9 ก.พ. 2021 เวลา 02:09 • การศึกษา
ตั้งแต่เล็กจนโต พวกเราทุกคนเรียนหนังสือกันยาวนานสิบกว่าปี มีบางวิชาที่เรารู้สึกว่า "เรียนไปก็ไม่ได้ใช้" ซึ่งเรามักจะรู้สึกเช่นนี้กับวิชาที่เราเรียนไม่รู้เรื่อง หรือยากเกินความเข้าใจในขณะนั้น
ในทางจิตวิทยา หากรู้สึกว่าเรื่องใดเป็นเรื่องยาก คนเรามักจะพยายามมากขึ้นกับเรื่องนั้น ทว่าก็ต้องอาศัยทัศนคติเชิงบวกเป็นทุนเดิม
อุปสรรคของการเรียนในหลายศาสตร์วิชา ไม่ใช่เรื่องของความยาก แต่คือมุมมองหรือความรู้สึกว่า “เรียนไปก็ไม่ได้ใช้” เห็นได้บ่อยในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ที่ผู้ใหญ่หลายคนมักพูดว่า "เรียนไปก็ไม่ได้ใช้" ซึ่งการคิดแบบนี้ ส่งผลในทางลบยิ่งกว่าการไม่พยายาม
โจทย์คณิตศาสตร์ เปรียบเสมือนการแปลงนามธรรมให้เป็นรูปธรรม บางโจทย์ต้องอาศัยการมองกลับไป-กลับมา ถอดตัวประกอบ หาตัวร่วม ตัวแปร ฯลฯ บางโจทย์ มองแค่แบบเดียว คิดแค่ชั้นเดียวอาจแก้ไม่ได้ จึงต้องฝึกมองจากหลากหลายมุม
สูตรคณิตศาสตร์ เป็นแค่กฎเกณฑ์เบื้องต้น ก่อนที่จะนำไปใช้เพื่อไขปัญหาใด ๆ จำเป็นที่เราต้องเข้าใจมันให้ดีเสียก่อน ซึ่งกว่าจะไปถึงขั้นดัดแปลง-พลิกแพลง เรายิ่งต้องรู้จักมันให้ได้อย่างถ่องแท้ และหากจะไปให้ถึงขั้นมองปุ๊ป-รู้ปั๊ป นั่นก็ยิ่งต้องอาศัยการฝึกฝน สิ่งนี้เรียกว่าประสบการณ์
อีกทั้งในแต่ละคน วิธีการย่อมแตกต่างกันไป เพราะชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ บางคนเจ้าหลักการ แต่บางคนก็ไม่สน เพราะมุ่งแต่ผล ไม่สนวิธี ฯลฯ มีหลายครั้งที่ลอกกันมาทั้งดุ้น แต่ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนกัน ในชีวิตคนเรา เจอโจทย์มากมายหลายครั้ง หลายรูปแบบ วนเวียนมาให้เราแก้อยู่เสมอ ไม่ต่างอะไรกับโจทย์คณิตศาสตร์ ขอเพียงให้เรามีหลักคิดที่ถูกต้องและเชื่อว่า "หลักคิดที่ถูกต้องนั้น มีอยู่จริง"
คำพูดที่ว่า "เรียนไปก็ไม่ได้ใช้" หากเราพยายามกับมันมากพอ หรือไตร่ตรองให้รอบด้านพอ หรือแม้แต่ "มีชีวิตอยู่ให้นานพอ" ก็จะพบว่าวิชาต่าง ๆ ที่เราร่ำเรียนกันมา ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเราเสมอ ในทางใดทางหนึ่ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
เครดิตภาพ Dominic Walliman ©2017
THE MAP OF MATHEMATICS
โฆษณา