9 ก.พ. 2021 เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม
นักวิทยาศาสตร์สำรวจพบกิ้งก่าจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วมือ
กิ้งก่าจิ๋ว (ภาพ : Frank Glaw)
สัตว์ที่อยู่บนโลกใบนี้น่าจะมีทั้งหมดประมาณ 8,700,000 ชนิดตามการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ แต่จนถึงตอนนี้มีสัตว์ที่ถูกสำรวจพบและสามารถจำแนกแยกแยะได้เพียงแค่ประมาณ 1,600,000 ชนิดเท่านั้น
ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังคงมีสัตว์อีกมากมายที่ตกสำรวจ เนื่องจากพวกมันหลายชนิดอาศัยอยู่ในป่าลึก หรือมีขนาดที่เล็กมากจนยากต่อการค้นหา ตัวอย่างเช่น กิ้งก่าตัวจิ๋วที่มีขนาดประมาณเมล็ดทานตะวัน
ทีมนักสำรวจชาวเยอรมันและมาดากัสการ์พบกิ้งก่าชนิดนี้ทางตอนเหนือของเกาะมาดากัสการ์ โดยพบทั้งตัวผู้และตัวเมียอย่างละ 1 ตัว
1
มันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brookesia nana หรือที่รู้จักกันในชื่อ กิ้งก่านาโน (nano-chameleon) โดยตัวเมียจะมีความยาว 19 มิลลิเมตร (29 มิลลิเมตร เมื่อรวมหาง) ส่วนตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียเล็กน้อย โดยมีความยาวเพียง 13.5 มิลลิเมตร (22 มิลลิเมตร เมื่อรวมหาง) ซึ่งสามารถทำลายสถิติเดิมของกิ้งก่า Brookesia tuberculata ที่มีเชื้อสายใกล้เคียงกันกับมันไปเพียงแค่ 0.5 มิลลิเมตรเท่านั้น
2
กิ้งก่านาโนตัวเมีย (ภาพ : Frank Glaw)
กิ้งก่านาโนตัวผู้ (ภาพ : Frank Glaw)
ความเล็กจิ๋วของกิ้งก่านาโน ทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันอาจจะเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก
นอกจากขนาดตัวที่เล็กจิ๋วแล้ว กิ้งก่านาโนยังมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่ทำให้มันแตกต่างจากกิ้งก่าชนิดอื่น เช่น มันไม่สามารถเปลี่ยนสีได้ และยังชอบอยู่ตามพื้นป่ามากกว่าจะขึ้นไปอยู่บนต้นไม้
กิ้งก่านาโนเป็นสัตว์พิเศษที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง เนื่องจากป่าไม้บนเกาะมาดากัสการ์ซึ่งเป็นแหล่งทีอยู่อาศัยของมันถูกตัดทำลายลงไปไม่น้อย แต่เมื่อไม่นานมานี้มีความพยายามในการฟื้นฟูสภาพป่า และกำหนดพื้นที่อนุรักษ์อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้กิ้งก่าจิ๋วชนิดนี้ต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกของเรา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา