10 ก.พ. 2021 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
EP2: บริหารความเสี่ยงก่อนเข้าสนามลงทุน
Risk Protection
ขอเล่าความเป็นมาอีกซักนิดก่อนเริ่มครับ ที่ตั้งใจจะเขียนบทความเริ่มตั้งแต่พื้นฐานการวางแผนการเงินเพราะมีน้องๆวัยทำงานใหม่ๆเข้ามาถามเยอะว่า จะเริ่มลงทุนต้องทำยังไง ผมเลยมีความตั้งใจว่าจะเขียนบทความให้น้องๆที่มาถามอ่านไปด้วย เรื่องพื้นฐานพวกนี้เราอย่าข้าม หลายคนละเลยพื้นฐานไป กระโดดเข้าใส่สนามลงทุนเลย เวลาที่เจ็บมันก็จะเจ็บหนัก เหมือนปราสาททรายที่ฐานไม่แข็งแรง พอน้ำทะเลซัดมาก็หายไปหมดเลย ผมเลยอยากให้เราไปอย่างแน่นๆ ไม่ข้ามขั้น จะทำให้เราไปได้ไกลกว่าในระยะยาวครับ
จากบทความก่อนหน้านี้เรื่อง ก้าวแรกสู่อิสระภาพทางการเงิน
เราได้พูดถึงบันไดขั้นแรกสู่อิสระภาพการเงินกันไปแล้ว ซึ่งเป็นฐานแรกของปิรามิดวางแผนทางการเงิน เรื่องนี้มีรายละเอียดมากพอสมควร และก็มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้ครบถ้วนอยู่แล้ว ก็คือ A-Academy ใครสนใจตามไปเรียนได้ฟรีครับ เป็นเว็บสอนการวางแผนการเงินที่ทรงคุณค่ามากของเมืองไทยเลยครับ
http://www.a-academy.net/start-here/
วันนี้เรามาคุยฐานที่ 2 ของปิรามิดวางแผนทางการเงินต่อกัน ก่อนที่จะเข้าสู่สนามลงทุนสิ่งแรกที่อยากแนะนำก็คือ “เงินลงทุนต้องเย็น” หมายถึงเงินที่ลงทุนไปนั้นต้องไม่รีบนำกลับมาใช้จ่าย หากมีปัญหาอะไรต้องไม่รีบดึงเงินออกจากสนามลงทุน ถ้าทำแบบนี้ได้เงินของเราถึงจะออกไปทำงานได้เต็มที่ แต่ถ้าเงินส่วนที่เรานำไปลงทุนไม่เย็นพอ เกิดมีเรื่องใช้เงินขึ้นมาต้องดึงเงินกลับ อาจทำให้เราเสียหายยิ่งกว่านำเงินไปฝากธนาคารนิ่งๆไว้เสียอีก
สมมติว่าเราซื้อหุ้นตัวนึงไว้ที่ราคา 20 บาท เราคาดว่าในอีก 5 ปีน่าจะเติบโตไปได้ถึง 30 บาท แต่เผอิญสภาพตลาดหุ้นไม่เป็นใจในปีที่ 2 ราคาหุ้นตกลงไป 12 บาท และเรามีความจำเป็นต้องถอนเงินออกมาใช้ก่อนทันที ดังนั้นเราจะขาดทุนทันที หุ้นละ 8 บาท ทั้งที่ใจจริงเราวิเคราะห์ไว้แล้วว่าปีที่ 5 บริษัทจะต้องเติบโตแน่นอน แต่เราก็ไม่สามารถที่จะถือได้ตามแผนที่วางไว้
ดังนั้นเราควรหาวิธี “ปิดความเสี่ยงที่จะให้เงินลงทุนของเราไม่นิ่ง” เราไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งขึ้นไปได้เลยถ้าฐานเรื่องนี้เรายังไม่แน่น การปิดความเสี่ยงขั้นพื้นฐานที่ผมมองเอาไว้ก็มี ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และเรื่องพื้นฐานที่ไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงินก็คือการดูแลสุขภาพตัวเอง ใครทำงานประจำลองเช็คสิทธิ์ตัวเองก่อนว่ามีใช้อะไรเท่าไหร่ แล้วขาดอีกเท่าไหร่ก็ไปทำเพิ่ม ส่วนคนที่ต้องดูแลตัวเองเช่นเจ้าของกิจการ หรือฟรีแลนซ์ ยังไงห้ามมองข้ามเรื่องนี้เด็ดขาด
ยกตัวอย่างผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ทำงานในองค์กร สิทธิ์ที่เรามีทุกคนแน่ๆนั่นก็คือ ประกันสังคม ต่อมาก็อาจจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ตามแต่สวัสดิการของแต่ละองค์กร ถ้าเป็นทางราชการก็จะได้ประโยชน์ทางนี้มากหน่อย พ่อแม่ก็เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ บุตรหลานก็ยังเบิกค่าเล่าเรียนได้ หลังจากรวบรวมสวัสดิการทั้งหมดแล้วเราจะรู้แล้วว่า พอเราป่วยมา OPD ครั้งละเท่าไหร่, มีสิทธิ์เบิกใช้สิทธิ์ในการรักษาปีละเท่าไหร่, ค่าเตียงได้คืนละเท่าไหร่
ถ้าเราคิดว่าสิทธิ์ที่มียังไม่พอ ก็ต้องหาทำเพิ่ม อ้อ! แล้วก็ความเสี่ยงอีกส่วนนึงก็คือคนที่คุณรักด้วยนะครับ หากพวกเขาเหล่านั้นป่วยแล้วเราจะต้องหาเงินจำนวนนึงมาดูแลก็อย่าลืมกันเงินส่วนนี้ไว้ หรือหากทำประกันได้ก็ทำให้พวกเขาด้วยครับ ของพวกนี้ใครมีเพื่อนเป็น financial planner หรือตัวแทนนายหน้าประกันก็ปรึกษาเขาได้เลย
เงินลงทุนเย็น
ประกันอีกตัวนึงที่ไม่แนะนำไม่ได้เลยคือประกันชีวิต ประกันตัวนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับทำให้เงินลงทุนเรานิ่ง แต่มีไว้สำหรับคนที่เราต้องดูแลพวกเขาอยู่ในทุกวันนี้ กรณีที่หากเราจากไปพวกเขาจะใช้ชีวิตได้อย่างไม่สะดุด เดินหน้าต่อไปได้แม้ไม่มีเรา
วิธีวางแผนประกันชีวิตส่วนตัวที่ผมใช้คือ สมมติว่าเราส่งเงินให้พ่อแม่เดือนละ 10,000 บาท ในกรณีที่พ่อแม่เราไม่มีบำนาญ หรือรายได้ทางอื่น หากเราจากไปอย่างกระทันหันก็น่าจะมีเวลาให้พ่อแม่ปรับตัวอย่างน้อย 2-5 ปี(หรือ 10 ก็แล้วแต่) คิดเป็นทุนประกันราวๆ 240,000-600,000 บาท ผมเลือกเป็นประกันชีวิตแบบจ่ายทิ้ง หรือภาษาประกันเรียกว่า term insurance ข้อดีคือเบี้ยถูก ความคุ้มครองสูง แต่เป็นการจ่ายทิ้ง ไม่ได้มีส่วนของเงินออมหรือคืนเงินตอนท้าย อันนี้สุดแล้วแต่ทุกคนเลือก จะคุ้มครองมากขึ้นก็เป็นผลดีต่อคนข้างหลังเราแต่ก็แลกมาด้วยเบี้ยที่แพงขึ้น ลองดูตามความเหมาะสมและความพร้อมของเราครับ
เอาหละครับวันนี้มาสรุปกันก่อน จากบทความที่แล้วเราปูพื้นฐานปิรามิดวางแผนทางการเงินขั้นแรกคือ การเงินเราเริ่มดี มีสภาพคล่อง เริ่มเก็บเงินได้ และบทความนี้พูดถึงปิรามิดขั้นที่ 2 เราปิดความเสี่ยงที่จะทำให้เงินของเราต้องออกจากสนามลงทุนก่อนเวลาอันควร ทำให้เงินลงทุนเป็นเงินเย็น หากใครทบทวนแล้วมีความเสี่ยงตรงไหนลองไปปิดความเสี่ยงก่อนนะครับ เดี๋ยวบทความต่อไปเราจะเริ่มเข้าสู่สนามลงทุนกันแล้ว
“May the Wealth be with You”
— Machine Logic —
โฆษณา