10 ก.พ. 2021 เวลา 03:16 • ประวัติศาสตร์
วิตถาร
“วิตถาร” อ่านว่า วิด-ถาน เป็นคำภาษาบาลี มีความหมายว่ากว้างขวาง แพร่หลาย ยืดยาว เนิ่นช้า พากย์สันสกฤตคือ “วิสฺตาร” ภาษาไทยใช้เป็น “พิสดาร” เช่น ฉบับพิสดาร กล่าวโดยพิสดาร
วรรณคดีเก็บคำว่า “วิตถาร” ในความหมายนี้ไว้ ดังตัวอย่าง
“...ประกอบกับรัศมีแห่งสุรศรีสาวสวรรค์ มีบรมธรรม์เป็นประธาน รังสีวิตถารได้หมื่นโยชน์...” (พระมาลัยคำหลวง)
“...นิทานนี้เป็นคัมภีร์อนันตัง วิตถารกว้างจะให้กองนั้นมากมาย...” (ปาจิตกุมารกลอนอ่าน)
“...แกล้งทูลบรรยายเป็นหลายข้อ ล้วนประดิษฐ์ติดต่อให้วิตถาร...” (บทละครเรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๑)
“...ครั้นจะร่ำพรรณนาเห็นช้าการ ยังวิตถารมากมายหลายทำนอง...” (นิราศลอนดอน)
หรือตัดใช้เป็น “วิถาร” ดังตัวอย่าง
“...ประมาณเสร็จเจ็ดเดือนโดยวิถาร พระกุมารได้สมอารมณ์หวัง...” (พระอภัยมณี)
และแผลง ว เป็น พ ใช้ว่า “พิถาร” ก็มี ดังตัวอย่าง
“...ธรรมุเทศปริยาย อธิบายอรรถพิถาร แนะนิพพานมรรคา...” (โคลงนิราศวัดรวก)
สมัยหนึ่งวงการสงฆ์นำคำว่า “วิตถาร” มาประกอบเป็นทินนามฐานันดร “พระครู” ด้วย เช่น
พระครูวิตถารจันทบุรคุณ วัดโบสถ์ จันทบุรี ภายหลังเป็นพระครูธรรมวงศาจารย์ วิมลญาณสมาโยค เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี สมัยรัชกาลที่ ๖
พระครูวิตถารสมณวัตร (ธน) วัดพระนางสร้าง ภูเก็ต
พระครูวิตถารสมณวัตร (ฝรั่ง) วัดพระทอง ภูเก็ต
พระครูวิตถารสมณกิจ (ทอง) วัดลองดอง นครราชสีมา
พระครูวิตถารสมณกิจ (คำ) วัดโพธิ์ปล้ำ อ่างทอง
คนที่ทำอะไร “มากกว่าปรกติ” มัก “แปลกแยก” ไปจากมหาชน
คำว่า “วิตถาร” จึงเพิ่มความหมายออกไปเป็น นอกแบบ นอกทาง เช่น
“...แล้วแยกพวกธงรายกระจายเปลื้อง เป็นธงเหลืองลอบใช้ให้วิตถาร...” (นิราศเมืองหลวงพระบาง)
“...รูปเปลี่ยนเพี้ยนผิดวิตถาร อากัปอาการ วิกลประหลาดหลายนัย...” (พระนลคำฉันท์)
ปัจจุบัน “วิตถาร” มีความหมายบ่งถึงสิ่ง “ที่ผิดปรกติวิสัย” ในเรื่องเพศโดยเฉพาะ เช่นคำว่า “กามวิตถาร” หมายถึงการทรมานตนหรือผู้อื่นก่อนหรือในระหว่างร่วมเพศ
เรียกคนที่มีความพึงใจในสิ่งนี้ว่า “พวกวิตถาร”
ช่วงที่ผมบวชตามประเพณีตอนปิดเทอมปี ๓ ขึ้นปี ๔ ผมคุ้นกับ “หลวงน้า” ที่บวชมานานรูปหนึ่ง
เช่นเดียวกับใครหลายคนผู้เจ็บช้ำซ้ำซากกับโชคชะตาและความหวัง หลวงน้าใช้ร่มเงาพระศาสนาอันสงบรำงับเป็นที่เว้นวรรคชีวิต
หลวงน้าเป็นคนช่างเล่าและเล่าได้สนุก
นิยายชีวิตเรื่องแล้วเรื่องเล่าไหลหลั่งพรั่งพรูจากปากหลวงน้าไม่ขาดสาย กุฏิหลวงน้าที่มุมหนึ่งของหอฉันจึงมีพระใหม่แวะเวียนไปฟังทุกวัน
สำคัญกว่านั้นหลวงน้า “แหล่นอก” หรือแหล่เรื่องที่อยู่นอกคัมภีร์เทศน์มหาชาติได้ไพเราะ มีชั้นเชิงลีลาดีอย่างผู้ที่ “แหล่เป็น”
ผมสนใจเรื่องหนหลังของหลวงน้าน้อยกว่าการไปขลุกขอให้หลวงน้าสอนแหล่
คืนหนึ่งก่อนเริ่มหัดแหล่ หลวงน้าค้นหาของอะไรกุกกักในกล่องใกล้หัวนอน ก่อนจะหยิบเหรียญพระองค์หนึ่งขึ้นเพ่งดู
“....พระ-ครู-วิด-ตะ-ถาน....สะ-หมน-กิด...” หลวงน้าทำหน้าไม่แน่ใจว่าที่ตัวเองอ่านถูกหรือผิด
“อ่านว่า สะ-มะ-นะ-กิด” ผมขอเหรียญมาดูแล้วอ่านใหม่อย่างนึกขำ
“พระอะไรชื่อวิดตะถาน ถ้าใครให้ฉันเป็นพระครูชื่อนี้ฉันจะสึก”
“สึกทำไม” ผมถาม
“เดี๋ยวคนเขาจะหาว่าพระครูห่าอะไรปล้ำเด็ก”
ปรัชญา ปานเกตุเผยแพร่บนเฟสบุ๊คและแฟนเพจเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓
ปกหนังสือกฎหมายอาญาพิสดาร รวบรวมโดยหลวงวิจารณ์ราชสฤชฌ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ห้องสมุดหนังสืองานศพวัดบวรนิเวศวิหาร คลังทรัพยากรดิจิทัลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปกหนังสือโหราศาสตร์ในวรรณคดี (ตำราโหราศาสตร์ฉบับพิสดาร) จัดพิมพ์ขึ้นในงานประชุมเพลิงศพ คุณแม่เป้า สาริกบุตร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๒ ห้องสมุดหนังสืองานศพวัดบวรนิเวศวิหาร คลังทรัพยากรดิจิทัลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปกหนังสือมิลินทปัญหา ฉบับพิสดาร ของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรอนุญาตให้ศิลปาบรรณาคารพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ห้องสมุดปรัชญา ปานเกตุ
ปกหนังสือบาลีและฎีกามหาสมัยสูตร โดยพิสดาร พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ นางเจิม ทศานนท์ ณ ฌาปนสถานกองทัพบกวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ห้องสมุดหนังสืองานศพวัดบวรนิเวศวิหาร คลังทรัพยากรดิจิทัลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โฆษณา