10 ก.พ. 2021 เวลา 03:46 • ยานยนต์
เปิดตำนาน Honda Motor ของชายที่ชื่อว่า โซอิจิโร่ ฮอนดะ มนุษย์ที่สร้างประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้ง Honda บุคคลที่มีความสำคัญต่อยานยนต์ ที่กว่าจะมีวันนี้ ต้องผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ที่โรงงานโดนระเบิดไปถึง 2 ครั้ง จนซ่อมไม่ไหว ต้องขายกิจการไป เสียใจจนกลายเป็นไอ้ขี้เมาอยู่ 1 ปีเต็ม จนเรียกสติกลับคืนมาได้ใหม่ ใช้วิกฤตหลังสงครามโลกให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้างมอเตอร์ไซต์สำหรับคนทั้งประเทศ และกลายเป็นแบรนด์อันดับ 2 ของญี่ปุ่น และอันดับที่ 26 ของโลก ทำให้ชื่อของ โซอิจิโร่ ฮอนดะ ถูกจารึกในทำเนียบปูชนียบุคคลยานยนต์โลก (Automotive Hall of Frame) ที่นับว่าเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
โซอิจิโร่ ฮอนดะ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษจิกายน ปี 1906 ประเทศญี่ปุ่น เมือง Shizuoka หมู่บ้าน Tenryu ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ ใกล้ ๆ กับเมือง Hamamaysu โดยเขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีอาชีพเป็นช่างตีเหล็กและซ่อมจักรยานเก่าขายมาหลายชั่วอายุคน โซอิจิโร่ เป็นเด็กที่มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน อยากรู้อยากเห็น และมีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็ก ๆ และช่วยพ่อของเขาซ่อมจักรยานตั้งแต่เด็กจนทำให้เขามีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมที่ดี
โดยความฝันของเด็กน้อยคนนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่อายุได้ประมาณ 10 ขวบ มีรถยนต์คันหนึ่งได้ขับผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งทำให้โซอิจิโร่นั้นตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก และเขาตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าสักวันหนึ่ง จะต้องสร้างรถยนต์ด้วยตัวเองให้จงได้
และอีกครั้งเมื่อตอนที่เขายังเด็ก เขาแอบเอาเงินจากกล่องและจักรยานของพ่อไปเข้าชมเครื่องบินที่สนามบิน ซึ่งห่างออกไปจากบ้านประมาณ 20 กิโลเมตร แต่ด้วยค่าบัตรราคาแพง เงินที่แอบจิ๊กมาก็ไม่พอจ่ายค่าตั๋ว แต่แทนที่เขาจะล้มเลิกความตั้งใจ แต่กลับไม่ละทิ้งความพยายาม จึงรอตามชมนอกสนามบินเอาแทน และนั่นทำให้พ่อของเขาเห็นแววของลูกชาย มีความสนใจทางด้านนี้เป็นพิเศษ
โซอิจิโร่ เป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่ค่อยเก่งสักเท่าไหร่นัก เพราะไม่ชอบการอ่านและเขียนในตำรา แต่เขากลับมีฝีมือดีในด้านสร้างสรรค์งานประดิษฐ์ จึงได้ตัดสินใจเลิกเรียนหนังสือตอนที่อายุได้ 15 ปี และตัดสินใจเข้ามาหางานทำที่เมืองโตเกียว และเข้าสมัครทำงานที่อู่ซ่อมรถ Art Shokai (อาร์ท โชไก) แต่กลับพบว่า ได้รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กของเจ้าของอู่ซะอย่างงั้น แต่พอผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน เขาก็ได้ไปเป็นลูกมือของช่างซ่อมเครื่องยนต์
ในปี 1923 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นที่โตเกียว ทำให้บ้านเรือนเสียหายหลายหลังและไฟไหม้ตามบ้านเรือน ซึ่งถือว่าเป็นภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ จนกระทั่งเหล่าบรรดาช่างที่ประจำอยู่ที่อู่ก็พากันแยกย้ายลากลับบ้านกันหมด ยกเว้นแต่ช่างฝีมือหนึ่งคนกับโซอิจิโร่เท่านั้น แต่ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่โซอิจิโร่ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์อย่างจากนายช่างอย่างเต็มที่ แถมยังได้ถูกเจ้าของอู่ปลูกฝังในเรื่องของการแข่งรถ ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบัน รถของ Honda เป็นรถแข่งที่อยู่อันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย
และหลังจากที่ทำงานอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปีเศษ โซอิจิโร่ ในวัย 21 ปี ก็ตัดสินใจกลับไปที่บ้านเกิด แถมยังได้รับความไว้วางใจจาก Art Shokai ให้เป็นตัวแทนสาขาย่อยที่จังหวัดฮามามัสสึ และได้รับอิสระได้การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จนได้รับฉายาว่า “Edison of Japan”
จนกระทั่งในปี 1936 เขาก็ได้ก่อตั้งบริษัท “โตไก เซอิคิ” (Tōkai Seiki) เพื่อผลิตและส่งวงแหวนลูกสูบ(piston rings) ให้บริษัท โตโยต้า
แต่ทุกอย่างก็เหมือนจะไปได้ดี จนกระทั่งเขาประสบอุบัติเหตุในระหว่างที่เขาแข่งรถ ซึ่งต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 3 เดือนเต็ม แถมยังได้รับข่าวร้ายจากการผลิตวงแหวนลูกสูบล็อตแรกกว่า 30,000 ชิ้น ซึ่งโตโยต้ารับไปตรวจสอบเพียง 50 ชิ้น แต่กลับพบว่า มีชิ้นส่วนที่ผ่านมาตรฐานของโรงงานเพียง 3 ชิ้นเท่านั้น (เรียกได้ว่า มาตรฐานการผลิตของเขาอยู่ที่ 0.01% ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ)
สาเหตุความล้มเหลวในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่เขานั้น มีอคติกับความรู้ในตำราหนังสือเรียนและทฤษฎีต่าง ๆ ว่า ความรู้จากทฤษฎีในตำรา มันจะไปสู้การลงมือปฏิบัติจริง ๆ ได้อย่างไร ซึ่งนั่นทำให้เขามีความมั่นใจในฝีมือการผลิตชิ้นงานของตนเองเป็นอย่างมาก ก็กลับทำให้เกิดการตีกลับของคุณภาพวงแหวนลูกสูบจากโตโยต้า เกือบทั้งหมด
จนเขาตัดสินใจเข้ามาเรียนภาคค่ำ ที่ฮามะมัตซึ เกี่ยวกับลูกสูบอีกครั้ง และระหว่างที่เรียน เขาได้เยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมทั่วทั้งเกาะญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้การควบคุมคุณภาพการผลิตให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น จนกลับมาบริหารโรงงานใหม่ และสามารถผลิตวงแหวนลูกสูบปริมาณมาก และเป็นที่ยอมรับจากโต้โยต้าได้ในที่สุด
ดวงกำลังดีอนาคตกำลังรุ่ง แต่ก็ดันมาเจอกับวิกฤตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปัญหาแรกที่เจอเลยก็คือโรงงานประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นเหล็ก ซึ่งเหล็กนั้นนำไปผลิตอุปกรณ์ทางการทหารซะเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาก็แก้ไขด้วยการเก็บถังน้ำมันเปล่าที่ทางกองทัพของอเมริกาทิ้งเอาไว้ นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแทน
ปัญหาต่อมานั้น ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เนื่องจากโรงงานของเขาที่อยู่ใกล้สนามบิน Hamamattsu จึงทำให้ตกเป็นเป้าของการทิ้งระเบิด โดยถูกระเบิดลงถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกยังพอซ่อมแซมโรงงานได้บ้าง แต่ครั้งที่สองโรงงานของเขาเสียหายเกินกว่าจะซ่อมได้ โซอิจิโร่จึงตัดสินใจขายบริษัทให้กับโตโยต้าในราคา 450,000 เยน หลังจากขายกิจการไป โซอิจิโร่ก็จมอยู่กับความเศร้า กลายเป็นไอ้ขี้เมาอยู่เกือบปี
และแล้วสงครามโลกครั้งที่สองก็ผ่านพ้นไป ด้วยการที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัย ซึ่งทิ้งร่องรอยของความเสียหายไว้อย่างหนักหนาสาหัส หลังจากนั้นประเทศญี่ปุ่นก็เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมัน ทำให้การสัญจรไปมาต้องใช้การเดินเท้าไม่ก็ใช้จักรยานซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้คนก็ยังคงต้องการความสะดวกในการเดินทางอยู่ดี เพราะบางทีการเดินทางหรือขนส่งของด้วยรถไฟก็ไม่ค่อยสะดวกสักเท่าไหร่นัก
