9 ก.พ. 2021 เวลา 13:00 • ความคิดเห็น
ทฤษฎีวิวัฒนาการ มนุษย์ไม่ได้เกิดมาจากลิง แต่เราและลิงเป็นญาติกัน
HIGHLIGHTS
- แนวคิดเรื่อง ‘วิวัฒนาการ’ เป็นสิ่งที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าใจผิด นับตั้งแต่ที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ตีพิมพ์หนังสือ ‘กำเนิดสปีชีส์’ (On the Origin of Species) เมื่อ 162 ปีก่อน ‘วิวัฒนาการ’ และ ‘การคัดเลือกโดยธรรมชาติ’ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจนถึงปัจจุบัน
- การคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติไม่ได้บอกว่ามนุษย์ถือกำเนิดมาจากลิง แต่เรากับลิงนั้นแท้จริงเป็น ‘ญาติ’ กัน หมายความว่าเรากับลิงมีบรรพบุรุษร่วมกัน และปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ตัวเองมาทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งกลายมาเป็นมนุษย์และลิงในยุคปัจจุบัน
- วิวัฒนาการไม่ใช่มนต์คาถาวิเศษที่ใช้เป็นคำตอบให้กับทุกคำถามบนโลก แต่อย่างน้อยหากเราได้ลองมองชีวิตด้วยแง่มุมนี้ มันอาจช่วยให้ชีวิตได้พบแง่งามบางประการที่เกิดขึ้นจากการได้ตระหนักว่าเราทั้งผองและสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่ล้วนเป็นญาติกัน
1
ตั้งแต่ ‘ชีววิทยา’ เริ่มแยกตัวออกมาจากธรรมชาติวิทยาและปรัชญาธรรมชาติเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 และแขนงการศึกษาย่อยๆ ในกลุ่มวิชานี้เริ่มลงเสาเข็มก่อรากฐานขึ้น คงไม่มีแนวคิดพื้นฐานใดที่ส่งผลกระทบต่อชีววิทยาและสังคมมนุษย์ในวงกว้างได้เท่ากับ ‘วิวัฒนาการ’ แล้ว
1
นอกจากนี้แนวคิดเรื่อง ‘วิวัฒนาการ’ ยังเป็นสิ่งที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าใจผิด นับตั้งแต่ที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ตีพิมพ์หนังสือ ‘กำเนิดสปีชีส์’ (On the Origin of Species) เมื่อ 162 ปีก่อน ‘วิวัฒนาการ’ และ ‘การคัดเลือกโดยธรรมชาติ’ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจนถึงปัจจุบัน ข้อโต้เถียงเพื่อหักล้างทฤษฎีวิวัฒนาการส่วนมากได้รับการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้วว่าไม่จริง และเป็นการตีความทฤษฎีอย่างผิดๆ เพื่อโยงประเด็นสนับสนุนความเชื่ออื่นที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งยังเป็นชุดความคิดที่ล้าหลัง ไม่ปรับเปลี่ยนไปตามหลักฐานและทฤษฎีใหม่ๆ
2
บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักพื้นฐานของวิวัฒนาการกันว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทฤษฎีมีรายละเอียดอะไร และทำไมเราจึงควรรู้จักทฤษฎีวิวัฒนาการ
พัฒนาการของแนวคิดวิวัฒนาการ
เมื่อภาษาและพัฒนาการทางระบบประสาทอนุญาตให้มนุษย์เริ่มคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ตัวเองได้ แนวคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรากับสิ่งอื่นรอบตัวก็ปรากฏขึ้น ซึ่งเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในอารยธรรมต่างๆ ทั่วโลก
ในยุคกรีกโบราณ อริสโตเติลพูดถึงแนวคิด ‘Scala Naturae’ ว่าด้วยการจัดแบ่งสิ่งต่างๆ บนโลกออกเป็นขั้นๆ คล้ายขั้นบันได เริ่มตั้งแต่สิ่งไม่มีชีวิต พืชชั้นต่ำ พืชชั้นสูง สัตว์น้ำ สัตว์บก และแน่นอนว่าขั้นบนสุดต้องเป็นมนุษย์
ในยุคกลาง แนวคิดดังกล่าวแปรเปลี่ยนไปเป็น ‘The Great Chain of Being’ ตามอิทธิพลทางศาสนา เหนือกว่ามนุษย์ขึ้นไปจึงเป็นเหล่าปวงเทพ ทูตสวรรค์ และพระผู้เป็นเจ้า ต่ำต้อยกว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกจึงได้แก่เหล่าปีศาจและซาตาน
แนวคิดทั้งสองนี้เชื่อเหมือนกันว่าสิ่งต่างๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นชะตาที่ถูกกำหนดมาแล้ว
ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 18 ฌ็อง-บาติสต์ เดอ ลามาร์ก เจ้าของทฤษฎี ‘ใช้และไม่ใช้’ และ ‘การถ่ายทอดลักษณะที่ได้รับมา’ ยกตัวอย่างที่มาของยีราฟคอยาวไว้ว่าในช่วงแรกยีราฟทุกตัวมีคอสั้น แต่มีบางกลุ่มที่พยายามยืดคอให้ยาวขึ้นเพื่อกินใบไม้ที่อยู่สูงขึ้นไป และถ่ายทอดลักษณะคอยาวนั้นให้กับลูกหลาน แม้ต่อมาทฤษฎีนี้จะไม่ได้รับความนิยม แต่นี่เป็นแนวคิดแรกๆ ที่เอ่ยถึงความเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา
1
ชาร์ลส์ ดาร์วิน กับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ
3
ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เสนอนั้นเรียบง่าย
1
สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมจะมีโอกาสอยู่รอดและสืบทอดลักษณะนั้นให้แก่ลูกหลาน ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประชากรนั้นๆ ก็จะมีสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีกับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
กุญแจสำคัญอีกประการหนึ่งคือความหลากหลาย สมาชิกแต่ละตัวในประชากรจะมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันออกไป อัตราความสำเร็จในการอยู่รอดและสืบพันธุ์จึงแตกต่างกัน เมื่อรวมเข้ากับสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ กลุ่มสมาชิกบางกลุ่มในประชากรนั้นอาจจะพบหนทางใช้ชีวิตใหม่ที่เหมาะสมกว่า และแตกเผ่าเหล่ากอแยกตัวออกไปเป็นสปีชีส์ใหม่
การคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติจึงไม่ได้บอกว่ามนุษย์ถือกำเนิดมาจากลิง แต่เรากับลิงนั้นแท้จริงเป็น ‘ญาติ’ กัน หมายความว่าเรากับลิงมีบรรพบุรุษร่วมกัน และปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ตัวเองมาทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งกลายมาเป็นมนุษย์และลิงในยุคปัจจุบัน
วิวัฒนาการยุคใหม่
ทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ยุคดั้งเดิมมีจุดบอดอยู่ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าการสืบทอดเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องรอการมาถึงของความรู้ด้านพันธุศาสตร์ และการประยุกต์ใช้หลักความน่าจะเป็นมาทำให้วิวัฒนาการ ‘จับต้อง’ ได้มากขึ้นในทางคณิตศาสตร์ จนเกิดเป็นสาขาวิชา ‘พันธุศาสตร์ประชากร’ ที่นับสัดส่วนของยีนและลักษณะการแสดงออกของยีนออกมาเป็นตัวเลข แล้วคำนวณหาโอกาสที่ยีนต่างๆ จะถูกส่งต่อไปยังรุ่นถัดไป
1
วิวัฒนาการจึงได้รับการนิยามใหม่อีกครั้งว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนของยีนในประชากร ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยและที่มาต่างๆ มากมาย เช่น การกลายพันธุ์ การอพยพ การคัดเลือกทางเพศ การคัดเลือกกลุ่ม และการคัดเลือกโดยธรรมชาติ
จะเห็นได้ว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติไม่ได้เป็นพระเอกเพียงหนึ่งเดียวของกลไกการเกิดวิวัฒนาการอีกต่อไป เราจึงไม่สามารถ ‘กล่าวโทษ’ การคัดเลือกโดยธรรมชาติเพียงอย่างเดียวได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ต้องคำนึงถึงว่ามันอาจเป็นต้นเหตุของสิ่งที่เราพบเห็นในธรรมชาติ
นับตั้งแต่ที่สิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกถือกำเนิดขึ้น มรดกทางพันธุกรรมของมันไม่เคยหายไป หากแต่เปลี่ยนแปลง เกิด ดับ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อทุกสิ่งในชีววิทยาฟังดูเข้าที
เป็นความจริงที่ขณะนี้เรายังไม่สามารถย้อนเวลาไปไล่ดูการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งได้ แต่หลักฐานจากฟอสซิลก็มีมากเพียงพอที่จะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนผ่านอย่างช้าๆ คล้ายกับภาพสแนปช็อตที่เมื่อนำมาเรียงต่อกันย่อมมองเห็นเป็นความเคลื่อนไหว ฉายให้เห็นถึงการปรับตัวที่เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อยตามสภาพแวดล้อมของโลก
มือมนุษย์ อุ้งตีนหมี ปีกค้างคาว ครีบวาฬ สี่สิ่งนี้อาจจะดูแตกต่างกันทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและการใช้งาน แต่เมื่อพิจารณาการจัดเรียงตัวของกระดูกกลับพบว่าคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาด ยังไม่นับรวมถึงโครงสร้างของเส้นขนเล็กๆ ในหลอดลมของเรากับเส้นขนรอบเซลล์พารามีเซียม กระบวนการเมตาบอลิซึมพื้นฐานของมนุษย์และแบคทีเรียที่ใช้สารตั้งต้นเป็นตัวเดียวกันและได้ผลิตภัณฑ์ออกมาเหมือนกัน หรือแม้แต่รหัสพันธุกรรมที่อยู่ในดีเอ็นเอ ซึ่งสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดใช้สารเคมีประเภทเดียวกัน
แม้สิ่งมีชีวิตบนโลกจะแตกต่างกันมากเหลือเกิน แต่ก็ดูเหมือนว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เชื่อมร้อยองคาพยพทั้งหมดนี้เอาไว้ด้วยกัน ‘เอกภาพในความหลากหลาย’ นี้เองที่ฟังดูเหมือนเพลงใหม่ของวง Getsunova แต่มันกลับฟังดูมีเหตุมีผลขึ้นมาในกรอบของวิวัฒนาการ
ความแปลกแยกโดดเดี่ยวที่เราเคยคิดว่าเราเป็น แท้จริงเป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดเพราะเรามองไม่เห็นโยงใยที่ซ่อนเร้นในธรรมชาติรอบตัว วิวัฒนาการไม่ใช่มนต์คาถาวิเศษที่ใช้เป็นคำตอบให้กับทุกคำถามบนโลก แต่อย่างน้อยหากเราได้ลองมองชีวิตด้วยแง่มุมนี้ มันอาจช่วยให้ชีวิตได้พบแง่งามบางประการที่เกิดขึ้นจากการได้ตระหนักว่าเราทั้งผองและสิ่งมีชีวิตทั้งมวลไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่ล้วนเป็นญาติกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
เรื่อง: ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย
1
โฆษณา