7 ก.พ. 2021 เวลา 07:44 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology)
อวกาศ หมายถึงพื้นที่บนท้องฟ้าเหนือพื้นโลกขึ้นไป 200 กิโลเมตร (อ้างอิงจาก ESA : European Space Agency) ซึ่งพ้นจากชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกของเราเอาไว้
ในอวกาศไม่มีอากาศที่สามารถกระเจิงแสงอาทิตย์ (Scattering of light) ให้เรามองเห็นเป็นสีน้ำเงินเหมือนในเขตบรรยากาศของโลกได้ ในอวกาศนั้นจึงมืดมิดเป็นสีดำที่เต็มไปด้วยแสงจากดาวฤกษ์นับล้าน ๆ ดวงในเอกภพ สภาพสุญญากาศในอวกาศทำให้เราไม่สามารถพูดคุยกันได้ เพราะว่าคลื่นเสียงไม่สามารถเดินทางในสุญญากาศได้
ก่อนหน้านี้เรามักคิดว่าอวกาศคือความว่างเปล่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ช่องว่างในระหว่างดวงดาวมากมายในอวกาศนั้นกลับเต็มไปด้วยฝุ่นและแก๊สจำนวนมากครับ แม้แต่ส่วนที่ว่างที่สุดก็ยังเต็มไปด้วยอะตอมและโมเลกุลต่าง ๆ รวมถึงรังสีต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศ ตัวอย่างเช่น รังสีอินฟราเรดและอัลตร้าไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา รังสีคอสมิก นอกจากนี้ยังมีอนุภาคต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วแสงอีกด้วย
ทำไมต้องสำรวจอวกาศ?
เพราะธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ย่อมมีความอยากรู้อยากเห็น อยากรู้เรื่องราวของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว อยากรู้อดีตและอนาคตของตัวเอง การคาดเดาเรื่องราวของตัวเรานี้ เราอาจคาดเดาได้จากประสบการณ์ การเรียนรู้ การสังเกตคนอื่นที่อยู่รอบตัวเรา แล้วนำมาอนุมานได้ว่าตัวเราเคยเป็นอย่างไรและอนาคตจะเป็นอย่างไร
ซึ่งการเรียนรู้ความเป็นมาและเป็นไปของโลกก็เช่นเดียวกันครับ เมื่อไม่มีใครเกิดมาทันเห็นการกำเนิดโลก มนุษย์เราจึงต้องศึกษาและเรียนรู้โลกของเรา จากการเปลี่ยนแปลงของดวงดาวดวงอื่น ๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับโลกว่ากำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร และในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปครับ
ยุคแห่งการบุกเบิกอวกาศ
ดาวเทียมสปุตนิก 1 (Sputnik 1)
การส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 (Sputnik 1) เมื่อปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลก และเป็นยานอวกาศลำแรกในโครงการสปุตนิก ดำเนินการโดยสหภาพโซเวียต (รัสเซียขณะนั้น) นับเป็นยุคบุกเบิกสู่การแข่งขันทางอวกาศ โดยในช่วงตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา มนุษย์มีการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางอวกาศอย่างต่อเนื่อง
แต่ในช่วงหลังนั้น การสำรวจอวกาศไม่ใช่การสำรวจเพื่อแข่งขันและชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีอวกาศ แต่เป็นความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อร่วมสำรวจอวกาศ เช่นการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) และสั่งสมองค์ความรู้เกี่ยวกับอวกาศและดาราศาสตร์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในอนาคต เช่น การสื่อสารผ่านดาวเทียม การสำรวจทรัพยากรโลก เป็นต้น
โฆษณา