6 ก.พ. 2021 เวลา 11:44 • ข่าว
JAXA และ UN จัดโครงการ KiboCUBE ช่วยนำ CubeSat ไปปล่อยจาก ISS สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) และ United Nations Office for Outer Space Affairs (UNOOSA) ได้ร่วมกันเปิดโครงการ KiboCUBE เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ ปีตั้งแต่ปี 2016
เปิดให้หน่วยงานและผู้สมัครจากนานาประเทศยื่น Proposal เพื่อพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก (CubeSat) และส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติสำหรับการ Deploy ตัวดาวเทียมผ่านโมดูล Kibo ของประเทศญี่ปุ่นบน ISS โดยสามารถสมัครได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2021 นี้ ผลการคัดเลือกจะถูกประกาศในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2021
สำหรับขั้นตอนการสมัครโปรดดูรายละเอียดที่ https://www.unoosa.org/oosa/en/ourwork/psa/hsti/kibocube/2020.html?fbclid=IwAR1jdiLbpDleyTwp0b9lVEoU5yqY78C8itBzv1hNgbIFeAyWScT91KTHy2s
โมดูล Kibo บน ISS
Kibo หรือ Japanese Experiment Module (JEM) เป็นโมดูลทดลองวิทยาศาสตร์ของ ISS พัฒนาขึ้นโดย JAXA ซึ่ง Kibo ถือได้ว่าเป็นโมดูลเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดบน ISS เลยทีเดียว ทำให้ต้องมีการส่งชิ้นส่วนขึ้นไปประกอบถึง 3 ครั้ง จึงเสร็จสมบูรณ์ผ่านเที่ยวบินกระสวยอวกาศ STS-123, STS-124 และ STS-127 จึงจะประกอบเสร็จสมบูรณ์
โมดูล Japanese Experiment Module (JEM: KIBO) – ที่มา NASA
Kibo ประกอบไปด้วยส่วนย่อยภายในโมดูลและภายนอกโมดูล 6 ส่วน คือ
Pressurized Module (PM)
Exposed facility (EF)
Experiment logistics module (ELM)
Japanese Experiment Module Manipulator System (JEMRMS)
Nanoracks CubeSat Deployer (NRCSD)
Inter-orbit communication system (ICS)
Pressurized Module หรือ PM คือส่วนห้องทดลองหลักภายในโมดูลซึ่งเชื่อมต่อกับโมดูล Harmony ของ ISS อยู่ เป็นโมดูลที่มี Airlock และส่วนเชื่อมต่อกับชิ้นส่วนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้างใน PM นั้นมี ISPR (International Standard Payload Racks) ถึง 23 ชั้น 10 ชั้นถูกนำไปใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ส่วนอีก 13 ชั้นถูกนำไปใช้ในการ Host ระบบต่าง ๆ ของ Kibo และใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์ ข้างใน PM นั้นเป็นส่วนที่นักบินอวกาศสามารถเข้ามาใช้งานได้เพราะถูก Pressurize ไว้นั่นเอง
นอกจากนี้ Kibo ยังถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับถ่ายทำวิดีโอหลาย ๆ อย่างบน ISS อีกด้วย เช่น การแถลงข่าว การถ่ายทอดสด เพราะว่าภายใน PM นั้นมีพื้นที่กว้างมากนั่นเอง ทำให้การถ่ายทำสะดวกขึ้น
ภาพภายในของโมดูล Kibo – ที่มา NASA
Exposed facility (EF) หรือ Terrace คือ ส่วนที่เชื่อมต่อกับ Airlock ของส่วน PM โดย EF เป็นส่วนที่สัมผัสกับอวกาศ มี Exposed Facility Unit (EFU) จำนวน 12 ports ไว้สำหรับเชื่อมต่อกับ Payload Interface Unit (PIU) เพื่อนำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาติดตั้งไว้ ซึ่งทุก ๆ Payload ที่ถูกติดตั้งบน EF จะอยู่ในสภาพแวดล้อมอวกาศอย่างสมบูรณ์สำหรับการทดลองที่มีจุดประสงค์เพื่อทดลองในสภาพอวกาศโดยสมบูรณ์ (ไร้น้ำหนัก ไร้อากาศ ไร้การป้องกัน) ซึ่ง Payload ที่จะถูกนำมาติดตั้งไว้บน EF ได้นั้นจะต้องเชื่อมต่อกับระบบสนับสนุนที่เรียกว่า ORU (Orbital Replacement Unit) บน EF สำหรับการจัดการพลังงานไฟฟ้า (Electrical Power System: EPS) การสื่อสารและการติดตาม (Communications and Tracking: CT) และการควบคุมอุณหภูมิ (Thermal Control System: TCS)
ORU บน EF มีทั้งหมด 12 ตัว โดย 8 ตัวสามารถเปลี่ยนได้โดยแขนกล JERMRMS อีก 4 ตัว จะต้องให้นักบินอวกาศ EVA ออกมาเปลี่ยนเท่านั้น
Exposed Facility ของโมดูล Kibo – ที่มา NASA
Experiment logistics module (ELM) แบ่งย่อยได้อีกเป็นสองส่วน คือ Pressurized Section (ELM-PS) ซึ่งเป็นส่วนขยายของ PM สำหรับใช้ในการเก็บ Payload อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำรองต่าง ๆ อีกส่วนก็คือ External Section (ELM-ES) ซึ่งเป็นส่วนขยายของ Exposed Facility สำหรับใช้ในการเก็บอุปกรณ์ของ EF และอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายต่าง ๆ
ภาพของ Experiment logistics module ส่วน Pressurized Section – ที่มา NASA
ส่วน Remote Manipulator System หรือ JEM Remote Manipulator System (JEMRMS) เป็นแขนกลยาว 10 เมตร ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนขอบของ PM สำหรับใช้ในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์บนส่วนของ EF และ สำหรับการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนต่าง ๆ จาก ELM โดย JEMRMS ยังมีแขนกลสั้นสำหรับการ Precise Movement ยาว 2 เมตร ติดอยู่กับแขนกลหลักอีกด้วยสำหรับการเคลื่อนย้ายอะไรที่ต้องใช้ความแม่นยำ ซึ่งแขนกลละเอียดอันนี้ความสามารถเทียบเท่าแขนกลของ Canadarm2 เลยทีเดียว
ภาพ Diagram แสดงให้เห็นถึงส่วนประกอบของโมดูล Kibo – ที่มา NASA
Nanoracks CubeSat Deployer (NRCSD) เป็นส่วนที่เอาไว้ใช้ปล่อยดาวเทียม CubeSat จาก ISS โดยตัว CubeSat อาศัยการเดินทางขึ้นมา ISS พร้อมกับยานเติมเสบียงอย่าง CRS ก่อนเพื่อนำ CubeSat มาไว้บน ISS จากนั้นจึงติดตั้ง CubeSat ไว้กับ NRCSD ซึ่งจะทำหน้าที่ปล่อยดาวเทียมด้วยการปลดและส่งมันออกไปในวงโคจร LEO ความสูงใกล้เคียง ISS นั่นเอง
ดาวเทียมจากโครงการ KiboCUBE ก็จะถูกปล่อยจาก NRCSD เช่นกัน อาศัยการเดินทางไปกับยานเติมเสบียงก่อนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแทนที่จะซื้อ Rideshare จากบริษัทปล่อยดาวเทียมเจ้าใหญ่ ๆ ซึ่งอาจมีราคาสูงจนหน่วยงานเดี่ยว ๆ ไม่สามารถส่งได้ จากนั้นจึงนำไปติดตั้งบน NRCSD เพื่อทำการยิงดาวเทียมจาก ISS เข้าสู่วงโคจร LEO นั่นเอง
Nanoracks CubeSat Deployer กับดาวเทียมที่ติดตั้งไว้อยู่บน NRCSD – ที่มา NASA
โครงการ KiboCUBE
โครงการ KiboCUBE ได้เลือกดาวเทียม CubeSat สำหรับการปล่อยบน ISS ไปแล้วถึง 6 ดวง โดย 2 ใน 6 ดวงนี้ถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีก 5 กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา และ KiboCUBE รอบที่ 6 นี้จะคัดเลือก CubeSAT เพิ่มอีกหนึ่งดวงสำหรับการส่งขึ้นไปปล่อยบน ISS ซึ่งโครงการ KiboCUBE นั้นเปิดให้ใครประเทศไหนก็ได้แม้จะไม่มีหน่วยงานอวกาศเป็นของตัวเองก็สามารถส่งได้ และไม่ได้จำกัดที่ระดับประเทศเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็สามารถส่งได้เช่นกัน
การคัดเลือกรอบที่ 1 เมื่อปี 2016 นั้น ดาวเทียม 1KUNS-PF ของ University of Nairobi ประเทศ Kenya ได้รับเลือกให้พัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรทางการเกษตรและชายฝั่ง โดย 1KUNS-PF นั้นถูกปล่อยจาก ISS เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2018 และ De-orbit ตกกลับโลกเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2020
การคัดเลือกรอบที่ 2 ในปี 2017 มหาวิทยาลัยใน Guatemala พร้อมกับดาวเทียม Quetzal-1 สำหรับการทำ Remote Sensing เก็บข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ ถูกปล่อยจาก ISS เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2020 และยังอยู่ในวงโคจรอยู่
ส่วนในรอบที่ 3 ซึ่งคัดเลือกถึงสองดวงนั้น คือ MIR-SAT 1 จาก Mauritius ดาวเทียมถ่ายรูปและดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียม SS-1 จากอินโดนีเซีย สำหรับทดลองเทคโนโลยีการสื่อสารนั้น กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ในรอบที่ 4 และ 5 ดาวเทียม TUMnanoSAT ของ Moldova สำหรับสาธิตเทคโนโลยี และดาวเทียม MORAZAN-SAT จาก SICA สำหรับการสำรวจสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ห่างไกลและระบบเตือนภัยพิบัติก็ถูกคัดเลือกตามลำดับ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่
จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศที่ถูกคัดเลือกนั้น ชื่อไม่คุ้นเลยแม้แต่น้อยและบางประเทศไม่มีหน่วยงานด้านอวกาศเป็นของตัวเองด้วย โครงการ KiboCUBE ของ JAXA และ UNOOSA จึงเป็นโครงการที่เปิดให้ประเทศเหล่านี้ได้มีโอกาสก้าวเข้ามาทดลองทำงานด้านอวกาศได้นั่นเอง แน่นอนว่าประเทศไทยก็สามารถสมัครได้เช่นกัน
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ปิดรับสมัครวันที่ 31 พฤษภาคม 2021
โฆษณา