20 ก.พ. 2021 เวลา 09:26 • ปรัชญา
Characteristics of System 1 thinking: ลักษณะสำคัญของระบบความคิดที่ 1
Source: https://www.protobrand.com/post/2018/04/04/what-is-system-1-thinking
- ตามที่เคยเขียนโพสต์เกี่ยวกับระบบความคิด วันนี้จะมาขยายความระบบความคิดที่ 1
- เป็นระบบความคิดที่ปฏิบัติงานอย่างอัตโนมัติ เปิดทำงานตลอดเวลา และตอบสนองอย่างรวดเร็ว เป็นระบบความคิดที่แทบไม่ต้องใช้พลังงานหรือใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยในการคิด และเราเองแทบจะไม่รู้ว่าจะควบคุมระบบความคิดที่ 1 นี้ได้ เช่น เวลาขับรถไปเรื่อย ๆ เราแทบไม่ต้องคิดว่ามือต้องจับพวงมาลัยอย่างไร เท้าต้องเหยีบคันเร่งอย่างไร หรือจะเหยียบเบรกอย่างไร
- เป็นระบบความคิดที่สร้างความรู้สึก ความโน้มเอียง ความประทับใจ และเมื่อถูกสนับสนุนโดยระบบความคิดที่ 2 แล้วจะก่อให้เกิด ความเชื่อ ทัศนคติ และความตั้งใจ เช่น เราเห็นเพื่อนคนหนึ่งใส่ชุดสีดำติดต่อกันหลายวัน ทำให้เราคิดไปเองว่าเพื่อนแต่งกายไว้ทุกข์เนื่องจากญาติเสียหรือไว้ทุกข์
- ระบบความคิดที่ 1 สามารถถูกควบคุมโดยระบบความคิดที่ 2 ในการเบนความสนใจไปหาเมื่อค้นพบรูปแบบที่จำเพาะ เช่น เวลาเดินไปในซอยเปลี่ยวแล้วเราได้ยินเสียงฝีเท้าตามหลัง เราจึงเบนความสนใจไปในเสียงฝีเท้านั้น และตีความในบริบทดังกล่าวว่ามีคนเดินตาม จึงวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว
- ถ้าระบบความคิดที่ 2 ถูกฝึกใช้งานจนเกิดเป็นทักษะ มีความชำนาญในการคิด สามารถเกิดการหยั่งรู้ในแบบระบบความคิดที่ 1 ได้ เช่น เซียนหมากรุก เซียนโกะ การวางหมากบางครั้งทำไปอย่างอัตโนมัติ โดยแทบไม่ต้องคิด
- กระตุ้นให้เกิดชุดของความคิดที่มีรูปแบบที่มีสอดคล้องเกี่ยวข้องกัน ภายในหน่วยความจำ เช่น เวลาขับรถไปในท้องถนน พบว่ามีอุบัติเหตุรถชนกัน จึงมีความคิดไปว่า เขาคงขับรถเร็ว ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ให้สัญญาณไฟ ถ้าเป็นเราจะระวังยังไง เป็นต้น
- ชอบคิดอะไรให้ง่ายไว้ก่อน (cognitive ease) อะไรที่ทำให้รู้สึกดี ทำให้ลดความระแวดระวัง เช่น การที่แพทย์วินิจฉัยผิดพลาดว่าผู้ป่วยที่มาด้วยจุกแน่นลิ้นปี่เป็นโรคกระเพาะ ทั้งที่จริงแล้วผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ในกรณีนี้เนื่องจากแพทย์คิดสรุปเอาง่าย ๆ ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จุกลิ้นปี่เป็นโรคกระเพาะ ไม่ได้ฉุกคิดว่าอาจมีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่
- ช่วยแยกแยะสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่ปกติ เช่น เวลาอ่านหนังสือ แล้วพบว่ามีการสะกดคำผิด การเห็นร่องรอบสกปรกบนพื้นสีขาว แพทย์เห็นความผิดปกติบนภาพเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วย
- ชอบอนุมาน และสร้างเหตุและผลเพื่อสนับสนุนความคิด (confirmation bias) เช่น วันนี้ PM2.5 สูงมาก และเมื่อเดินข้ามถนน พบว่ามีรถติด ทำให้คิดว่ารถบนท้องถนนเป็นสาเหตุที่ทำให้วันนี้ PM2.5 สูง (จริง ๆ แล้ว มีปัจจัยหลายอย่าง มากกว่าบนท้องถนน เช่น แรงกดอากาศ ทิศทางลม มลพิษจากท้องที่อื่น ๆ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะ เป็นต้น)
- เพิกเฉยความคลุมเครือ และระงับความใคร่รู้สงสัย เช่น คนบางคนเลือกที่จะเพิกเฉยต่อการทุจริตคอรัปชั่นของหน่วยงานราชการ การติดสินบน และปล่อยผ่านความคลุมเครือนี้ ทั้งที่จริงแล้วควรตั้งข้อสงสัย และค้นหาความจริง
- มีอคติที่จะเชื่อและยืนยัน เช่น ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีกลุ่มทางการเมืองอย่างน้อยสองกลุ่ม ซึ่งอยู่คนละขั้วของความคิด แต่ละกลุ่มจะเชื่อข้อมูลของฝ่ายตนเอง และเพิกเฉยต่ออีกฝ่าย แม้ว่าความเป็นจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น
- มีความเอนเอียงในการใช้วิจารณญาณ ความคิดที่เกิดขึ้นถูกบดบังโดยคุณลักษณะพิเศษบางอย่าง ทำให้เกิดไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความจริง (halo effect) เช่น กรรมการตัดสินการประกวดนางงาม ตัดสินให้นางงามคนหนึ่งที่มีความโดดเด่น ออกสื่อบ่อย และรู้จักกัน ให้คะแนนตอนขึ้นเวทีสูงมาก โดยไม่ได้พิจารณาตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็นขณะขึ้นเวทีประกวด
- ให้ความสำคัญต่อหลักฐานที่ปรากฏอยู่ และละเลยในสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็น (What You See Is All There Is: WYSIATI) เช่น เราเลือกที่จะเชื่อข้อมูลที่มีการนำเสนอใน Twitter หรือ Facebook เพียงอย่างเดียว โดยไม่หาข้อมูลรอบด้าน ทำให้บางครั้งหลงเชื่อต่อ fake news
- ทำให้การประเมินบางสิ่งบางอย่าง ด้วยชุดเครื่องมือที่จำกัด ไม่ครอบคลุม เช่น การเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง เราประเมินสินค้าดังกล่าว ด้วยข้อมูลจากโฆษณา หรือชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ไปทดลองใช้ ไม่ได้ประเมินอย่างรอบด้าน เช่น ความคุ้มค่า ราคา วัสดุ การรับประกัน การใช้งาน เป็นต้น
- มีกระบวนการคิดเกิดขึ้นและประมวลผลโดยอัตโนมัติ ในสิ่งที่เราเข้าใจ ทั้งที่ไม่จำเป็น (mental shotgun) เช่น เราอดไม่ได้ที่จะอ่านตัวหนังสือบนป้ายโฆษณา ขณะขับรถ เราอดไม่ได้ที่จะคิดคำนวณเมื่อเห็นโจทย์เลขง่าย ๆ เป็นต้น
- ให้น้ำหนักมากเกินไปในสิ่งที่ความน่าจะเป็นต่ำ (base-rate neglect) เช่น เห็นดาราโพสต์ว่าถูกหวย จึงคิดว่าโอกาสถูกหวยนั้นสูง จึงเล่นหวยตาม ในความเป็นจริง โอกาสที่จะถูกหวยนั้นน้อยมากก็ตาม
- ไวต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าสถานะที่เป็นอยู่ (prospect theory) เช่น สมมุติว่าเราจะเดินทางไปต่างประเทศ โอกาสที่เครื่องบินตก คือ 1 ใน 10 ล้าน แม้ว่าความเสี่ยงนี้น้อยมาก ๆๆๆ เราก็ยังเลือกซื้อประกันภัยการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอันน้อยนิด (จะเห็นว่าเราไวต่อการเปลี่ยนแปลงหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นมากกว่าสถานะที่เป็นอยู่หรือความเสี่ยงพื้นฐานอย่างมาก)
- ตอบสนองต่อการสูญเสียมากกว่าการได้รับ (loss aversion) เรารู้สึกเสียดายที่ขายหุ้น OR ตอน 26 บาท ถ้ารออีกอาทิตย์เราจะขายหุ้นราคา 36 บาท (ในความเป็นจริง เราซื้อหุ้นมา 18 บาท ตอนขาย 26 บาท เราได้กำไร แต่เรารู้สึกเสียดายโอกาสที่จะทำกำไรมากกว่านี้)
- ชอบทดแทนการตอบคำถามที่ยากด้วยการตอบคำถามที่ง่ายกว่า (heuristics) เช่น เวลาถูกถามว่าทุกวันนี้เรามีความสุขหรือไม่อย่างไร เรามักจะเลือกตอบคำถามที่ง่ายกว่า คือ ตอนนี้อารมณ์เราเป็นอย่างไร (ทั้งที่ความเป็นจริง คือ คนละคำถามเลย)
จากคุณลักษณะของระบบความคิดที่ 1 ข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีทั้งข้อได้เปรียบ และข้อจำกัด โดยข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับระบบนี้คือ อคติในการคิดและตัดสินใจ ดังนั้น การรู้เท่าทันระบบความคิดที่ 1 จะช่วยให้เรามองเห็นอคติที่เกิดขึ้นจากความคิด และมองทุกอย่างตามความเป็นจริง และลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการมีอคติในการคิดและตัดสินใจ
(ดัดแปลงจากหนังสือ Thinking, Fast and Slow)
โฆษณา