7 ก.พ. 2021 เวลา 12:09 • การศึกษา
ความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป โดยมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ มาตรา 305 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการทำให้หญิงแท้งลูก โดยกำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือ ยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา ๓๐๑ รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามมาตรา ๓๐๕
มาตรา ๓๐๑ หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์ เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๐๕ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๐๑ หรือมาตรา ๓๐๒ เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด
(๑) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
(๒) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(๓) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิด เกี่ยวกับเพศ
(๔) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
(๕) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น
จากกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะเห็นได้ว่าได้มีการนำอายุครรภ์มากำหนดความผิดตามมาตรา 301 (แก้ไขใหม่) กล่าวคือ ถ้าหญิงที่มีครรภ์ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งลูกขณะอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ หญิงนั้นจะมีความผิดตามาตรา 301 (แก้ไขใหม่) แต่ในทางกลับกัน หากหญิงที่มีครรภ์ทำให้ตัวเองแท้งลูก หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งในขณะที่อายุครรภ์ยังไม่เกิน 12 สัปดาห์ หญิงนั้นก็จะไม่มีความผิดตามมาตรา 301 (แก้ไขใหม่) นั้นเอง
มีข้อสังเกต(1) มาตรา 301 (แก้ไขใหม่) เป็นกฎหมายที่มุ่งเอาผิดแก่หญิงที่มีครรภ์เท่านั้นไม่ได้มุ่งเอาผิดแก่บุคคลอื่นที่ทำให้หญิงแท้งลูก
www.pixabay.com
ประเด็นต่อมาคือในกรณีที่ผู้อื่นทำให้หญิงแท้งลูกนั้นผู้กระทำยังคงมีความผิดอยู่หรือไม่
ประเด็นในส่วนนี้จึงต้องพิจารณามาตรา 302 กรณีที่ผู้อื่นทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม และมาตรา 303 กรณีที่ผู้อื่นทำให้ผู้หญิงแท้งลูกโดยที่หญิงนั้นไม่ยินยอม จะเห็นได้ว่า มาตรา 302 และ 303 ไม่มีการแก้ไขใหม่จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายเดิม
ข้อสังเกต (2) มาตรา 302 และ 303 เป็นกฎหมายที่มุ่งเอาผิดแกบุคคลอื่นที่ทำให้หญิงแท้งลูกเท่านั้นไม่ได้มุ่งเอาผิดแก่หญิงมีครรภ์เพราะหญิงมีครรภ์จะต้องรับผิดตามมาตรา 301 อยู่แล้วนั้นเอง
ในการพิจารณาว่ากรณีที่ว่าผู้อื่นทำให้หญิงแท้งลูกยังคงมีความผิดอยู่หรือไม่นั้น ต้องแยกพิจารณาเป็น 3 กรณีดังนี้
กรณีที่ 1 ผู้กระทำเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยหญิงนั้นยินยอม
กรณีผู้กระทำเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เห็นว่าแม้ผู้กระทำจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและหญิงจะยินยอมก็ตาม แต่การทำให้หญิงแท้งลูกยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 302 อยู่นั้นเอง (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความผิดตามมาตรา 302) แต่อย่างไรก็ดีตามมาตรา 305 (แก้ไขใหม่) เป็นบทยกเว้นความผิดให้การทำให้หญิงแท้งลูกถ้าเป็นการกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาไม่เป็นความผิดในกรณีดังต่อไปนี้
1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
2.จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
3. หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิด เกี่ยวกับเพศ
4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
5. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น
www.pixabay.com
