การพบครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการค้นคว้าวิจัยบทบาทของเซลล์ชนิดนี้ทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์ การแพทย์ จิตวิทยาและสังคมวิทยารวมทั้งส่งผลให้เกิดความรู้รุ่นใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองของมนุษย์อย่างมากมาย
ทฤษฎีเซลล์กระจกเงาในระยะเริ่มแรกถูกนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก เพราะสมองของเด็กนั้นมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้เด็กเห็นและทำให้เด็กเกิดการลอกเลียนแบบ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้ในการขัดเกลาคนในสังคม ขณะเดียวกันการพยายามที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับผู้อื่นยังมีส่วนนำมาพัฒนาควบคู่กับการเข้าถึงภาวะจิตใจของผู้อื่นอีกด้วย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบุคลิกภาพของมนุษย์
นอกเหนือจากการนำไปใช้พัฒนาเด็กแล้วในปัจจุบันทฤษฎีเซลล์กระจกเงายังถูกนำไปใช้ในการบำบัดรักษาโรคได้อีกด้วย เช่น อัมพาตครึ่งซีก และโรคออทิสติก
มีการนำทฤษฏีเซลล์กระจกเงามาใช้ในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตโดยทำควบคู่ไปกับการฝึกกายภาพบำบัดซึ่งแนวทางในการใช้ก็คือพยายามควบคุมบริเวณที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวขึ้น โดยระยะเวลาในการฟื้นฟูโรคอัมพาตพบว่าการฟื้นตัวจะมีผลดีในระยะแรก 2-3 เดือนที่เริ่มมีอาการ
จากการทดลองโดยเลือกกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 76 ปี และเป็นอัมพาตไม่รุนแรง ยังมีเซลล์สมองที่ดีบางส่วนหลงเหลืออยู่
แล้วให้ผู้ป่วยดู วีดีโอและเทป เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นกิจวัตรประจำวันและทำการฉายซ้ำ พบผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ
แนวคิดในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตโดยทฤษฎีนี้มีอยู่ว่า ในบรรดาเซลล์ที่ตายไปนั้น จะมีเซลล์ที่ดีบางส่วนหลงเหลืออยู่ และเซลล์เหล่านี้ถ้าหากมีการกระตุ้นที่ถูกวิธีจะสามารถฟื้นตัวและกลับมาใช้งานได้ ซึ่งเราพบว่า เมื่อให้ผู้ป่วยได้เห็นและทำอะไรที่ทำอยู่แล้วทุกวันจนเคยชิน น่าจะเป็นการกระทำที่น่าจะช่วยให้การฟื้นตัวดีที่สุด
ความที่เซลล์กระจกเงาเกิดจากการร่วมมือของกลุ่มเซลล์ประสาทบริเวณกล้ามเนื้อลายซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ดังนั้นหากเกิดการกระทำขึ้นที่บริเวณใด เซลล์ประสาทจะตื่นตัวไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำจริง เกิดจากการเลียนแบบหรือเกิดจากการจินตนาการ
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเซลล์สมอง กระจกเงาอาจนำมาใช้อธิบายว่า
ทำไมเด็กเล็ก1-2 ขวบที่ดูทีวี วิดีโอซีดี มากๆเช่น 8 ชั่วโมง/วัน จึงมีผลต่อพัฒนาการทางภาษาและสังคม พูดช้า มีภาษาแปลกๆ ไม่ค่อยทำตามสั่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่าเซลล์กระจกเงาในสมอง ถูกกระตุ้นจากการเคลื่อนไหวหรือการสื่อสารที่ผิดธรรมชาติ เช่นการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูนหรือหุ่นร่วมกับถูกกระตุ้นด้วยการสื่อสารทางเดียวคือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก และแสดงออกมาในลักษณะเดียวกัน