10 ก.พ. 2021 เวลา 09:11 • อาหาร
กรณีศึกษา ทองสมิทธ์ ก๋วยเตี๋ยวเรือชามละ 200 แต่ขายดี
ปกติแล้ว ก๋วยเตี๋ยวเรือ ราคาทั่วไป จะอยู่ที่ชามละประมาณ 40-60 บาท
และบางร้านอาจขายในราคาต่ำมากๆ เช่น ชามละ 9-12 บาท
แต่รู้ไหมว่า มีร้านหนึ่ง ที่ขายก๋วยเตี๋ยวเรือชามละประมาณ 200 บาท แต่ยังขายดี
จนสามารถทำรายได้ ได้ถึงหลักร้อยล้านบาท
ร้านนั้นชื่อ “ทองสมิทธ์”
มีอะไรเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ร้านนี้ประสบความสำเร็จ เรามาดูกัน
ในช่วง 1-2 ปีมานี้
หลายๆ คน โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ
อาจเคยได้ยินชื่อ ทองสมิทธ์ กันมาบ้าง
และหลายคนคงสงสัย ว่าชื่อ ทองสมิทธ์ มีความหมายว่าอะไร
แล้วร้านนี้ทำอย่างไร ที่ทำให้ก๋วยเตี๋ยวราคานี้ ขายดี จนต้องต่อคิวรอเข้าร้าน
ก่อนอื่น เรามาดูกันก่อนว่า ก๋วยเตี๋ยวเรือของ ทองสมิทธ์ ขายดีแค่ไหน..
บริษัท ทองสมิทธิ์ สยาม จำกัด
ปี 2561 รายได้ 14.9 ล้านบาท กำไร 1.1 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 153.5 ล้านบาท กำไร 34.6 ล้านบาท
เพียงแค่ 2 ปี ทองสมิทธ์ ก็ทำรายได้ทะลุหลักร้อยล้านบาทไปแล้ว
คุณกานต์ กิตติเวช หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ทองสมิทธ์ เปิดเผยว่า
ทองสมิทธ์ เกิดจากตัวคุณกานต์เอง และผู้ก่อตั้งอีก 3 คน คือ
คุณอัจฉรา บุรารักษ์, คุณโรจนินทร์ อรรถยุกติ และคุณอินทิรา แดงจำรูญ
ทั้ง 4 คน มีความคิดตรงกันว่า อยากจะเปิดร้านอาหาร
โดยต้องเป็นอาหารที่เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม และทานได้ง่าย
และ “ก๋วยเตี๋ยวเรือ” ก็คือคำตอบนั้น
ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องก๋วยเตี๋ยวของ ทองสมิทธ์
หลายคนคงกำลังสงสัยว่า ทำไมต้องชื่อว่า ทองสมิทธ์?
ทองสมิทธ์ มาจากคำว่า “ทอง” กับคำว่า “สมิทธ์”
โดยคำว่า ทอง เป็นคำที่คุณปลา อัจฉรา บุรารักษ์ ชื่นชอบ
ส่วนคำว่า สมิทธ์ ในภาษาบาลีที่พ้องกับคำว่า สัมฤทธิ์ ที่แปลว่า การเดินทางไปสู่ความสำเร็จ
และยังเป็นคำที่นำเสนอได้ทั้งภาษาอังกฤษและไทย
ซึ่งทุกคนมองว่า ชื่อนี้มีทั้งความเป็นไทยและทันสมัย ซึ่งตรงกับสิ่งที่ทางร้านต้องการนำเสนอ
พอได้มาซึ่งชื่อ ทองสมิทธ์ แล้ว
ก็กลายเป็นว่า คอนเซ็ปต์การตกแต่ง และสิ่งต่างๆ ภายในร้าน
ก็ถูกปรับให้ล้อไปกับชื่อของร้านได้อย่างลงตัว
โดยตัวร้านถูกออกแบบให้เป็นบ้านไทยสีเข้ม สไตล์อบอุ่น
ไม่มีการวางตัวเรือไว้หน้าร้านเหมือนร้านก๋วยเตี๋ยวเรือร้านอื่น แต่เปลี่ยนไปเป็นลายกราฟิกบนผนังแทน
และมีการตกแต่งด้วยเส้นสีทอง เพื่อให้ดีไซน์สอดคล้องกับชื่อร้าน และดูทันสมัย
แม้กระทั่งช้อนในชาม ก็ยังเป็นสีทอง..
แล้วก๋วยเตี๋ยวเรือของ ทองสมิทธ์ พิเศษ และแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร?
คุณกานต์บอกว่า
หลังจากทั้ง 4 คน ตกลงกันว่าจะขายก๋วยเตี๋ยวเรือ
ก็เริ่มออกตระเวนทานก๋วยเตี๋ยวเรือหลายๆ ร้าน
ด้วยความที่ คุณกานต์ เป็นเชฟอยู่แล้ว
จึงทำให้สามารถนำรสชาติที่ชื่นชอบของหลายๆ ร้าน
มาลงลึกในเรื่องของรสชาติ วัตถุดิบ และปรับให้เป็นสูตรเฉพาะของ ทองสมิทธ์ ได้อย่างลงตัว
เรื่องที่ ทองสมิทธ์ ให้ความสำคัญมาก คือเรื่องของ “วัตถุดิบ”
ทางร้านจะมีการกำหนดระดับคุณภาพของวัตถุดิบต่างๆ
และเข้มงวดกับการสรรหาวัตถุดิบเพื่อให้ได้คุณภาพตามที่กำหนด
ยกตัวอย่างเช่น
เนื้อวากิวในชามก๋วยเตี๋ยว จะต้องเป็นเนื้อวากิวจากออสเตรเลีย
และคัดมาเฉพาะส่วน เพื่อให้เนื้อทุกชิ้นในแต่ละชาม อร่อยเหมือนๆ กัน
เครื่องปรุงทั้งหมดจะผลิตเองจากครัวกลาง
ทั้งการคั่วพริก ทอดกระเทียม เพื่อให้มีความสดใหม่
และเพื่อให้ในแต่ละชามมีความลงตัวและกลมกล่อมเหมือนๆ กัน
ทองสมิทธ์ วางคอนเซ็ปต์ของตัวเองไว้ว่า
เป็นก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่อร่อยโดยไม่ต้องปรุง
แต่ยังให้ลูกค้าสามารถปรับรสชาติให้เข้ากับตัวเองได้
โดยมีความเผ็ดให้เลือก 4 ระดับ ตามความชื่นชอบของแต่ละคน
เมนูที่ได้รับความนิยมของ ทองสมิทธ์
เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือเนื้อวากิว, แซ่บแห้ง, ข้าวต้มแห้ง
และนอกจากนั้นยังมีเมนูทานเล่นยอดนิยม เช่น เกี๊ยวกรอบ และ ขนมถ้วย
แล้ว ทองสมิทธ์ เปิดมานานหรือยัง?
ทองสมิทธ์ เปิดบริการมาได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
โดยเปิดสาขาแรก ในเดือนกันยายน ปี 2561 ที่ เซ็นทรัล เอมบาสซี
ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีตั้งแต่วันแรกๆ
โดยใช้การตลาดแบบ “ปากต่อปาก”
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ให้คุณภาพของอาหาร ทำงานด้วยตัวเองอย่างเต็มที่
หลังจากนั้น ทองสมิทธ์ จึงเริ่มเป็นที่รู้จัก และขยายสาขาต่อไปอย่างรวดเร็ว
โดยเน้นเปิดสาขาในพื้นที่ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งนักศึกษา และคนทำงาน
จนในปัจจุบัน มีทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล เอมบาสซี, เอ็มควอเทียร์, สยาม พารากอน, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัลเวิลด์ และ อารีย์
แล้วในช่วงแรกที่ COVID-19 ระบาด ทองสมิทธ์ ได้รับผลกระทบมากแค่ไหน?
คุณกานต์บอกว่า ในช่วง COVID-19 ระบาด
ทองสมิทธ์ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอาหารที่มีหน้าร้านเจ้าอื่นๆ
ยอดขายที่เคยทำได้ดี ลดลง เหลือ 1 ใน 10 จากเดิม
ทำให้ต้องปรับตัวเข้าหาธุรกิจดิลิเวอรีมากขึ้น
มีการปรับเมนูให้เป็นชุด D.I.Y.
เพื่อให้ลูกค้าสนุกกับการทำเมนูของทองสมิทธ์ทานเองที่บ้าน
แต่ยังคงความอร่อยเหมือนกับทานที่ร้าน
หลังเปิดเมือง ทองสมิทธ์ฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว
เพราะแม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่กลับมา
แต่ลูกค้าเดิม ส่วนใหญ่แล้ว เป็นคนไทยประมาณ 70%
แต่บทเรียนสำคัญที่คุณกานต์ได้รับจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ
การทำธุรกิจต้องมีแผนสำรอง มีความยืดหยุ่น และพร้อมปรับตัวตลอดเวลา
เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า การปิดเมืองรอบที่ 2 จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร
แล้วทิศทางของธุรกิจร้านอาหารในไทยต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร?
คุณกานต์ ได้ให้มุมมองไว้ 3 ข้อหลักๆ คือ
1. ร้านที่มีเมนูหลากหลาย อาจจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป
และร้านที่มีความเฉพาะ สร้างตัวตนได้ชัด จะเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น
2. สตรีตฟู้ด จะถูกดึงมาเล่นในตลาดได้อีกมาก แต่ต้องนำมาเล่าเรื่องใหม่ และลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น
3. ฟู้ด ดิลิเวอรี จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
สรุปแล้ว สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นจากการสัมภาษณ์ คุณกานต์
หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ทองสมิทธ์
คือการใส่ใจในทุกรายละเอียด และเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำ
และนี่เอง ที่เป็นเคล็ดลับในการสร้างมูลค่าเพิ่ม
ที่ทำให้ทองสมิทธ์ ขายก๋วยเตี๋ยวเรือได้ในราคาหลักร้อย แต่ยังขายดี
จนลบภาพก๋วยเตี๋ยวเรือแบบเดิมที่เราเคยทาน..
โฆษณา