8 ก.พ. 2021 เวลา 23:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
TENDER OFFER คืออะไร ส่งผลอย่างไรกับราคาหุ้น !?
4
Tender Offer คือ การทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป โดยทั่วไป การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์จะต้องทำเมื่อมีผู้ถือหุ้นใดผู้ถือหุ้นหนึ่งซื้อหุ้นจนมีนัยสำคัญต่อการบริหารกิจการมาก โดยกำหนด Trigger Point ได้ 3 ช่วงที่ 25% , 50% และ 75% เมื่อซื้อหุ้นจนครบสัดส่วนนี้ ผู้ถือหุ้นที่ทำการซื้อจนถึง Trigger Point ต้องทำ Mandatory Tender Offer
Mandatory Tender Offer คือ การประกาศเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ โดยผู้ถือหุ้นส่วนที่เหลือจะขายหรือไม่ขายหุ้นให้กับผู้เสนอซื้อก็ได้ โดยการเสนอซื้อต้องมีราคาและกำหนดเวลาที่ชัดเจน ในขณะที่หากสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่ถึง Trigger Point แต่ถ้าผู้เสนอซื้อต้องการเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็สามารถทำได้เช่นกัน กรณีนี้จะเรียกว่า Voluntary Tender Offer หรือการทำคำเสนอเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจ
ขั้นตอนการทำคำเสนอซื้อ
 
1.การประกาศเจตนาทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ต่อสาธารณชน
 
เนื่องจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมในกิจการถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของกิจการนั้นได้ การที่บุคคลใดให้ข้อมูลในลักษณะที่แสดงความประสงค์ที่จะได้อำนาจควบคุมกิจการ จึงต้องมีกลไกที่ทำให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่า บุคคลดังกล่าวมีความประสงค์เช่นนั้นจริง และมีความสามารถในเชิงลงโทษ หากไม่สามารถดำเนินการตามที่แสดงความประสงค์ไว้ได้ ด้วยหลักการดังกล่าวจึงมีข้อกำหนดว่าด้วยเรื่อง การประกาศเจตนาทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ต่อสาธารณชน
 
ผู้ที่ประกาศเจตนาว่าจะทำคำเสนอซื้อหุ้น โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อผู้ทำคำเสนอซื้อ จำนวนหุ้นหรือสิทธิออกเสียงที่จะเสนอซื้อ โดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้มีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์
 
1.1 แถลงหรือโฆษณาผ่านสื่อมวลชน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือโครงข่ายอื่นใด ในลักษณะที่เป็นการกระจายข้อมูลในวงกว้าง
1.2 แจ้งต่อกรรมการหรือผู้จัดการของกิจการนั้น
1.3 แจ้งต่อผู้ถือหุ้นรายหนึ่งหรือหลายราย ซึ่งมีสิทธิออกเสียงรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไปของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
1.4 แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์
1.5 แจ้งต่อสำนักงาน
 
หากบุคคลที่ประกาศเจตนาไม่สามารถทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของกิจการได้ จะต้องยื่นประกาศปฏิเสธการทำคำเสนอซื้อต่อสำนักงาน ภายในระยะเวลาที่กำหนด และจะถูกห้ามทำคำเสนอซื้อเป็นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ยื่นประกาศปฏิเสธดังกล่าว
 
 
2.ระยะเวลารับซื้อ และข้อเสนอในคำเสนอซื้อ
 
2.1 ระยะเวลารับซื้อต้องอยู่ระหว่าง 25 - 45 วันทำการ
 
2.2 ผู้ทำคำเสนอซื้อสามารถแก้ไขข้อเสนอซื้อได้ แต่ต้องเป็นการแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งหากแก้ไขไปแล้วจะต้องให้ผู้ที่แสดงเจตนาขายไปก่อนการแก้ไขได้รับราคาที่ดีขึ้นด้วย
 
2.3 ผู้ทำคำเสนอซื้อมีหน้าที่ต้องประกาศข้อเสนอซื้อสุดท้ายและระยะเวลาสุดท้าย (final day / final offer) โดยต้องมีระยะเวลารับซื้อเหลือไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ
3.การยกเลิกเจตนาการขาย (withdraw)
 
3.1 ผู้ทำคำเสนอซื้อต้องยินยอมให้ผู้ที่แสดงเจตนาขายสามารถยกเลิกการแสดงเจตนาขายได้โดยต้องให้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ
 
3.2 ถ้าผู้ทำคำเสนอซื้อแก้ไขข้อเสนอซื้อหรือขยายระยะเวลารับซื้อ จะต้องขยายระยะเวลาการยกเลิกเจตนาขายออกไปอีกไม่น้อยกว่า 10 วันทำการนับต่อจาก
 
วันสุดท้ายที่ยินยอมให้ยกเลิกการแสดงเจตนา หรือวันที่ประกาศขยายระยะเวลารับซื้อหรือประกาศแก้ไขข้อเสนอ แล้วแต่วันใดจะถึงภายหลัง แต่จะต้องไม่เกินระยะเวลารับซื้อ
 
 
4.ราคาเสนอซื้อ
 
การกำหนดราคาเสนอซื้อจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
 
4.1 รูปแบบราคาเสนอซื้อต้องเหมือนกันสำหรับหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน
 
4.2 รูปแบบเสนอซื้อมีมากกว่า 1 ทางเลือกได้ แต่ต้องมีทางเลือกหนึ่งเป็นเงินสด
 
4.3 ถ้าราคาเสนอซื้อเป็นสิ่งตอบแทนอื่นที่มิใช่ตัวเงิน ต้องประเมินมูลค่าโดยที่ปรึกษาทางการเงิน
 
4.4 ราคาเสนอซื้อต้องไม่ต่ำกว่าราคาสูงสุดที่ผู้ทำคำเสนอซื้อ และบุคคลตามมาตรา 258 ของผู้ทำคำเสนอซื้อได้มาในช่วง 90 วัน
 
 
5.การปรับเงื่อนไขและระยะเวลารับซื้อกรณีมีผู้ทำคำเสนอซื้อแข่ง
 
ระหว่างการทำคำเสนอซื้อ หากมีบุคคลอื่นทำคำเสนอซื้อแข่ง ผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการอาจได้รับประโยชน์จากการมีทางเลือกที่ดีขึ้น แต่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ทำคำเสนอซื้อคนแรกด้วย จึงรองรับให้สิทธิผู้ทำคำเสนอซื้อคนแรกสามารถ
 
5.1 ขยายเวลารับซื้อได้ จนถึงวันสิ้นระยะเวลารับซื้อของคู่แข่ง
 
5.2 ประกาศ final day / final offer ได้ภายในวันเดียวกับคู่แข่ง
 
อย่างไรก็ดี ผู้ทำคำเสนอซื้อคนแรกจะดำเนินการข้างต้นได้ จะต้องระบุไว้ในคำเสนอซื้อตั้งแต่แรก ว่าหากมีผู้ทำคำเสนอซื้อแข่ง จะดำเนินการเช่นนั้น และจะต้องประกาศขยายเวลา/แก้ไขข้อเสนอซื้อภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่มีการยื่นคำเสนอซื้อของคู่แข่ง หรือภายในระยะเวลารับซื้อสุดท้ายของผู้ทำคำเสนอซื้อคนแรก แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
1
6.รายงานผลการรับซื้อ
 
6.1 รายงานผลการรับซื้อเบื้องต้น ผู้ทำคำเสนอซื้อต้องรายงานผลการรับซื้อเบื้องต้นตามแบบ 247-6 ข ภายในวันทำการถัดจากวันสิ้นสุด withdraw ในกรณีที่ผู้ทำคำเสนอซื้อให้สิทธิ withdraw ได้ตลอดระยะเวลารับซื้อ ผู้ทำคำเสนอซื้อต้องรายงานผลการรับซื้อเบื้องต้นตามแบบ 247-6 ข ก่อนสิ้นสุดเวลารับซื้อ 3 วันทำการ
 
6.2 รายงานผลการรับซื้อภายหลังสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อ ผู้ทำคำเสนอซื้อต้องรายงานผลการรับซื้อตามแบบ 256-2 ภายใน 5 วันทำการหลังสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อ
 
 
7.การยกเลิกคำเสนอซื้อ
 
ผู้ทำคำเสนอซื้ออาจยกเลิกคำเสนอซื้อได้ หากเกิดกรณีต่อไปนี้
 
7.1 ภายหลังการยื่นคำเสนอซื้อต่อสำนักงาน และยังไม่พ้นระยะเวลารับซื้อ เกิดเหตุการณ์หรือการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อกิจการ โดยเหตุการณ์หรือการกระทำดังกล่าวมิได้เกิดจากการกระทำของผู้ทำคำเสนอซื้อหรือการกระทำที่ผู้ทำคำเสนอซื้อต้องรับผิดชอบ
 
7.2 ภายหลังการยื่นคำเสนอซื้อต่อสำนักงาน และยังไม่พ้นระยะเวลารับซื้อ กิจการทำให้มูลค่าหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
 
7.3 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อที่กำหนดไว้ในคำเสนอซื้อแล้ว มีผู้มาแสดงเจตนาขายน้อยกว่าจำนวนขั้นต่ำที่จะรับซื้อ (เฉพาะกรณีทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจ) ทั้งนี้จะต้องระบุเงื่อนไขและเหตุแห่งการยกเลิกในกรณีนี้ไว้อย่างชัดเจนในคำเสนอซื้อด้วย
 
ผู้ทำคำเสนอซื้อจะต้องระบุเหตุดังกล่าวให้ชัดเจนในคำเสนอซื้อ และหากเป็นเหตุตาม 7.1 และ 7.2 ผู้ทำคำเสนอซื้อต้องแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้สำนักงานทราบ และหากสำนักงานไม่ทักท้วงภายใน 3 วันทำการ จึงจะยกเลิกได้
 
ผลต่อราคาหุ้น
เนื่องจาก Tender Offer จะมีราคารับซื้อและกำหนดเวลาที่ชัดเจน ดังนั้น นักลงทุนจึงสามารถทำกำไรได้อย่างง่าย โดยการซื้อหุ้นในตลาดที่ราคาต่ำกว่าราคาเสนอซื้อ แล้วไปรอขายให้ผู้ทำการเสนอซื้อแบบ Tender Offer เช่น หากราคาตลาดของหุ้นอยู่ที่ 11 บาท แต่ราคาเสนอซื้อหุ้นอยู่ที่ 14 บาท แบบนี้ก็ซื้อหุ้นในตลาดไปรอขายให้คนที่ทำ Tender Offer เราก็สามารถกินส่วนต่างจากช่องว่างตรงนี้ได้ การกระทำแบบนี้เรียกตามศัพท์เทคนิคว่าอาบิทราจ หรือการเก็งกำไรแบบปราศจากความเสี่ยง
แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็มีความเสี่ยงอยู่ดี เพียงแต่มันมีน้อยมากเมื่อเทียบกับการเก็งกำไรแบบทั่วไปนั่นเอง จุดสังเกตสำคัญ คือ การอาบิทราจกับ Tender Offer มักจะทำกำไรไม่เป็นเปอร์เซ็นต์ไม่มาก เพราะข่าวเรื่อง Tender Offer เป็นเรื่องที่คนทั้งตลาดรู้เท่ากัน ดังนั้น การที่ราคาหุ้นในตลาดจะแตกต่างกับราคาเสนอซื้ออย่างมากนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะคนที่จะขายให้ในตลาดก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเสนอขายต่ำมาก เพราะรู้ว่านำไปขายได้ตอน Tender Offer ได้อยู่ดี แต่บางครั้งก็อาจจะยอมขายถูกกว่า Tender Offer นิดหน่อย เพราะต้องการสภาพคล่อง และไม่อยากรอถึงวันรับซื้อ
ผู้สนับสนุน
สนใจเปิดบัญชี ค่าคอมหุ้น 0.05 %
TFEX สัญญาละ 25
กรอกข้อมูลได้ที่
โฆษณา