ข้อสังเกต (3) มาตรา 305 (1) – (3) ไม่คำนึงถึงอายุครรภ์ของหญิงแม้อายุครรภ์จะเกิน 12 สัปดาห์ ถ้าเป็นการกระทำกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา หญิงมีครรภ์ไม่มีความผิด ตามมาตรา 301 (แก้ไขใหม่) และ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่มีความผิดตามมาตรา 302 ทั้งนี้ เพราะยกเว้นความผิดตามมาตรา 305 (แก้ไขใหม่)
ข้อสังเกต (4) มาตรา 305 (4) ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 301 (แก้ไขใหม่) เพราะหากหญิงมีครรภ์ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งลูกขณะอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 301 (แก้ไขใหม่) ดังที่กล่าวมาแล้ว
ข้อสังเกต (5) การจะได้รับการยกเว้นความผิดตามมาตรา 305 (แก้ไขใหม่) จะต้องกระทำความผิดตามมาตรา 301 (แก้ไขใหม่) หรือมาตรา 302 เสียก่อน หากยังไม่ได้กระทำความผิดก็ไม่ต้องพิจารณาว่าจะได้รับการยกเว้นความผิดหรือไม่
กรณี 2 ผู้กระทำไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยหญิงนั้นยินยอม
การที่ผู้ไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำให้หญิงแท้งลูกย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 302 อยู่เช่นเดิมและเมื่อผู้กระทำไม่ได้เป็นผู้ประกรรมวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ต้องหลักเกณฑ์ตามมาตรา 305 (แก้ไขใหม่) จึงไม่ได้รับการยกเว้นความผิด
การกำหนดอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ตามมาตรา 301 ที่แก้ไขใหม่นั้นเป็นการนำเอาอายุครรภ์มาเป็นเงื่อนไขเอาผิดแก่หญิงที่ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งลูก ทั้งมาตรา 301 ที่แก่ไขใหม่นั้นเป็นกฎหมายที่มุ่งเอาผิดแก่หญิงเท่านั้นไม่ได้มุ่งเอาผิดแก่ผู้อื่นที่ทำให้หญิงแท้งลูก ดังที่กล่าวไว้ในข้อสังเกต (1) เพราะผู้อื่นที่ทำให้หญิงแท้งลูกจะต้องรับผิดตามมาตรา 302 ดังที่กล่าวไว้ในข้อสังเกต (2) ดังนั้นแม้ผู้กระทำจะทำให้หญิงแท้งลูกภายในอายุครรภ์ยังไม่เกิน 12 สัปดาห์ และหญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม ผู้กระทำยังคงมีความตามมาตรา 302 อยู่นั้นเอง
ข้อสังเกต (6) ในกรณีที่ผู้กระทำไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำให้หญิงแท้งลูกไม่ว่าอายุครรภ์เท่าไรก็ตามและแม้หญิงจะยินยอมก็ตามบุคคลนั้นก็ยังคงมีความผิดตามมาตรา 302 อยู่เช่นเดิม กล่าวคือความผิดตาม 302 ไม่คำนึงถึงอายุครรภ์ของหญิง
กรณีที่ 3 ผู้อื่นทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอมผู้กระทำยังคงมีความผิดตามมาตรา 303 อยู่เช่นเดิม
สรุป
✔️การทำแท้งที่ไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตามกฎหมายใหม่
1. หญิงที่มีครรภ์ทำให้ตัวเองแท้งลูกในขณะที่อายุครรภ์ยังไม่เกิน 12 สัปดาห์ (มาตรา 301)
2. หญิงยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งในขณะที่อายุครรภ์ยังไม่เกิน 12 สัปดาห์ (มาตรา
301)
3. กระทำโดยผู้กระทำเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยหญิงนั้นยินยอม ภายใต้เงื่อน (มาตรา 305) ดังนี้
3.1 จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
3.2 จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
3.3 หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิด เกี่ยวกับเพศ
3.4 หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
3.5 หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น
❌การทำแท้งที่ยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม
1. หญิงที่มีครรภ์ทำให้ตัวเองแท้งลูกในขณะที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ (มาตรา 301)
2. หญิงยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งในขณะที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ (มาตรา 301)
3. กระทำโดยผู้ไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยหญิงนั้นยินยอม (มาตรา 302)
4. ทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม (มาตรา 303)
อ้างอิง...
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301, 302, 303, 305
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ.2564
โฆษณา