8 ก.พ. 2021 เวลา 05:40 • การศึกษา
“โทษจำคุก.. ควรใช้แต่น้อยๆ.. “
สมัยโบราณ ใครทำผิดร้ายแรง เช่น ฆ่าคนอื่น ก็ต้องถูกลงโทษประหารชีวิต..
รองลงมา ก็ตัดมือ.. สักหน้าผากประจาน..
รองลงมาก็ริบทรัพย์ ไร่นา ข้าทาส ลูกเมีย.. ถ้าเป็นชาวบ้าน ชาวเผ่า.. ก็ขับไล่ออกจาชุมชน..
ปัจจุบัน สังคมใช้เงินเป็นหลัก ถ้าทำผิดไม่ร้ายแรง ก็มีโทษปรับ..
ส่วนโทษจำคุก.. จริงๆแล้ว ก็คือ โทษขับไล่ออกจากชุมชนเดิมนั่นล่ะ..
แต่การจำคุก เริ่มพัฒนามาจาก.. การเอาไปไว้ในสถานที่จำกัด ห่างไกล หรือทุรกันดาร..
เช่น ในดินแดนที่มีอันตราย เช่น ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ. หรือตามเกาะแก่งต่างๆ
ความคิดที่จะจำกัดเสรีภาพ ก็เลยเอาตัวมาล่ามโซ่ไว้..
พอหาเสาผูกโซ่ไม่ได้.. พอมีคนทำผิดมากเข้า.. ก็เลยเอาไปขังไว้ในสถานที่จำกัดต่างๆ..
ปัจจุบันก็คือ.. “คุก”..
นัยว่า เพื่อลงโทษให้เข็ด เพราะสมัยนั้นคงเห็นว่า มนุษย์ที่มีความป่าเถื่อน เหมือนสัตว์ .. ดื้อ.. เรียนรู้ไม่เป็น.. ต้องใช้วิธีรุนแรง เฆี่ยนตี จึงจะเรียนรู้..
“คุก” ในสมัยก่อน.. ไม่ได้เน้นระยะเวลาจำคุก..
กล่าวคือ ถ้ากฎหมายไม่เขียนเวลาไว้ การขังคุก ก็คือ จำขังตลอดไปจนวันตาย.. หรือจนกว่า ผู้สั่งจะนึกขึ้นได้ .. จึงให้อภัยโทษ.. ปล่อยตัวออกมา..
ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผนก็มี เป็นการขังลืม.. จนต้องขอเสนอตัวออกไปทำการใหญ่ รบรากับข้าศึก ชนะมา ก็จะได้พ้นโทษ..
ปัจจุบัน การขังคุกมีกำหนดเวลาแน่นอนหมดแล้วครับ ไม่มีการขังลืม..
#รูปแบบการจำคุก..
กฎหมายไทยมีจำคุกแบบเดียว คือ กำหนดเวลาแน่นอนในคำพิพากษา (fixed หรือ determination) เช่น จำคุก 3 ปี เป็นต้น
แต่พรบ. ราชทัณฑ์ กำหนดว่า ถ้าผู้ต้องขังทำตัวดี.. เพื่อไม่ให้คุกแน่นและเป็นแรงจูงใจให้เขาทำตัวดีในคุก..
จึงอาจมีการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดในคำพิพากษาก็ได้..
เรียกว่า ลดวันจำคุก.. จนพักโทษ หรืออภัยโทษ.. ปล่อยออกมา..
#การปล่อยก่อนกำหนดเป็นเรื่องของเรือนจำไม่เกี่ยวกับศาล..
การจะลดวันต้องโทษ หรือพักโทษปล่อยนักโทษออกมานั้น.. ศาลไม่ได้เป็นคนสั่ง และไม่ได้เห็นชอบด้วยหรือไม่..
แต่เป็นเรื่องของคณะกรรมการของราชทัณฑ์เขาจะพิจารณากันเอง..
เรียกได้ว่า ศาลซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายตุลาการมีหน้าที่พิพากษาตัดสินให้ลงโทษเท่านั้น..
ส่วนการบังคับโทษตามคำพิพากษา จะจำคุกตามกำหนดจริง.. หรือจะปล่อยตัวก่อน.. เมื่อศาลตัดสินประหารชีวิต.. จะประหารชีวิตจริงตามคำพิพากษาหรือไม่..
เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร..
ไม่เกี่ยวกับอำนาจศาลเลย..
ส่วนโทษจำคุกในต่างประเทศ เขามี 2 แบบ
1) พิพากษาจำคุกแบบกำหนดเวลาแน่นอน (fixed หรือ determination) เหมือนของไทย.. เช่น ให้จำคุก 3 ปี
แต่กฎหมายให้ศาลเขามีอำนาจมากกว่าศาลไทย.. คือถ้าศาลกำหนดโทษจำคุกแล้ว ห้ามไม่ให้ฝ่ายบริหารพักโทษ.. หรือห้ามปล่อยตัวก่อนกำหนดในคำพิพากษา..
2) พิพากษาจำคุกแบบไม่กำหนดเวลาตายตัว แต่กำหนดเป็นช่วงเวลา (indetermination) เช่น จำคุก 3-5 ปี
ถ้าศาลพิพากษาแบบนี้ กรมราชทัณฑ์ของเขามีอำนาจลดวันต้องโทษ และพักโทษ ปล่อยตัวได้ ภายในช่วงเวลา 3-5 ปีนั้น..
แต่จะปล่อยตัวก่อน 3 ปี.. ไม่ได้..
#วัตถุประสงค์ของโทษจำคุก..
หลักการลงโทษจำคุกนั้น เขาใช้เพื่อตัดคนไม่ดีออกจากสังคม.. เพื่อมิให้ไปทำให้คนดีอื่นๆในสังคมได้รับอันตราย..
โทษจำคุกจึง มักใช้กับการทำผิดที่ร้ายแรง.. ที่มีผลกระทบต่อคนอื่นในสังคม เช่น ทำร้าย ปล้น ฆ่า ข่มขืน..
แต่ความผิดอื่น.. แม้ดูร้ายแรงตามกระแสสังคมในแต่ละยุค.. แต่อาจไม่ร้ายแรงในมุมมองของทฤษฎีการลงโทษ..
เช่น ความผิดที่ไม่มีผู้เสียหายเป็นตัวคน.. หรือการทำผิดที่ผู้กระทำไม่มีความชั่วร้ายในใจมากนัก เป็นความผิดที่เรียกว่า..
“ผิดเพราะกฎหมายบัญญัติ (mala prohibita)..”
เช่น ความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมีครอบครอง จำหน่ายเล็กน้อย..
ความผิดเกี่ยวกับภาษีอากร..
ความผิดทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง..
ความผิดเกี่ยวกับทำลายทรัพยากรธรรมชาติเล็กน้อย..
ความผิดเกี่ยวกับการไม่ได้รับอนุญาตต่างๆ.. เช่น ใบขับขี่ ใบอนุญาตให้ทำงาน..
ความผิดตามกฎหมายจราจร หรือลหุโทษ.. เป็นต้น
ความผิดเหล่านี้.. เป็นความผิดที่ไม่มีเหยื่อ.. ไม่มีผู้เสียหายที่เป็นมนุษย์..
และผู้กระทำไม่ได้มีความชั่วร้ายในจิตใจ..
ความผิดแบบนี้.. แค่ตักเตือน หรือควรลงโทษเบาเท่านั้น เช่น กักขัง. ปรับ.
ตรงข้ามกับความผิดร้ายแรง.. ที่ผู้กระทำก็รู้อยู่ว่าเป็นอันตรายต่อคนอื่น.. คือมีความชั่วร้ายในใจ..ที่เรียกว่า..
“ผิดเพราะมีความชั่วร้ายในใจ (mala in se)..”
ความผิดที่มีความชั่วในใจนี้.. ต้องลงโทษหนักเพื่อให้เขาเข็ดกลัว และเพื่อปกป้องสังคม.. เช่น โทษประหารชีวิต. โทษจำคุก..
แต่ถ้าความผิดแบบไม่ร้ายแรงนี้ (mala prohibita) ถ้าก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง..
รัฐไม่ต้องการให้คนทำ.. และเห็นว่า การลงโทษปรับนั้นเบาไป.. หลายๆกรณี ก็เลยเผลอเอาโทษจำคุกมาใช้..
โดยลืมไปว่า “คุก” นั้น เขาเอาไว้ขังคนที่ทำผิดร้ายแรงเป็นอันตรายต่อสังคม (mala in se) เท่านั้น..
เมื่อนำโทษจำคุกมาใช้กับคนทำผิดที่ไม่ร้ายแรง.. บางครั้งมีโทษจำคุกนานหลายปี .. บางกรณีมีจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต..
เป็นการเอาโทษจำคุกมาใช้ รุนแรงเกินกว่าความร้ายแรงหรือความชั่วร้ายในใจของผู้กระทำผิด..
เช่น เมาแล้วขับ (ไม่ได้ชนคน) หรือทุจริตคอร์รัปชั่น..
ควรลงโทษให้หนัก.. เพื่อเขาจะไม่ทำอีก..
 
แต่คำว่า โทษหนักนี้.. ไม่ได้หมายถึงจำคุก.. หรือประหารชีวิต..
เพราะนั่น เรากำลังจะมั่วเอาโทษที่ไม่เหมาะสมมาใช้กับผู้กระทำผิด..
คนเมาขับ.. ต้องกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติบังคับไม่ให้เขาเมา..ให้เลิกเหล้า หรือไม่ให้ขับ.. เขาจึงจะไม่เมาขับ..
ไม่ใช่เอาไปจำคุก..
คนโลภทุจริต.. ก่ออาชญากรรมทางธุรกิจ.. ต้องบังคับเอากับทรัพย์สินของเขาที่มีอยู่..
ต้องให้เขาจ่ายค่าปรับมากๆ.. ถึงขนาดเกือบหมดตัว..
ต้องยึดทรัพย์ที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย.. เขาจึงจะไม่ทำอีก..
ไม่ใช่เอาไปเข้าคุก..
คนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ.. ก็ต้องบังคับให้เขารับผิดชอบ ใช้เงินเขา.. ใช้แรงงานเขา.. สร้างทรัพยากรขึ้นมาทดแทนใหม่ให้มากกว่าเดิม..
และบังคับให้เขาเรียนรู้ผลกระทบ.. เขาจะได้ไม่ทำอีก..
ไม่ใช่เอาไปเข้าคุก..
คนที่มีชื่อเสียง.. กลัวเสียชื่อ. ก็ต้องลงโทษเชิงประจาน.. เขาจะได้ไม่กล้าทำผิดอีก..
ไม่ใช่เอาไปจำคุก..
การลงโทษหนักสำหรับคนทำผิดที่ไม่มีความชั่วร้ายในใจ.. และการลงโทษเบาสำหรับคนที่มีความชั่วร้ายนั้น..
ขัดต่อแนวคิดอาชญาวิทยาและทฤษฎีการลงโทษ..
ผลก็คือ ทั้งสองกรณี เขาจะทำผิดซ้ำอีกครับ..
ทุกวันนี้เรือนจำแน่นมาก.. มาตรฐานสากลกำหนดให้ มีผู้คุม 1 คนต่อจำนวนนักโทษ 3 คน..
ทุกวันนี้ เรามีผู้คุม 1 คนต่อนักโทษมากกว่า 8 คนครับ..
ประเทศไทยเราเป็นประเทศเล็กๆ.. ประชากรไม่มาก.. แต่กลับมีคุกใหญ่โต.. มีคนต้องโทษในเรือนจำ ติดอันดับต้นๆของโลกนะครับ..
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น..
เพราะเรามีคนทำผิดบางคน บางฐานความผิด.. เข้าไปอยู่ในคุกโดยไม่สมควร ปนเปไปกับคนที่สมควรรับโทษจำคุก..
