7 ก.พ. 2021 เวลา 05:33 • ประวัติศาสตร์
เศษซากปรักหักพังของวัดวาอาราม รวมถึงพระราชวังในเมืองโบราณต่าง ๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดจากการโดนพม่าเผาไปเสียทั้งหมด เหมือนอย่างที่เรารับข้อมูลกันในหนัง ในละครนะครับ
จริงอยู่ เมื่อตอนทัพอังวะกรูกันเข้าปล้นเมือง ในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ เขาจะได้เผาทำลายสถานที่สำคัญอันเป็น "สัญลักษณ์" ในพระนคร และพระราชวังหลวงอยู่หลายแห่ง
แต่ซากปรักหักพังที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ยังมาจากสาเหตุอื่นด้วย ต่างกรรมต่างวาระกันไป
อย่างเช่น
ในแผ่นดินกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ก็เคยเปิดประมูลเพื่อให้คนมาขุดสมบัติในเมืองกรุงเก่า ... จนเกิดกบฏพระยาสรรค์
ในบันทึกของฝรั่งหลายเล่ม ก็ยังบรรยายสภาพเมืองกรุงเก่าว่า มีการเอาไม้จากบานประตูวัด-วัง มาเป็นเชื้อฟืนเพื่อหลอมทองที่ขุดพบ จนควันโขมงไปทั้งเมือง
เมื่อตอนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการรื้ออิฐในกรุงเก่า ล่องแพไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำอิฐไปสร้างกำแพงเมือง สร้างวัดวาอาราม ฯลฯ
หรืออย่างตอนสร้างเจดีย์ภูเขาทอง ที่วัดสระเกศ ในกรุงเทพ ฯ ก็ได้มีการรื้ออิฐจากเมืองกรุงเก่าไปใช้ในการก่อสร้างครั้งใหญ่ด้วย
... ในสมัยโบราณ ยังไม่มีศาสตร์เรื่องการอนุรักษ์เหมือนในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสร้างเมืองใหม่นั้นถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะต้องสร้างความมั่นคงให้บ้านเมืองอย่างเร็วที่สุด
การจะมานั่งเผาอิฐใหม่ทีละก้อน ๆ ก็คงไม่ทันการณ์ จึงได้รื้ออิฐจากเมืองที่ถูกทิ้งร้างไปแล้ว เอามาใช้การแทน
นอกจากการถูกรื้ออิฐไปใช้ประโยชน์ในคราวต่าง ๆ แล้ว ซากปรักหักพังของโบราณสถานหลายแห่งในบ้านเรา ยังเกิดจากการโดน “คน” (คนเราในปัจจุบันนี่แหละ) ขโมยขุดหาสมบัติด้วย บางครั้งขุดกันจนพรุน ทำให้โครงสร้างของตัวโบราณสถานเสียหาย พังทลายลงมาก็เยอะ
... ที่ท่านเห็นในภาพนี้ เป็นตัวอย่างการรื้ออิฐจากกำแพงเมืองสุพรรณ (รวมถึงเมืองหน้าด่านอื่น ๆ) ในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทั้งนี้ก็ป้องกันเพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้กำแพงที่แน่นหนามั่นคงของเมือง มาเป็นประโยชน์ในการตั้งค่ายกันได้ในภายหลัง ...
สมัยก่อนเขายังไม่มีวิชาความรู้เรื่องการอนุรักษ์ แต่ในเมื่อสมัยนี้เรามีความรู้เรื่องนี้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษามรดกของปู่ย่าตายายเราให้คงอยู่สืบไป
---
อ้างอิง :
1. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
2. โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง : จักรวาลวิทยาและพหุสังคม (1 ก.ค. 60)
ภาพถ่าย :
ผมถ่ายมาจากส่วนจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2562
โฆษณา