปท. ได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันและควบคุม
โรคโควิด 19 เกิดการว่างงาน จึงเดินทางจากกรุงเทพมหานครกลับภูมิลำเนา ให้ อปท. แจ้งให้ประชาชนที่มีความประสงค์จะทำงานในพื้นที่มาขึ้นทะเบียนกับ อปท. และขอความร่วมมือกับผู้รับจ้างให้จ้างแรงงานในพื้นที่สำหรับโครงการที่สามารถใช้แรงงานราษฎรได้ หรือกรณี อปท. มีความจำเป็นต้องจ้างงานเพื่อช่วยส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ปกติของ อปท. ก็อาจพิจารณาดำเนินการได้
1.4.3 ให้ อปท. จัดหาวัสดุเครื่องแต่งกายให้กับคนงานเก็บขนขยะมูลฝอย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัย หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การพ่นยาฆ่าเชื้อ การทำความสะอาดตลาด เป็นต้น เพื่อสวมใส่ขณะปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสม
1.5 แนวทางการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. เพื่อช่วยเหลือประชาชน กรณีโรคโควิด 19[10] โดยสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคโควิด 19 ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง และเป็นอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน ดังนั้น อปท. จึงสามารถใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. ได้ ดังนี้
1.5.1 อปท. สามารถใช้จ่ายงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัย ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560
1.5.2 การใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. ให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่ายและหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเงินสะสมตามที่กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสม[11] หรือเงินทุนสำรองเงินสะสม หรือโอนงบประมาณไปตั้งจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้จังหวัดชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารท้องถิ่นและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้าใจตรงกันถึงแนวทางปฏิบัติตามที่กำหนด โดยหากมีปัญหาในการปฏิบัติให้จังหวัดหารือกระทรวงมหาดไทย
[1] ข้อมูลจาก https://www.worldometers.info/coronavirus/?utm_campaign=homeAdvegas1? สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563
[2] ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค https://covid19.ddc.moph.go.th/ สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563
[3] ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2563 รวบรวมโดย:กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น 2 กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น http://www.dla.go.th/work/abt/ สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563
[4] หนังสือกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0819.2/ว 732 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติการดำเนินการโครงการพลังงานคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563
[5] หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.3/ว 788 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 เรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
[6] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1552 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
[7] เทียบเคียงค่าอาหารตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ด้านการดำรงชีพ
[8] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ข้อ 15 ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าวัสดุเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2560
[9] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1841 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 เรื่อง การสนับสนุนการปฏิบัติงานและการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ กรณีโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
[10] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 2120 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือประชาชน กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
[11] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1608 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 เรื่อง ยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณีโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
2. บทสรุป
จากข้อมูลในข้อ 1 จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 มีค่อนข้างมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดอันดับต้นๆ จะเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอินเดีย ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นการระบาดใหญ่หรือ Pandemic เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อลุกลามไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ทั้งนี้ ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่นกัน โดยช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 เป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยมากที่สุด ทำให้ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการด้านกฎหมาย มาตรการด้านการเงินการคลัง เป็นต้น ซึ่งการดำเนินมาตรการต่างๆ เป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การดำเนินมาตรการต่างๆ บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
อปท. ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจาก อปท. เป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วทุกพื้นที่ ดังนั้น การดำเนินการของ อปท. ถือเป็นการดำเนินการที่มีความสำคัญและสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงมากที่สุด นอกจากนี้ อปท. ยังได้ดำเนินการอีกมากมายที่สามารถช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผู้เขียนนำเสนอในบทความนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ อปท. ได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เท่านั้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของ อปท. ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หากเกิดกรณีฉุกเฉินดังเช่นการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงกล่าวได้ว่า อปท. ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการการบรรเทาปัญหาโรคโควิด 19 ของประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
1. กระทรวงมหาดไทย, ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. กระทรวงมหาดไทย, ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560
3. กระทรวงมหาดไทย, ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าวัสดุเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2560
4. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, หนังสือกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0819.2/ว 732 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติการดำเนินการโครงการพลังงานคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563
5. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.3/ว 788 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 เรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6. กระทรวงมหาดไทย, หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1552 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
7. กระทรวงมหาดไทย, หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1841 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 เรื่อง การสนับสนุนการปฏิบัติงานและการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ กรณีโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
8. กระทรวงมหาดไทย, หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 2120 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือประชาชน กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
9. กระทรวงมหาดไทย, หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1608 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 เรื่อง ยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณีโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
สื่อออนไลน์
1.OpenDevelopment Thailand, การระบาดโควิด 19 (COVID 19) ในประเทศไทย https://thailand.opendevelopmentmekong.net/th/topics/pandemics-covid-19/ สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563
2. BBC NEWS ประเทศไทย, ไวรัสโคโรนา: ที่มา อาการ การรักษา และการป้องกันโรคโควิด – 19 https://www.bbc.com/thai/features-51734255 สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563
3. Worldometer, ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก https://www.worldometers.info/coronavirus/ สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563
4. กรมควบคุมโรค, ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย https://covid19.ddc.moph.go.th/ สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563
โฆษณา