โซอิจิโร่จึงใช้โอกาสนี้ ลองผลิตเครื่องยนต์ขนาดเล็กแบบง่าย ๆ โดยนำเอากาต้มน้ำร้อนที่ทำมาจากอัลลอย แล้วดัดแปลงเป็นถังน้ำมันขนาดเล็ก แล้วต่อเข้ากับเครื่องยนต์ นำไปติดตั้งที่ตัวจักรยาน(รุ่น Model A Type) เพื่อให้ภรรยาได้ใช้ จนเพื่อนบ้านในระแวกนั้นต่างก็มาขอให้โซอิจิโร่ทำให้บ้าง จนเริ่มมองเห็นลู่ทางในการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา
ซึ่งแม้ว่าวัตถุดิบในการผลิตรถจะค่อนข้างหายาก แต่เขาก็ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคนี้ เขาจึงเริ่มเขียนจดหมายเพื่อส่งไปหาร้านจักรยานกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ และได้รับการตอบจดหมายกลับกว่า 5,000 ฉบับ เพื่อจัดหาวัตถุดิบในการผลิตรถจักรยานยนต์
จนกระทั่งในปี 1947 บริษัท Honda Motor ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา และได้สร้างรถจักรยานยนต์รุ่น D-type หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Honda Dream ที่ถือว่าเป็นรุ่นแจ้งเกิดของ Honda Motor ที่สามารถทำยอดขายได้อย่างทล่มทลาย ส่งผลให้เพียง 2 ปี ต่อมา บริษัท Honda Motor กลายเป็นบริษัทที่ผลิตรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเติบโตระดับโลกด้วยการส่งออกรถรุ่น Super Cub ทำให้บริษัท Honda Motor เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดโลก
โดยเริ่มมีชาวต่างชาติมาติดต่อเพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย ทาง Honda Motor จึงเร่งขยายฐานกำลังผลิต ซึ่งในปี 1961 บริษัทสามารถผลิตรถจักรยานยนต์ได้เป็นจำนวน 100,000 คันต่อเดือน และในปี 1968 สามารถผลิตได้ถึง 1,000,000 คันต่อเดือน ทำให้ ฮอนด้าในช่วงกลางยุค ‘80 นั้น กินส่วนแบ่งในตลาดได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
และแล้วความฝันในวัยเด็ก ที่เขาใฝ่ฝันมาเนิ่นนานก็คือ การผลิตรถยนต์เป็นของตัวเองสักกะที หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในวงการจักรยานยนต์ ทำให้ในปี 1970 เขาเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับการคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับความคิดของโซอิจิโร่ แต่เขาก็ไม่สนใจ ยังคงมุ่งสู่ความฝันในวัยเด็กต่อไป
ซึ่งสิ่งที่โซอิจิโร่ใช้ในการสร้างความแตกต่างจากรถยนต์ที่มีอยู่ในท้องตลาดก็คือ รถยนต์ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการเผาไหม้ก๊าซไอเสีย ซึ่งยังไม่มีใครที่สามารถผลิตเครื่องยนต์ที่มีมลพิษต่ำได้
ในปี 1973 เขาจึงนำเครื่องยนต์มลพิษต่ำนี้ ไปผลิตรถยนต์รุ่น Honda Civic ซึ่งในช่วงนั้น เป็นช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันแพง ทำให้ได้รับรางวัลรถยนต์ที่ประหยัดเชื้อเพลิงที่สุดในโลกในสมัยนั้น และ Honda ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และนอกจากนั้น โซอิจิโร่ ฮอนดะ ยังได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลยานยนต์โลก (Automotive Hall of Fame) ที่นับว่าเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ซึ่งในยุคตอนต้นของปี ‘80 โซอิจิโร่ สามารถนำพาให้ Honda กลายเป็น Top 3 ของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น และในช่วงปลายปี ‘80 บริษัท Honda ก็กลายเป็น Top 3 ของโลกได้ในที่สุด
โซอิจิโร่ ฮอนดะ ได้จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ปี 1991 ในวัย 85 ปี อย่างสงบ ก่อนที่ตำนานคนนี้จะจากไป เขาได้สร้างสิ่งประดิษฐ์กว่า 470 ชิ้นงาน และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอีกกว่า 150 ฉบับ และนอกจากนั้นยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสูงสุดจาก Michigan Technical University และ Ohio State University และสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้มากกว่า 30 พันล้านดอลล่าร์ฯ (หรือราว ๆ 1 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว
โฆษณา