9 ก.พ. 2021 เวลา 15:21 • หุ้น & เศรษฐกิจ
😘 10 เรื่องน่า “KISS” … ที่อยากให้คุณรู้ 😘
.
ความบังเอิญที่ตั้งใจเข้าตลาดในเดือนแห่งความรัก สำหรับหุ้นน้องใหม่ชื่อย่อว่า “KISS” มาจากชื่อเต็มคือ “ROJUKISS”
..
กำลังจะเข้าตลาดวันแรก 19 กุมภาพันธ์ ถ้าไม่ติดว่าวาเลนไทน์ตรงกับวันอาทิตย์ KISS ก็คงจะเทรดวันนั้นไปแล้ว
.
วันนี้วิตามินหุ้นจะพาไปรู้จักหุ้น IPO ตัวนี้กันว่า จะน่ารักเหมือนชื่อหรือไม่ แล้วตกลงเป็นของเกาหลีหรือของคนไทย ทำไมยอดขายโตเป็นเลขสองหลักทุกปี มาร์จิ้นก็สูง เข้ามาเพื่อ Exit หรือเปล่า มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
.
ถ้าคุณพร้อมจะโดน KISS 😘 แล้ว อย่ารอช้า อ่านกันต่อเลยครับ
.
อ้อ บอกกันก่อนล่วงหน้า บทความนี้ไม่ได้รับสปอนต์เซอร์แต่อย่างใด เขียนเอง ชมเอง และติเองล้วนๆ
.
1. KISS เป็นแบรนด์เกาหลี แต่บริษัทไทยเป็นเจ้าของ
.
จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2007 คุณปิยวดี สอนสิงห์ ผู้ก่อตั้ง ได้นำเข้าแบรนด์ Rojukiss มาขายในเมืองไทย ขายที่ Watson’s ก่อน แล้วก็ขยายไปร้านอื่นๆ ตามมา
.
ผ่านไปถึงปี 2016 เห็นเป็นโอกาสเลยขอซื้อแบรนด์นี้ของเกาหลีมาบริหารเองเลย และอยากขยายธุรกิจให้ใหญ่โตขึ้น จึงได้เพิ่มทุนให้บริษัท Aurora Asia Holding (AAH) เข้ามาถือหุ้น
.
และต่อมาก็ได้ปรับโครงสร้างองค์กรและนำทีมผู้บริหารประสบการณ์สูงเข้ามาวางกลยุทธ์ให้กับแบรนด์
..
📌 สรุปคือ KISS เกิดที่เกาหลี แต่ตอนนี้คนไทยเป็นเจ้าของ มีสิทธิ์เต็มที่ในการผลิต การทำตลาดและการขายทั้งหมด ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่อง license แต่อย่างใด
.
2. ผู้บริหาร C-Level ประสบการณ์สูงจากบริษัท FMCG ระดับโลก
.
ไล่เรียงมาตั้งแต่ CEO, CMO, CFO, CCO, COO เคยทำงานกับบริษัท FMCG ชื่อดังอย่าง L’OREAL, P&G, Unilever มากกว่า 15 ปี คนกลุ่มนี้คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการปลุกปั้นแบรนด์ชื่อดังอย่าง Pantene, Olay, L’oreal, Garnier
..
หลายคนอาจสงสัยว่า อยู่บริษัทระดับโลกแบบนั้น เงินเดือนก็ดี งานก็ดี แล้วทำไมถึงมาอยู่ที่ KISS
.
ถ้าจะให้ตอบแบบตรงไปตรงมา คือ คนพวกนี้เค้ามีความบ้าในตัวค่อนข้างสูง มี passion ที่รุนแรง คือ พอทำงานกับแบรนด์ใหญ่จนสำเร็จ พออิ่มตัวแล้ว ก็อยากจะออกมาปั้นบริษัทของคนไทยให้เป็นที่ 1 บ้าง เป็นเรื่องของความท้าทายในการทำงานมากกว่า
.
อยากให้ลองไปดูตอนที่ CEO ให้สัมภาษณ์ในงาน Retail Investor Roadshow แล้วจะเห็นภาพสิ่งที่ผมพูดครับ และผู้บริหารถือหุ้นประมาณ 8% โดยจะ lock up ไม่ขายหุ้นออกมาในระยะเวลา 3 ปี
..
3. Asset Light วิชาตัวเบา ไม่มีโรงงานของตัวเอง
.
KISS ตั้งใจไม่มีโรงงานของตัวเอง เพื่อไม่ต้องมีภาระเรื่องต้นทุนคงที่ ค่าเสื่อม ระบบปฏิบัติการต่างๆ แต่จะจ้างผลิตแทน โดยมี 8 โรงงานที่ทำงานด้วยกันอยู่ก็เป็นโรงงานที่มีมาตรฐานสูงและรับจ้างผลิตสินค้าในกลุ่มนี้อยู่แล้ว ออเดอร์หลักมาจากโรงงานที่เกาหลี ข้อดีของการมี asset light model ทำให้มาร์จิ้นสูงประมาณ 55-60% ถ้ายิ่งมีโวลุ่มผลิตเยอะมาร์จิ้นก็จะเพิ่มขึ้นอีก
.
4. KISS มี 5 แบรนด์ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ จับกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน
.
ยอดขายตีกลมๆ ปีละประมาณ 1100 ล้านบาท
.
🔹 80% ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skin Care) มีแบรนด์ Rojukiss เป็นแบรนด์หลัก ตามมาด้วย PhDerma (เวชสำอาง สำหรับคนผิวแพ้ง่าย) Best Korea (ออกแบบมาให้เทียบเท่า counter brand) และ Wonder Herb (เพิ่งวางขายธันวาคม ปีที่แล้ว ส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน แล้วจะมีกัญชงออกมาด้วยมั้ย ต้องติดตาม)
.
🔹 16% ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Make Up) มีแบรนด์ Sis2Sis เช่น ลิปสติก มาสค่า แบบซอง พร้อมก้านแปรงพร้อมทาในตัว
.
🔹 4% ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Food Supplement) ภายใต้แบรนด์ Rojukiss เพิ่งจะวางขายไม่นานเหมือนกัน
..
5. New Products คือ Growth Driver แต่สินค้าเดิมยอดไม่ตก
.
ตั้งแต่ปี 2017 ถึง Q3’2020 ที่ทีมบริหารใหม่เข้ามาทำงาน ประมาณ 3 ปีกว่า ได้ทำการออกสินค้าใหม่ไปแล้ว 97 รายการ เรียกได้ว่า ตกปีละ 25-30 รายการต่อปี เหตุผลที่ออกสินค้าใหม่ได้เยอะเพราะว่า
.
🔸 ใช้เวลาพัฒนาสินค้าใหม่ 9-12 เดือน ถือว่าเร็วมาก โดยปกติบริษัทที่เป็น Global ใช้เวลา 15-18 เดือน
🔸 มีความคล่องตัวสูง ด้วยการจ้างคนอื่นผลิต
..
สัดส่วนสินค้าใหม่อยู่ที่ 30% มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี ที่ผ่านมา +85% ขณะที่สินค้าเดิม เติบโต +29% แปลว่า ไม่ได้กินกันเองเท่าไหร่ แต่ได้ลูกค้าใหม่ และไปกินแชร์มาจากแบรนด์อื่นมากกว่า
..
6. ร้านสะดวกซื้อ คือ ช่องทางการขายหลักกว่า 52%
.
🔹 76% Modern Trade (Tesco Lotus, BigC, Tops, The Mall, 7-11, Family Mart เป็นต้น) แต่ว่า 52% ขายผ่านร้านสะดวกซื้อ หลักๆ ก็มาจาก 7-11 ตรงนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คือดีที่ร้านค้าเยอะ เข้าถึงคนส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ดี แต่ปีที่ผ่านมา 7-11 โดนทั้ง COVID และคนละครึ่ง ทำให้ลูกค้าหาย SSSG ก็ตก ซึ่งกระทบกับสินค้าโดยเฉพาะ Make Up ของ KISS
.
🔹 13% General Trade ร้านโชว์ห่วย ร้าน Supermarket ท้องถิ่น
🔹 10% ต่างประเทศ คือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
🔹 1% E-Commerce ทั้ง web ของตัวเอง และ Lazada, Shopee
..
7. รายได้โต กำไรโต แต่ได้รับผลกระทบจาก COVID
.
📈 ปี 2017 ยอดขาย 593 ล้านบาท กำไรสุทธิ 58 ล้านบาท
📈 ปี 2018 ยอดขาย 863 ล้านบาท กำไรสุทธิ 106 ล้านบาท
📈 ปี 2019 ยอดขาย 1,138 ล้านบาท กำไรสุทธิ 190 ล้านบาท
..
💎 9M19 ยอดขาย 823 ล้านบาท กำไรสุทธิ 134 ล้านบาท
💎 9M20 ยอดขาย 730 ล้านบาท กำไรสุทธิ 140 ล้านบาท
..
ปี 2017-2019 รายได้โตเฉลี่ย 38% กำไรโตเฉลี่ย 82% ต่อปี จากการออกแบรนด์ใหม่ ออกสินค้าใหม่ ขยายไปต่างประเทศ ใช้พรีเซ็นเตอร์ มีโฆษณา TVC ใช้สื่อนอกบ้าน คือ ทำเยอะมาก เรียกได้ว่า สมควรโตจริงๆ
..
แต่ปี 2020 ยอดขาย -11% กำไร +4% ลดลงทั้ง Skin Care กับ Make Up แต่สินค้า Make Up ลดเยอะกว่า เพราะว่า COVID ทำให้การแต่งหน้า ทาปาก เวลาใส่หน้ากากอนามัย นั้นลดลงเป็นอย่างมาก
.
แต่คุณผู้หญิงยังทาตาทาคิ้วอยู่ บวกกับยอดขายส่วนมากอยู่ใน 7-11 ก็เลยลดลงไปตามกัน ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้ลดค่าใช้จ่ายการตลาดและโฆษณาลง กับพนักงานแนะนำสินค้าลงจาก 42 เหลือ 13 คน สำหรับร้านใหญ่ใน General Trade เท่านั้น
..
8. อัตรากำไรสูง ยิ่งขายเยอะ ยิ่งเพิ่ม
.
🔸 ปี 2017 GPM 48.3% NPM 9.6%
🔸 ปี 2018 GPM 54.5% NPM 12.2%
🔸 ปี 2019 GPM 59.3% NPM 16.7%
..
📈 9M19 GPM 59.1% NPM 16.3%
📈 9M20 GPM 59.1% NPM 19.1%
.
กำไรขั้นต้น เพิ่มขึ้นทุกปีจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ก็มีโวลุ่มผลิตสูงขึ้น ต่อรองกับโรงงานได้เพิ่ม และเกิดจากการที่รู้ว่าสินค้าตัวไหนมาร์จิ้นสูง ก็ปรับ mix ในการขายแต่ละช่องทางให้เหมาะสม เอาสินค้ากำไรดีเข้าไปขายเพิ่ม ปี 2020 ถึงแม้ว่าจะกระทบจาก COVID ก็ยังรักษาอัตรากำไรที่ดีไว้ได้ทั้ง GPM และ NPM
.
9. เป้าหมาย 3000 ล้านบาท ปี 2024
.
กับเวลาอีก 4 ปี ต้องโตให้ได้มากกว่า 20% ต่อปี และทบต้นไปเรื่อยๆ กลยุทธ์ที่ KISS จะทำ สรุปเป็นภาษาง่ายๆ คือ
.
💎 Innovation ออกสินค้าใหม่ปีละ 20-25 รายการ และไม่ใช่แค่ Beauty แต่เป็น Health & Beauty
💎 Optimize Pack/Price/Size คือ ไม่ใช่แค่สินค้า แต่ต้องดูด้วยว่า ขนาดไหน รูปแบบซอง หรือขวด ราคาเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม ก็จะมีการปรับเรื่องเหล่านี้ด้วย
.
💎 New Category จะขยายเข้าไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ตั้งแต่ปี 2021
💎 New Country จะเข้าไปตลาดเวียดนามในปี 2021
💎 New Channel จับมือกับ Grammy ลุยตลาด online เป็น Direct to Consumer
..
10. IPO 9 บาท 60 ล้านหุ้น
..
ระดมทุนไม่เยอะแค่ 60 ล้านหุ้น ได้เงินไปประมาณ 540 ล้านบาท ประมาณ 210-240 ล้านบาท เอาไปชำระหนี้ ซึ่ง KISS เองก็มีหนี้ประมาณนี้เป็นหนี้สั้นซะส่วนใหญ่ ก็จะทำให้ต้นทุนการเงินลดลงได้ ส่วนเงินที่เหลือก็จะนำไปพัฒนาสินค้าใหม่ ลงทุนด้าน IT และขยายธุรกิจไปต่างประเทศ
..
ราคา IPO 9 บาท คิดเป็น P/E ประมาณ 26-27 เท่า
..
💋 โดยสรุป KISS คงเรียกได้ว่าเป็น Growth Stock สินค้าดี มาร์จิ้นสูง อยู่ในตลาดแข่งขันสูง คู่แข่งเป็นแบรนด์ระดับโลก ผู้บริหารเก่ง บ้าพลัง passion สูง ขับเคลื่อนด้วยการออกสินค้าใหม่ แบรนด์ใหม่ ช่องทางใหม่
.
💋 แต่ COVID กระทบยอดขายโดยเฉพาะ Make Up และพึ่งพา 7-11 เป็นหลัก ซึ่งช่วงนี้ก็จะเหนื่อยหน่อย ต้องติดตามการแก้เกมส์ของ KISS ว่าจะทำอย่างไร และถ้า COVID หายเร็ว ก็จะเป็นผลดีกับแบรนด์
..
💋 เพื่อนๆ คนไหนสนใจลองทำการบ้านกันดูนะครับ วิตามินหุ้นเพียงให้ข้อมูลประกอบการลงทุน และอย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจทุกครั้งที่จะ KISS กัน
..
#KISS #IPO #วิตามินหุ้น
2
โฆษณา