เราจึงควรเลือกใช้โทษจำคุกกับคนที่เป็นอันตรายและทำผิดร้ายแรงจริงๆเท่านั้น..
คนที่ไม่ควรเข้าคุก.. จะได้ไม่ถูกตีตราจากสังคม..
เขาจะได้ไม่มีโอกาสเรียนรู้การทำผิดจากข้างใน..
ออกมาแล้ว เขาจะได้ไม่มีเครือข่ายมากกว่าตอนเข้าไป..
 
คนที่ไม่สมควรเข้าคุก.. ก็ใช้โทษปรับ และมาตรการลงโทษอื่นทดแทนอย่างเหมาะสม..
คุกจะไม่แน่น.. คนทำผิดซ้ำจะลดลง.
ถ้า “คุก” สามารถล้างมลทิน.. และฟอกความคิดคนผิดให้ขาวสะอาดได้จริงล่ะก็..
เรามาเอาคนทำผิดเข้าคุกเยอะๆเถอะครับ..
แต่ถ้าการใช้โทษจำคุกในเรือนจำ มีผลเสียมากกว่าผลดี.. แล้วเราก็ยังคงใช้โทษจำคุกต่อไป..
นั่นแปลว่า..
ในอนาคต เราจะมีอาชญากรหน้าใหม่.. ที่ร้ายกว่าเก่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ..
หลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมัน เขาใช้โทษจำคุกแต่น้อยครับ..
จำคุก 1-2 ปีนี่ ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากแล้ว.. เพราะถ้าไม่ใช่โทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว.. เขาไม่ค่อยลงโทษจำคุก 5 ปี 7 ปี 12 ปี.. แบบที่เราอยู่ทำนะ..
ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น แม้จะมีนักโทษในเรือนจำมากที่สุดในโลก.. แต่ความผิดไม่ร้ายแรงนั้น เขาก็ใช้มาตรการลงโทษระดับกลาง..
และทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การจำคุกในเรือนจำมากมาย..
เช่น การทำงานบริการสังคม.. หรือติดเครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์ แล้วติดคุกที่บ้านแทน..
ความผิดเล็กน้อย เช่น จราจร กฎหมายให้ศาลลดค่าปรับได้ตามที่เห็นควรอีก หรือบางกรณี ให้ยกเลิกค่าปรับเลยก็ได้..
แต่ประเทศไทยเรา..
ในทุกความผิดส่วนใหญ่ กฎหมายยังให้มีโทษจำคุกและปรับอยู่.. และศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษได้อย่างจำกัด..
เช่น ให้จำคุกขั้นต่ำ 4 ปี.. หรือให้ปรับขั้นต่ำ 200,000 บาท
เราจึงจะใช้มาตรการลดโทษ เลี่ยงโทษจำคุกแบบต่างประเทศได้ลำบาก..
ผมไม่ได้กล่าวโทษ สส. สว. .. ที่ออกกฎหมายที่มีโทษอาญามากเกิน..
ผมไม่ได้ตำหนิตำรวจ.. ที่ขยันจับคนทำผิดกฎหมาย..
ผมไม่ได้วิจารณ์ว่า.. อัยการชอบฟ้องคนที่ไม่สมควรรับโทษจำคุก..
และไม่เคยคิด กล่าวหาศาลว่า.. ท่านใช้โทษจำคุกง่ายและมากเกินไป..
แต่ผมอยากเห็น.. การแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มวิธีการลงโทษ.. หรือโทษทางเลือก (alternative sentenses หรือ intermediate punishment) ..
 
เพื่อให้มีกฎหมายกำหนดรูปแบบวิธีการลงโทษที่หลายหลาย..
ไม่ใช่มีแค่.. โทษจำคุกและปรับ..
ถ้าทำได้.. เราจะคัดกรองคนที่กระทำผิดให้ได้รับโทษที่เหมาะสมกับการกระทำของเขามากกว่าทุกวันนี้..
ถึงเวลาที่ประเทศเราควร.. ยกเครื่องปรับปรุงรูปแบบการลงโทษอย่างจริงจังรึยังครับ..
โฆษณา