Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Write Down - มีอะไรก็เขียน
•
ติดตาม
2 มี.ค. 2021 เวลา 06:29 • ถ่ายภาพ
กุมภาพันธ์ที่ฝนตก
จากใจฤดูฝนเป็นฤดูที่เราไม่ชอบรองเป็นอันดับสองจากฤดูร้อน แต่มันก็มีความย้อนแย้งตรงที่ว่าเราชอบอารมณ์และบรรยากาศตอนที่ฝนตก และตอนที่ฝนหยุดตกใหม่ ๆ มาก
มันเป็นความสุขอย่างประหลาดนะ ที่ได้นั่งมองฝนที่กำลังตกปรอย ๆ ผ่านช่องหน้าต่าง ขณะที่เนื้อตัวและเท้าที่ย่ำน้ำมากำลังแห้งและอบอุ่น
ปกติความรู้สึกเหงาหงอยที่มาพร้อมบรรยากาศฝนโปรยปราย คงทำใครหลายคนไม่อยากทำอะไร แต่กับเรามันดันเป็นช่วงเวลาที่อยากจะเปิดเพลงเบา ๆ ปล่อยอารมณ์ไปกับการรัวคีย์บอร์ดเขียนงาน
และหลังจากที่ฝนหยุดตกไปแล้ว เราจะมองเห็นสิ่งที่ธรรมชาติทำทิ้งไว้ ซึ่งมาทั้งความสวยงามและความน่าปวดหัวอยู่ไม่น้อยเลย
และหนึ่งในเรื่องน่าปวดหัวก็คือ..
คอร์นเฟล็กเคลือบคาราเมลที่หกเรี่ยราดบนพื้นนั่นเองงงงง //ตึ่งโป๊ะ
ว่าไปนั่น! 🤣
มันคือดอกมะม่วงค่ะ
ถึงจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์แล้วก็ตาม แต่หน้าหนาวที่หน้าร้อนเริ่มแทรกแซงก็มีฝนตกลงมาบ้าง เป็นการตกลงมาพรมดอกมะม่วงที่กำลังชูช่ออยู่ปลายยอด
และเมื่อเหล่าน้อง ๆ ดอกมะม่วงโดนฝน ก็จะพากันทิ้งตัวแลนดิ้งลงมาพร้อมกับพี่ใบ และเกาะกลุ่มกันเป็นแพบนพื้นซีเมนต์ให้เราได้เก็บกวาด
บ้านใครปลูกต้นมะม่วงเยอะ และปลูกใกล้ทางซีเมนต์ที่จำต้องกวาดจะรู้ซึ้งถึงเวลาที่มันอมน้ำดีค่ะ ขนาดใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวยังกวาดไม่ค่อยจะไป 😅
วิธีการที่ไม่เปลืองแรงมาก ก็คือกวาดน้องเขาให้มากองกันไว้ แล้วเอาพลั่วมาตักใส่รถเข็นเอาไปทิ้งอีกที
เอาล่ะ..เลิกบ่นเรื่องดอกมะม่วงกันเถอะเนาะ
เรื่องของเรื่องก็คือ...
...การได้อยู่บ้านช่วงฝนตกเป็นอะไรที่มีความสุขสุด ๆ เพราะนอกจากจะได้นอนกลิ้งตอนเช้าแล้ว ช่วงบ่ายที่ฝนหยุดตกไปแล้วยังได้โอกาสหยิบกล้องที่เก็บไว้หลังตู้ออกมาลั่นชัตเตอร์อีกครั้งด้วย
แล้วก็..ทะด๊าาา
กล้องประกอบร่างกับถุงกันฝน
ถุงกันฝนซื้อมาได้สองปีแล้วตั้งแต่ทริปไปเที่ยวแม่สอด ตอนนั้นว่าจะลองเอาไปใช้ดู วางคู่กระเป๋ากล้องดิบดี แต่พอเดินทางดันลืมหยิบซะได้ 😅
อันที่จริงถุงพลาสติกตัดรูเอาหนังยางรัดก็พอใช้อยู่หรอก แต่ของมันต้องมีนี่นะ XD
หลังจากงมกับการใช้แป๊บหนึ่ง ก็ได้เวลาลองของกันแล้ว ลองตอนฝนยังตกปรอย ๆ นี่แหละ
หืม...มันก็..แบบว่า..ใช้ดีแหละ
กันฝนหรือละอองน้ำไม่ให้เปียกตัวกล้อง ไม่บางเกินไปด้วย และถึงจะลำบากนิดหน่อยตอนสอดมือไปหมุนเลนส์ แต่หลังจากจับเคล็ดได้ก็สบาย
บรรยากาศหน้าหนาวที่ไม่หนาวกลับมาหนาวเหมือนตอนต้นปีอีกครั้ง และความชื้นจากฝนก็ทำให้อากาศเย็น
สันและปลายจมูกเย็นเฉียบเหมือนเอาก้อนน้ำแข็งมาลูบ ขณะที่ตัวอุ่นจากการเอาเสื้อคลุมมาใส่
เราเดินเหยียบแพน้องดอกมะม่วงไปตามถนนในบ้าน ตอนเหยียบน้องนี่จะให้ความรู้สึกนุ่ม ๆ และมีเสียงแตกดังแกรกเบา ๆ ด้วย ฟินเหมือนกตอนหักคุกกี้เลยล่ะ(ฮา)
เหตุที่เราชอบบรรยากาศหลังฝนตกใหม่ ๆ หนึ่งก็เพราะอากาศที่เย็นขึ้น สองก็เพราะกลิ่นไอชื้น กลิ่นดิน กลิ่นดอกไม้บางชนิดอย่างดอกแก้วจะฟุ้งไปทั่วบริเวณ และสาม..หยดน้ำที่เกาะตามจุดต่าง ๆ มองแล้วช่วยให้ความรู้สึกชุ่มชื่นดี
ถ่ายกล้องมือถือโหมดโปร
ถ่ายกล้องมือถืออีกเช่นกัน
อันนี้กล้อง Nikon แอบเบลอนิด ๆ XD
[ เข็มป่า ]
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ixora cibdela Craib
วงศ์: RUBIACEAE
เป็นไม้พุ่มสูงไม่เกิน 2 เมตร ต้นอ่อนเขาเกิดเองในบ้านเราตั้งแต่หลายปีที่แล้ว อาจจะติดมากับดินที่เอามาถม ตอนออกดอกใหม่ ๆ เขาจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ด้วย เท่าที่เคยเห็นมีต้นที่มีดอกสีแสดด้วย
ใครอยากได้ต้นไม้แต่งบ้านแต่ไม่อยากได้ไม้ยืนต้นสูง ๆ ต้นนี้ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อยเลยนะ
หยดน้ำบนใบบอนสีของพ่อ ช่วงเวลาแบบนี้เดินไปเจออะไรก็ถ่ายเก็บไว้หมดแหละ
หยดน้ำใส ๆ แบบนี้ทำเอานึกถึงเยลลี่แช่เย็น // ไหงนึกไปถึงของกินได้ล่ะนิ
นั่งมองภาพนี้ก็ขำตัวเอง นี่ตูถ่ายอะไรมา..แค่นี้ยังถ่าย
ความแบบว่าตอนถ่ายนั่นคิดแค่ว่าใบสะเดาแห้งเปียกน้ำพวกนี้ พอมันร่วงมารวมกันบนพื้นแซมหญ้า มันก็ดูสวยดีนะ เลยถ่ายมา
กระบองเพชรกำลังออกดอก ไม่รู้ชื่อแต่ลองไปค้นในกูเกิ้ลดู เทียบเคียงต้นที่น่าจะตรงลักษณะที่สุดก็น่าจะเป็น..
[ เสมา ]
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nopalea cochenillifera (L.) Salm-Dyck
ชื่อสามัญ: Cochineal nopal cactus
ชื่ออื่น: Prickly pear cactus
วงศ์: CACTACEAE
มีความโบเก้ XD
ภาพซ้ายตุ่มดอกกำลังขึ้น เขาออกดอกช่วงหน้าหนาวนี่แหละ ที่บ้านต้นสูงเลยหัวไปแล้วไม่ค่อยมีหนามด้วย
เอาล่ะ..ผ่านไปสำหรับดอกไม้ใบหญ้า ก็ไปเจอสิ่งที่น่าทดลองเข้า
สองแบบสองสไตล์
หยดน้ำปลายใบตอง
ยืนถ่ายรูปตรงนี้นานพอควรเลย เพราะระหว่างถ่ายมีลมพัดตลอด ลมมาทีตรงติ่งที่หยดน้ำห้อยอยู่ก็แกว่งไปแกว่งมา
รูปที่ได้ก็เบลอไปสิ 🤣
ถ่ายแล้วก็ลบอยู่นั่นแหละ แถมพอถ่ายได้ก็ฮึกเหิมหันไปมองตามเสียงน้ำที่กำลังไหลลงจากรางน้ำฝน กระตุกยิ้มย่ามใจไปทีหนึ่ง ประหนึ่งเป็นนักล่าที่กำลังเห็นเหยื่อและคิดว่านั่นคือรายถัดไป..
ท่ามกลางเสียกรีดร้องของน้ำ เราก็ยืนถ่ายรูปด้วยใจที่เหี้ยมเกรียมเยียบเย็น
ว่าไปนั่น!
เล่นเอง ชงเอง กินเองก็ได้แหะเรา XD
ถ่ายรูปตรงใบตองนานแล้ว ต้องมาเจอความอยากถ่ายน้ำฝนที่ไหลลงจากรางรินโรงรถดูบ้าง 🤣
เราก็ไม่ใช่มืออาชีพอ่ะนะ ก็ลองผิดลองถูกอยู่นานเลยล่ะ ก่อนจะได้ภาพหยดน้ำออกมา แต่ความสนุกของการถ่ายภาพมันก็อยู่ตรงได้ทดลองถ่ายไปเรื่อยนี่แหละ
พอถ่ายได้และพอใจแล้วก็พึ่งรู้ตัวว่ามือที่จับกล้องไว้ชาไปหมดแล้ว แขนกับขาก็เริ่มปวดหน่อย ๆ ด้วย
เออ..พอก่อน ไปนั่งผิงไฟดีกว่า
มือปริศนากำลังเขี่ยกองไฟ ต้องขอขอบคุณนางแบบมือคือคุณแม่ของเรานั่นเอง!
หลังนั่งเล่นได้สักพัก เราก็ว่าจะถ่ายอีกสักรูปก่อนเลิกไปกวาดใบไม้ เดินไปเดินมาก็เจอ..
แอ่งน้ำขัง..
ดูไม่ผิดหรอกและเราก็พูดไม่ผิดเช่นกัน แอ่งน้ำขังบนถนนหน้าบ้านธรมดา ๆ ที่มีพวกก้อนหินกรวดหินภูปนกันอยู่นี่แหละ
ตอนนั่นก็ยืนคิดว่าถ่ายยังไงถึงจะออกมาสวย
แล้วก็นึกถึงชุดภาพถ่ายชุดหนึ่งที่เคยเห็นผ่านตา จำได้ว่าเป็นชุดภาพถ่ายที่เขาตั้งใจถ่ายออกมาเพื่อเปลี่ยนมุมของการมองสิ่งของธรรมดา ๆ ให้แปลกใหม่
เราก็เลยคิดได้ว่าถ้าเราถ่ายแอ่งน้ำขังกับก้อนกรวดตรงนี้จากมุมมองด้านบน ดูยังไงมันก็เป็นได้แค่แอ่งน้ำขังธรรมดาอยู่ดี
แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมของการถ่ายภาพ ให้เป็นระนาบเดียวกับแอ่งน้ำและก้อนหิน พร้อมใส่จินตนาการไปอีกสักหน่อยล่ะ..
.
.
.
ไม่แน่แอ่งน้ำและก้อนหินอาจดูคล้ายภูเขากับทะเลสาบ หรือเกาะแก่งกลางทะเลก็เป็นได้
[ Note ]
- รูปถ่ายเหล่านี้ถ่ายไว้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 และเริ่มเขียนบทความนี้ในอีกสองวันถัดมา แต่เพราะยุ่งอยู่กับหลายเรื่องเลยทิ้งไว้ จนกระทั่งสิ้นเดือนถึงมาเขียนต่อ
- ช่วงนี้อากาศเริ่มร้อนขึ้น และคนที่ไม่ชอบอากาศร้อนอย่างเรา ก็รู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งกับการเห็นแดดตอนเช้าที่แผดรังสีราวกับเป็นแดดตอนเที่ยง 🤣 และหน้าร้อนแมลงเยอะ ทั้งแมลงวัน แมลงวันทอง(มักมาตอนมะม่วงใกล้สุก) แมลงหวี่ และเจ้าแมลงที่ชอบเกาะตามใบไม้และชอบแตกตื่นตอนเราเดินผ่าน ทำอย่างกับเราเป็นก็อตซิล่างั้นแหละ(แฮร่) มิหนำซ้ำชอบมาเกาะตามเนื้อตัวแล้วคันเป็นผื่นแพ้ หวังว่าหน้าร้อนปีนี้เราจะไม่เป็น ขี้เกียจไปหาหมอทายา
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พล็อตรอง 《NOTE ON LIFE WITH ME》
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย