9 ก.พ. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ขอทานหาย
เอนก นาวิกมูล เขียนบ่าย 14.25 น.อังคาร 9 กพ2564
ในโบสถ์วัดภาวนาภิรตาราม บางขุนนนท์ ธนบุรี เคยมีภาพขอทานนั่งสีซออยู่ข้างบันไดขึ้นพระพุทธบาท
เป็นจดหมายเหตุเล็กๆว่าสมัยโน้นเวลามีเทศกาลไหว้พระบาท เดือน 3 คนขอทานนิยมไปออกันอยู่แถวพระพุทธบาทไม่น้อย เพราะเงินดี
ไปนั่งขอเฉยๆก็ได้ ไปนั่งสีซอก็ได้ ไปนั่งร้องเพลงก็ได้
ป้าสำอาง (2469-2540 อายุ 71 ปี) บอกว่าบางทีไป “นั่งตีแปลง” คือนั่งล้อมกันเป็นวง ช่วยกันร้องเรื่องลักษณวงศ์บ้าง จันทโครบบ้าง คนชอบฟัง​ ถ้าใครถ่ายเป็นภาพยนตร์ไว้ก็คงน่าดูมาก
นั่นเป็นเหตุการณ์ยุค 2480
วัดภาวนาสร้างเมื่อต้นสมัย ร.5
อินเตอร์เนตช่วยสรุปประวัติให้ทราบเร็วๆว่า วัดนี้เดิมชื่อว่า วัดใหม่วินัยชำนาญ สร้างเมื่อพ.ศ.2429
ขุนชำนาญสมบัติ (เล็ก จุลกะ) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระภาษีสมบริบูรณ์ กับ คุณหญิงเผื่อน เป็นผู้สร้าง
พ.ศ.2455 รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ มาพระราชทานผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดภาวนาภิรตาราม"
ในโบสถ์วัดภาวนามีจิตรกรรมฝาผนังสมัย ร.5 วาดเรื่องทศชาติ ได้น่าชม
ภาพที่ผมสนใจมานานคือภาพขอทานนั่งสีซอดังกล่าวนำในตอนต้นเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องเพลงพื้นบ้านที่สนใจอยู่แล้ว
นอกจากนั้นคือภาพบ้านเรือนที่มีลายลูกไม้แบบขนมปังขิงของฝรั่ง
ภาพเจ๊กลากรถ ภาพการเล่นพนัน ภาพเจ๊กพายเรือขายเหล้า ภาพคนถือไม้แก้งก้น เป็นต้น
พ.ศ.2523 สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถ่ายภาพจิตรกรรมวัดภาวนา กับวัดนายโรง มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง​ 1​เล่มบางๆ
สมัยนั้นจิตรกรรมยังใช้ได้ มีหลุดร่วงแค่บางช่วง คือภาพตอนมโหสถ
พุธ23สค2538 นายเอนกไปถ่ายภาพเป็นสไลด์และสี ยังดูดี
พุธ8 กค 2552 นายเอนกพาพี่ชายไปดู ภาพขอทานหายไปอย่างสิ้นเชิง ภาพอื่นๆเช่นเจ๊กลากรถ และเรือนขนมปังขิง กะเทาะหลุดเหลือแค่บางส่วน
ภาพคนนั่งถ่ายอุจจาระ ถือไม้แก้งก้น ไม่แน่ใจว่ายังอยู่หรือไม่
หากจำไม่ผิดดูเหมือนปัญหาจะเกิดจากน้ำท่วม และความชื้น
การที่นำกรณีวัดภาวนามาแสดงอีกครั้งก็เพื่อย้ำเตือนว่า ภาพจิตรกรรมเมืองไทยนั้นเป็นทั้งเครื่องแสดงฝีมือของคนในชาติ
และเป็นจดหมายเหตุบอกเล่าวิถีชีวิตด้านต่างๆสมัยต่างๆซึ่งอาจหาจากภาพถ่ายไม่ได้
แต่มันเปราะบางมาก
มีโอกาสสูญหายได้ง่าย ไม่จากความร้อน-ชื้น ก็จากการถูกคนมือบอนขีดขูดเล่น หรือถูกสั่งลบทิ้ง ไม่ก็วาดทับ​วาดเติมด้วยฝีมือช่างชั้นเลว​เห็นแล้วต้องเบือนหน้าหนี​
พบมามากต่อมากแล้ว
ส่วนใหญ่กู้คืนไม่ได้ หายแล้วหายเลย วาดใหม่อย่างไรก็ไม่เหมือนเก่า
ในสมัยที่เรามีกล้องดิจิทัล และมีนักถ่ายภาพฝีมือดีมากขึ้นแล้ว จึงควรช่วยกันถ่ายรูปจิตรกรรมฝาผนังไว้ให้ทุกซอกทุกมุม จะเป็นการดีที่สุด
เราอย่าไปวัดเพียงเพื่อกราบไหว้ขอพรเท่านั้น​ คนมีฝีมือ​ แบ่งเวลาไปช่วยถ่ายบ้าง
ทางวัดเอง​ ถ้าได้รับเงินบริจาคมากพอก็ควรแบ่งไปจ้างช่างถ่ายภาพไว้บ้าง​ ไม่ควรเน้นสร้างแต่รั้วกำแพงซุ้มประตูหมู่อาคารไม่รู้จักเลิก
ขอทานหาย
เอนก นาวิกมูล เขียนบ่าย 14.25 น.อังคาร 9 กพ2564
คำบรรยายภาพ
1.ภาพขอทาน-พระพุทธบาทแบบเต็ม เมื่อ พ.ศ.2538 เอนก นาวิกมูล ถ่ายไสลด์ SLA-0350-037-พุธ23สค2538
2.เจาะเฉพาะขอทานสีซอ เอนก นาวิกมูล ถ่ายไสลด์ SLA-0351-003-พุธ23สค2538
2.ภาพขอทานเมื่อ พ.ศ.2552 (กะเทาะหายไปแล้ว) เอนก นาวิกมูล ถ่าย 00902-013-พุธ8กค2552
โฆษณา