6 ก.พ. 2021 เวลา 13:01 • ปรัชญา
Two Systems of Thinking: ระบบความคิด 2 ระบบ
ขณะขับรถบนถนนหลวง ข้างหน้ารถมีรถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็วระดับหนึ่ง อยู่ ๆเหยียบเบรก เมื่อเห็นว่าไฟเบรกมีสีแดง ท่านจึงตัดสินใจเหยียบเบรกทันที ท่านคิดว่าการกระทำของท่านนั้นมีกระบวนการคิดก่อนการกระทำเป็นอย่างไร กระบวนการคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องคิด อย่างไรก็ตามมีกระบวนการคิดเกิดขึ้น เป็นไปอย่างอัตโนมัติ พอเห็นไฟเบรกสีแดงท้ายรถคันหน้า ท่านแทบจะสรุปได้ในทันทีว่ารถคันหน้าเหยียบเบรก ท่านจึงตัดสินใจเหยียบเบรกอย่างรวดเร็ว
1
ในอีกเหตุการณ์หนึ่ง ท่านขับรถไปจังหวัดภาคใต้ในช่วงที่น้ำท่วม ในระหว่างการเดินทางท่านพบว่าถนนสายหนึ่งด้านหน้ามีน้ำท่วมขังอยู่ระดับมิดล้อรถยนต์ ท่านจะตัดสินใจอย่างไร จะเดินทางไปต่อในทางเดิมหรือไม่ เหตุการณ์ลักษณะนี้จะพบว่าท่านอาจต้องใช้เวลาตัดสินใจอยู่สักพัก ท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น ระดับน้ำขนาดนี้จะทำให้เครื่องยนต์ของรถดับหรือไม่ มีเส้นทางอื่นไปได้ไหม รถคันที่อยู่ด้านหน้าขับต่อไปได้หรือไม่ หรือมีรถเครื่องยนต์ดับในระหว่างทางนั้นหรือไม่ กระบวนการคิดต่อเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต้องอาศัยเวลา ใช้ความพยายามมากกว่าแบบแรกมาก ต้องตรึกตรอง ใช้เหตุผลมาประกอบการคิด และมีความซับซ้อน
Source: https://www.rogerleishman.com/2017/12/thing1.html?m=1
จากเหตุการณ์สองเหตุการณ์ข้างต้น ท่านจะเห็นกระบวนการคิดทั้งสองแบบ ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ Daniel Kahneman นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล อเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเรื่องการประเมินหลักฐานและการติดสินใจและพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ และได้รับรางวัล Nobel prize ในสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2002 กล่าวถึงแนวคิด Two systems of thinking ประกอบไปด้วยระบบความคิดที่ 1 หรือ system 1 ซึ่งสอดคล้องกับตัวอย่างเหตุการณ์แรก และระบบความคิดที่ 1 หรือ System 2 ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่สองนั่นเอง
ระบบความคิดที่ 1 หรือ System 1 นั้นเป็นระบบความคิดที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ความพยายาม ใช้พลังงานน้อย ใช้สัญชาตญาณ ความรู้สึก อาจมีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง มักจะสรุปอะไรอย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่า "ด่วนสรุป" (Jump to conclusion) อย่างไรก็ตามอาจเกิดความผิดพลาดจากการตัดสินใจด้วยอคติได้ (bias) หรือมีการรับรู้ที่ผิดพลาด (illusion) ดังตัวอย่างข้างต้น การขับรถทั่ว ๆ ไปจะใช้ระบบความคิดนี้ การเห็นสัญญาณไฟสีแดง ทำให้ System 1 ทำงาน แปลผลว่ารถกำลังหยุด และร่างกายของเราตอบสนองทันทีโดยการเหยียบเบรก กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ เราแทบไม่ต้องคิดหรือใช้ความพยายามในการคิด ตัวอย่างอื่น ๆ ที่ใช้ System 1 ในการคิด เช่น
- การบวกลบคูณหารเลขง่าย ๆ (สำหรับเด็กอนุบาลหรือประถมต้น อาจต้องใช้ System 2) ในการคิด
- การค้นหาที่มาของเสียงดัง
- การซื้อสินค้าโดยเลือกตามโฆษณาในโทรทัศน์โดยไม่ได้ไตร่ตรอง
- การที่ผู้ป่วยรับประทานสมุนไพร โดยอ้างว่ามีคนอื่นทานแล้วอาการป่วยดีขึ้น (ซึ่งคนที่ทานแล้วไม่ดีขึ้น ไม่ได้มาบอก)
- เห็นคนหน้าแดง คิ้วขมวด แปลว่าอาจโกรธใครมา
- เวลาเห็นเพื่อนที่ทำงานใส่ชุดดำหลายวันติดกัน จึงคิดว่าญาติของเพื่อนอาจเสียชีวิตและต้องไว้ทุกข์
- เรามีอาการเจ็บคอ น้ำมูก ไอ แล้วคิดว่าเป็นไข้หวัด จึงไปซื้อยามาทาน
- แพทย์ผิวหนังเห็นผื่นจุดน้ำใสเป็นแถบข้างลำตัวด้านขวาผู้ป่วย และให้การวินิจฉัยว่าเป็นงูสวัดในทันที (คนทั่วไปก็อาจวินิจฉัยได้ในทันทีเช่นกัน)
ระบบความคิดที่ 2 หรือ System 2 เป็นระบบความคิดที่อยู่ภายใต้การควบคุม ต้องใช้สมาธิและให้ความสนใจ ไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือน System 1 ใช้พลังงานมาก มีขีดจำกัดของการใช้งาน ใช้สำหรับแก้ปัญหาที่ความซับซ้อน ดังตัวอย่างที่ 2 การตัดสินใจว่าจะเดินทางต่อบนถนนที่น้ำท่วม ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ ใช้สมาธิ ใช้เวลา และพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนนี้ ตัวอย่าง อื่น ๆ ที่ใช้ System 2 ในการคิด เช่น
- การคูณเลขหลายตำแหน่ง เช่น 47 x 84 (บางคนที่อัจฉริยะอาจใช้ System 1 คือ เห็นแล้วตอบได้ในทันที)
- การทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ข้อสอบบางข้อ อาจใช้ System 1 หมายถึง เห็นแล้วรู้ในทันทีว่าต้องตอบว่าอะไร ซึ่งถ้าโจทย์ให้ตัวลวง อาจทำให้ผิดได้)
- การวินิจโรคผู้ป่วย ที่มาด้วยปัญหาซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา
ตัวอย่างเรื่องการขับรถข้างต้น ถ้าเราใช้ระบบความคิดสลับกันจะเป็นอย่างไร
กรณีแรก ขับรถแล้วเห็นไฟเบรก เราเลือกใช้ระบบความคิดที่ 2 เราเห็นไฟสีแดง คงต้องใช้เวลาวิเคราะห์ว่าไฟท้ายรถสีแดง แปลว่าอะไรได้บ้าง ข้างหน้ารถคันนั้นเกิดอะไรขึ้น จะเหยียบเบรกหรือหักหลบดีกว่ากัน ซึ่งถ้าคิดเช่นนี้แล้ว อาจเกิดอุบัติเหตุได้ จนชนท้ายหรือเฉี่ยวชนขึ้นมาได้
ส่วนกรณีที่สอง ขับรถไปตามทางพบว่าน้ำท่วมเส้นทางเดินรถ ถ้าเราเลือกใช้ระบบความคิดที่ 1 เช่น เห็นรถคันหน้าวิ่งผ่านไปได้ จึงตัดสินใจขับตามไป โดยไม่ได้ตระหนักว่ารถคนหน้ามีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดี หรือไม่ เช่นนี้แล้ว รถยนต์เราอาจจะดับกลางน้ำท่วม ทำให้เสียเวลาได้
จากตัวอย่างที่กล่าวมา เหตุการณ์บางเหตุการณ์ หรือบางบริบทเหมาะที่จะใช้ระบบความคิดใดความคิดหนึ่ง การเลือกวิธีคิดที่เหมาะสมนั้น ส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อการตัดสินใจ ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ระบบความคิดทั้งสองเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยระบบความคิดที่ 1 นั้นมักถูกนำมาใช้เกือบตลอดเวลาในการดำรงชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิดผลเสีย อย่างไรก็ตาม งานหรือภารกิจบางอย่างที่มีความสำคัญ เราควรให้ความสนใจ และดึงระบบความคิดที่ 2 มาใช้ เพื่อคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ เพื่อลดอคติและความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้จากระบบความคิดที่ 1 และในบางครั้งการฝึกฝนระบบความคิดที่ 2 ในบางเรื่อง สามารถเปลี่ยนให้เป็นระบบความคิดที่ 1 ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากแพทย์ฝึกหัดที่ต้องอาศัยการคิด วิเคราะห์ ใช้เวลานานในการวินิจฉัยโรค
ระบบความคิดแต่ละระบบนั้น มีข้อดีและข้อจำกัด เราควรเลือกใช้ให้เหมาะสมตามบริบทที่เกิดขึ้น และรู้เท่าทันความคิดของตนเอง
โฆษณา