8 ก.พ. 2021 เวลา 17:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ต้นกาบหอยแครงสร้างสนามแม่เหล็กขณะที่มันงับเหยื่อ!!??
เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจจับได้ว่าพืชกินแมลงชนิดนี้สามารถส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อสั่งการกลไกสำหรับการงับเหยื่อได้ไม่ต่างจากสัตว์
ต้นกาบหอยแครงกับเข้าแมลงวันผู้เคราะห์ร้าย
ในอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ พืชและสัตว์คือสองกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบการดำรงชีวิตที่เรียกได้ว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
พืชสังเคราะห์แสงสร้างอาหารเองได้ พวกมันหยั่งรากและยืนต้นรับแสง ไม่ต้องกระเสือกกระสนหาอาหารหรือหลบหนีเหล่าผู้ล่า(แม้จะโดนสัตว์กินพืชแทะกินอยู่บ้างก็ตาม)
สัตว์นั้นต่างจากพืช พวกมันต้องมีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเพราะต้องออกหาอาหารและหลบหนีผู้ล่าหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นสัตว์จึงต้องมีกลไกในการรับรู้และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม
ทำให้สัตว์นั้นต้องมีระบบประสาทเพื่อรับข้อมูลข่าวสารจากอวัยวะที่ทำหน้าที่รับรู้สภาวะแวดล้อมส่งสัญญาณในรูปของสัญญาณไฟฟ้าชีวภาพไปยังปมประสาทหรือสมองเพื่อประมวลผลและส่งสัญญาณกลับไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ
ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง
แต่ก็ยังมีพืชบางชนิดที่กินสัตว์เล็ก ๆ อย่างแมลงเป็นอาหารอยู่เหมือนกัน อย่างเช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงและต้นกาบหอยแครง
แล้วพืชประเภทนี้พวกมันจะมีระบบประสาทหรือเปล่า มีการส่งสัญญาณทางไฟฟ้าเพื่อติดต่อสื่อสารกันระหว่างเซลล์เพื่อสั่งการกลไกกับดับเหล่านี้ให้ทำงานหรือไม่
1
มาวันนี้ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johannes Gutenberg ประเทศเยอรมัน ก็ได้ค้นพบว่าต้นกาบหอยแครงนั้นมีการส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อสั่งปิดกับดักจับแมลงของมัน
ชุดอุปกรณ์ atomic magnetometers ที่ใช้ในการวัดสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นจากสัญญาณไฟฟ้าในต้นกาบหอยแครง
โดยอาศัยชุดอุปกรณ์ตรวจจับสนามแม่เหล็กชนิด atomic magnetometers ซึ่งเหมาะกับการตรวจวัดสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตเพาะไม่ต้องอาศัยการทำความเย็นที่อุณหภูมิเย็นจัด
ซึ่งทีมสามารถตรวจวัดสนามแม่เหล็กขนาด 0.5 picotesla ในจังหวะที่ต้นกาบหอยแครงกำลังกระตุกงับเหยื่อ
ค่าสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับแรงดันของสัญญารไฟฟ้า
ค่าความเข้มสนามแม่เหล็กดังกล่าวนี้อ่อนกว่าสนามแม่เหล็กโลกถึงหนึ่งในล้าน แต่ก็เป็นค่าที่ไม่ต่างจากการวัดสนามแม่เหล็กที่บริเวณผิวหนังอันเกิดจากการส่งสัญญาณไฟฟ้าในเส้นประสาทของสัตว์
ซึ่งถือเป็นหลักฐานในการยืนยันว่าพืชก็มีการส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อควบคุมกิจกรรมภายในของพืชเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้เช่นเดียวกับสัตว์
กระแสไฟฟ้าที่ไหลจะก่อให้เกิดสนามแม่เหล็ก
ทีมนักวิจัยหวังว่าความเข้าใจนี้จะช่วยให้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ด้านการเกษตร เช่น ตรวจจับการตอบสนองต่อศัตรูพืช สารเคมี หรืออุณหภูมิของพืชผลของเราโดยที่ไม่ต้องไปฝังอุปกรณ์ตรวจวัดให้ต้นไม้เฉาตาย
ก็นับเป็นความรู้ใหม่เลยทีเดียวว่าพืชก็มีการใช้สัญญาณไฟฟ้าในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในต้นของพวกมันด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา