9 ก.พ. 2021 เวลา 10:30 • หนังสือ
อย่าคิดโจทย์เลขขณะขับรถ!
หลายอย่างที่เราทำหรือตัดสินใจทำอะไร เรามักจะเชื่อว่าเราใช้เหตุผลอย่างดีแล้ว
แต่ก็บ่อยครั้งทีเดียวที่เรา “แค่คิดไปเอง” ว่าเรามีเหตุผล
นักจิตวิทยาค้นพบว่าเราใช้เหตุผลน้อยกว่าที่เรารู้ตัวเยอะ
หนังสือ Thinking fast and slow ของ Daniel Kahneman จะพาพวกเราไปเปิดโลกการคิดของมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยการคิดแบบช้า และการคิดแบบเร็ว ตามชื่อหนังสือแเล่มนี้
ไม่น่าเชื่อเลยว่าแค่การคิดสองแบบนี้ จะส่งผลให้เกิดกระบวนการประหลาด ๆ ในสมองของเราตามมา
อย่างเช่น การอคติ (Bias) การถูกปูพื้นทางความคิด (Priming effect) การยิดติด (Anchoring effect)
ยังมีเรื่องราวแปลก ๆ อีกมากมายเกิดขึ้นภายในหัวของเรา แม้ว่าเราจะไม่รู้ตัวเลยก็ตาม ซึ่งบทความนี้จะยังไม่เล่าถึงสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด
บทความนี้จะมาชวนคุยเรื่องภาพรวมในการคิดแบบช้าและการคิดแบบเร็วของมนุษย์กันครับ
แบ่งปันแนวคิดจาก Thinking fast and slow
Book Borrow Podcast
"1 คนอ่าน 100 คนรู้ แบ่งปันสิ่งดีๆ ไปด้วยกัน ผ่านการอ่านหนังสือ"
Podcast ที่จะมาพูดคุยและแชร์ไอเดียจากหนังสือพัฒนาตัวเอง
เริ่มต้นวันใหม่ด้วยเรื่องราวดีๆ ไปด้วยกัน
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 6 โมงเช้า ตอนนี้มีให้เสพทั้งใน
เริ่มด้วยผู้เขียนได้นำเสนอตัวละครสมมติที่อาศัยอยู่ในตัวเราสองตัวละครด้วยกัน
มีชื่อว่าระบบ 1 (System 1) และระบบ 2 (System 2)
ระบบ 1 คือระบบการคิดแบบเร็ว ๆ ทำงานอย่างอัตโนมติ และรวดเร็ว เราไม่ต้องใช้ความพยายามหรือใช้ความพยายามน้อยมาก อีกทั้งยังไม่ต้องใช้การควบคุมอย่างตั้งใจ
เช่น การที่ผมถามคุณว่า 2+2 = ? คุณก็ตอบได้ในแทบจะทันทีเลยว่า 4
หรือการที่เพื่อนของคุณตะโกนเรียกชื่อคุณจากที่ไหนสักที่ คุณสามารถหันไปหาแหล่งกำเนิดเสียงได้ โดยแทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลย
ในขณะที่ระบบ 2 คือระบบที่เกี่ยวข้องกับการคิดอย่างช้า ๆ มันจะจัดการความสนใจของเราให้กับกระบวนการทางสมองที่ต้องใช้ความพยายามที่มากกว่า
เช่น การที่ผมถามคุณว่า 17x24 = ? ถ้าคุณไม่ใช่เซียนคิดเลขเร็ว คราวนี้คุณคงจะตอบไม่ได้ในทันที
แต่คุณสามารถตอบได้ถ้าข้าง ๆ คุณมีกระดาษกับดินสอ
หรือบางทีคุณอาจจะคิดในใจก็ได้ แต่ถ้าคุณกำลังเดินอยู่คุณก็มีแนวโน้มที่จะเดินช้าลงหรือไม่ก็หยุดเดินไปเลยเพื่อที่จะคิดโจทย์เลขข้อนี้
นักจิตวิทยาพบว่าการทำงานของระบบ 1 และระบบ 2 มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
โดยที่ระบบ 2 จะไปรบกวนการทำงานของระบบ 1
ขณะที่ระบบ 1 กำลังทำงานไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อถูกรบกวนให้ต้องเพ่งความสนใจหรือความพยายามมากเป็นพิเศษ “ระบบ 1 จะทำงานได้แย่ลง”
การเดินเป็นการตอบสนองอย่างอัตโนมัติ แทบไม่ต้องใช้ความพยายามในการคิดมากก็สามารถเดินได้
แต่เมื่อถูกถามว่า 17x24 = ? การเดินด้วยอัตราเร็วเท่าเดิมพร้อมกับคิดในใจไปด้วยจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
หากคุณกำลังขับรถ คุณอาจจะขับไปด้วยคุยไปด้วยได้ เพราะการขับรถเป็นการตอบสนองของระบบ 1 เช่นกัน แต่หากคุณกำลังจะแซงรถบรรทุก คุณก็มีแนวโน้มที่จะหยุดพูด และหยุดฟังชั่วขณะ เพราะระบบ 2 กำลังรวบรวมความสนใจไปที่การแซงรถบรรทุก ซึ่งก็ไปรบกวนการทำงานของระบบ 1 คือการพูดคุยด้วย
การคิดโจทย์เลขอย่าง 17x24 = ? จึงไม่ควรทำในขณะที่เรากำลังขับรถโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกำลังแซงรถบรรทุก (และก็ไม่ควรลองทำด้วย) ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะรบกวนการขับรถของเรา และอาจก่อให้อุบัติเหตุร้ายแรงได้
เป็นไปได้ยากมากที่ใช้งานระบบ 2 ไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะระบบ 2 เป็นระบบที่ค่อนข้างจะขี้เกียจ เชื่องช้า และไร้ประสิทธิภาพมาก ๆ
การตอบสนองของมนุษย์เราในชีวิตประจำวันจึงพึ่งพาระบบ 1 อยู่บ่อย ๆ
และการตอบสนองด้วยการคิดเร็ว ๆ นี่ล่ะ ทำให้เราไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงบางอย่างอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน ทำให้มนุษย์เราไร้เหตุผลในบางที แม้เราจะรู้สึกว่าเราใช้เหตุผลดีแล้วก็ตาม
ในบทความถัด ๆ ไป ผมจะเล่าการทดลองทางจิตวิทยาที่น่าสนใจมากมาย
ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้งานระบบ 1 และระบบ 2 ครับ
ชอบกดไลก์ ใช่กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้นักเขียน
“1 คนอ่าน 100 คนรู้” ร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆ ไปด้วยกัน ผ่านการอ่านหนังสือ
ติดตาม Book Borrow ได้ใน
IG : @bookborroww
#thinkingfastandslow #คิดเร็วและช้า #อย่าคิดโจทย์เลขขณะขับรถ #bookborrow

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา