Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิตยสารสาระวิทย์
•
ติดตาม
9 ก.พ. 2021 เวลา 06:23 • ประวัติศาสตร์
กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ที่มาของเดือนกุมภาพันธ์
ภาพ Ganymede abducted by Jupiter วาดโดย Eustache Le Sueur ปี 1646-1647 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าชายองค์หนึ่งชื่อ แกนิมีด (Ganymede) แห่งเมืองทรอย (Troy) เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่รูปงามที่สุด
วันหนึ่งขณะที่แกนิมีดกำลังต้อนฝูงสัตว์อยู่บนภูเขา เทพเจ้าซูส (Zeus) ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพทั้งหลายได้เห็นแกนิมีดก็เกิดหลงรักขึ้นทันที
ภาพแกนิมีดกำลังเทสุราให้ซูส เป็นภาพบนเหยือกศิลปะกรีก 490-480 ปีก่อนคริสตกาล หรือ 2,501-2,511 ปีก่อน ปัจจุบันอยู่ที่ Metropolitan Museum of Art เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซูสได้แปลงร่างเป็นนกอินทรีตัวใหญ่บินลงมาโฉบพาตัวแกนิมีดขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ แล้วให้แกนิมีดทำหน้าที่รับใช้ซูสโดยเป็นผู้ถวายพระสุธารสหรือถวายน้ำ (cupbearer)
แกนิมีดได้กลายเป็นกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius อ่านว่า อแควเรียส) ที่มาของเดือนกุมภาพันธ์
ภาพดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มาภาพ แอป Celestron SkyPortal
คำว่า “กุมภาพันธ์” มาจากคำว่า “กุมภ์” แปลว่า หม้อ กับคำว่า “อาพันธ์” แปลว่า ผูก รวมกันแปลตรง ๆ ว่า ผูกหม้อ หมายถึง ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่มาถึงหม้อหรือราศีกุมภ์
ชื่อเดือนกุมภาพันธ์ภาษาอังกฤษคือ February มาจากภาษาละตินว่า februa แปลว่า ทำให้บริสุทธิ์ เป็นเทศกาลของชาวโรมันในวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์
เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดคือ ปกติมี 28 วัน และทุก ๆ 4 ปีจะเพิ่มอีก 1 วัน เป็น 29 วัน ขณะที่เดือนอื่น ๆ มี 30 หรือ 31 วัน คงที่ ไม่มีการเพิ่มวันทุก 4 ปี เหมือนเดือนกุมภาพันธ์
ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน เรียกว่า ปกติสุรทิน (common year) ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน (leap year) วันที่ 29 กุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกวาร (leap day) คำว่า “อธิก” แปลว่า เพิ่ม คำว่า “สุรทิน” และ “วาร” แปลว่า วัน
ปีอธิกสุรทินที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน จะเป็นปี ค.ศ.ที่ 4 หารลงตัว ล่าสุดคือปีที่แล้ว ค.ศ. 2020 ครั้งต่อไปคือปี ค.ศ. 2024
มีข้อยกเว้นคือปีที่ 100 หารลงตัว ไม่ต้องเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ตัวอย่างเช่นปี ค.ศ. 1900 จะไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ และยกเว้นอีกทีว่าถ้า 400 หารลงตัวให้มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เช่นปี ค.ศ. 2000 จะมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์
สาเหตุที่ต้องเพิ่มวันในเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจาก 1 ปี โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลาประมาณ 365.2422 วัน หรือคิดเป็น 365.25 วัน แต่ปีปกติมี 365 วัน ดังนั้นทุก 4 ปี จะมีจำนวนวันเพิ่มมาอีก 1 วัน จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มวัน มิเช่นนั้นฤดูกาลและวันสำคัญทางดาราศาสตร์ (ตัวอย่างเช่น วันวิษุวัต) จะคลาดเคลื่อนไปเรื่อย ๆ
1
ภาพรูปสลักหินอ่อนจูเลียส ซีซาร์ ประมาณ 50-40 ปีก่อนคริสตกาล หรือ 2,061-2,071 ปีก่อน พบที่เมือง Tusculum ประเทศอิตาลี ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองตูริน (Turin หรือ Torino) ประเทศอิตาลี
บุคคลสำคัญผู้ปรับปรุงปฏิทินให้เพิ่มวันในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 29 วัน ทุก 4 ปี คือ จักรพรรดิโรมันชื่อ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เรียกว่า ปฏิทินจูเลียน (Julian calendar) เริ่มใช้ตั้งแต่ปีที่ 45 ก่อนคริสตกาล ที่เลือกเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเดิมเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนสุดท้ายของปี (วันปีใหม่เดิมของชาวโรมันคือวันที่ 1 มีนาคม)
ภาพสมเด็จพระสันตะปาปากริกอรีที่ 13
ต่อมาสมเด็จพระสันตะปาปากริกอรีที่ 13 (Pope Gregory XIII) ได้ปรับปรุงปฏิทินจูเลียนให้ถูกต้องมากขึ้น เรียกว่าปฏิทินกริกอเรียน (Gregorian calendar) เป็นปฏิทินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1582
ภาพวาดกาลิเลโอ โดย Justus Susterman ประมาณปี ค.ศ. 1640 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์การเดินเรือแห่งชาติ เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ย้อนกลับมาเรื่องแกนิมีด เมื่อกาลิเลโอ (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี พบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี 4 ดวง เมื่อปี ค.ศ. 1609-1610 เรียกกันว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (Galilean moons) และชื่อดวงจันทร์ดวงหนึ่งนั้นคือ แกนิมีด ตั้งโดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ซีมอน มารีอุส (Simon Marius)
ภาพลายมือของกาลิเลโอในร่างจดหมายปี ค.ศ. 1609 มีภาพวาดดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา
การค้นพบดวงจันทร์ของกาลิเลโอเป็นหลักฐานสำคัญที่เปลี่ยนความเชื่อจากเดิมเชื่อเคยเชื่อกันว่า โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดาวทุกดวงโคจรรอบโลก แต่กาลิเลโอพบว่าดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีนั้นโคจรรอบดาวพฤหัสบดี ไม่ได้โคจรรอบโลก ดังนั้นโลกจึงไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล
กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำไม่มีดาวสว่างมาก อาจมองไม่เห็นในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เนื่องจากมีมลพิษแสงมาก
⚛ นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.
🔗 Website:
https://www.nstda.or.th/sci2pub/sarawit
🇫 Facebook:
https://www.facebook.com/sarawitnstda
🐦 Twitter:
https://twitter.com/sarawitnstda
🎬 YouTube:
https://www.youtube.com/c/mrspacemanthailand
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เปิดโลกนิทานดาว
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย